___noise___ 1000

dtac ยังแข็งแกร่ง!!! ฟันกำไรเทียบไตรมาส2 โตกว่า 426% สุทธิ 743 ล้านบาท

dtac

dtac รายงานผลประกอบการที่แข็งแกร่งในไตรมาส 2 โดยมีรายได้จากการให้บริการที่ไม่รวมค่าเชื่อมต่อโครงข่าย (IC) และ EBITDA เพิ่มขึ้น 2.3% และ 21% ตามลำดับเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 743 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 426% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน

ในไตรมาสที่ 2 ของปี 2560 ดีแทคมีรายได้รวมจากการให้บริการที่ไม่รวม IC เพิ่มขึ้น 1.1% เมื่อเทียบไตรมาสก่อนและ 2.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ถึงแม้ว่าไตรมาส 2 จะเป็นช่วงที่อ่อนแอตามฤดูกาลและมีการใช้จ่ายน้อยลง ความสำเร็จนี้มาจากประสิทธิภาพของแคมเปญทางการตลาดที่เปิดตัวก่อนหน้านี้

ได้แก่แคมเปญ‘ลื่น…จ๊ะ’ เพื่อเสริมสร้างการรับรู้ภาพลักษณ์ของโครงข่าย แบรนด์แพลตฟอร์ม ‘FLIP IT – แค่พลิก ชีวิตก็ง่าย’ รวมถึงการเปิดตัวของแพ็กเกจ ‘Go โน ลิมิต’ และโปรแกรมดีแทค รีวอร์ด เพื่อสร้างความภักดีต่อสินค้าให้กับผู้ใช้บริการ dtac

นอกจากนี้ ดีแทคยังคงลงทุนในการขยายโครงข่ายอย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองการใช้งานดาต้าของลูกค้าที่เพิ่มขึ้น และขยายพื้นที่ให้บริการ 4G ครอบคลุมมากถึง 82% ของประชากร โดยรวมแล้วโครงข่ายดีแทคมีพื้นที่ให้บริการครอบคลุม 94% ของประชากร

รวมถึงความเป็นไปได้ในการร่วมมือกับ บมจ.ทีโอที ในการให้บริการไร้สายบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ซึ่งเสริมความแข็งแกร่งของปริมาณคลื่นความถี่ในการให้บริการ และสร้างความเชื่อมั่นกับผู้บริโภคต่อแบรนด์และบริการของ dtac ปัจจัยทั้งหมดดังกล่าว ช่วยผลักดันให้ลูกค้าในระบบรายเดือนและบริการดาต้าเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่ง โดยมียอดลูกค้าในระบบรายเดือนเพิ่มขึ้นถึง 168,000 ราย

โดย ณ สิ้นไตรมาสที่ 2/2560 ดีแทคมียอดผู้ใช้บริการรวม 23.6 ล้านราย โดยมากกว่า 96% ได้ทำการจดทะเบียนภายใต้ ดีแทคไตรเน็ต (DTN) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งดีแทคไตรเน็ตเป็นบริษัทย่อยที่ถือใบอนุญาตให้บริการคลื่น 2100 MHz จาก กสทช.

และในไตรมาสที่ 2/2560 EBITDA อยู่ที่ 8.0 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 16% จากไตรมาสก่อนและ 21% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน อัตรากำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA Margin) เพิ่มขึ้นเป็น 41.0% ดีขึ้น 610bps จากไตรมาสที่แล้ว และ 760 bps จากปีก่อน

อันเป็นผลมาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมและส่วนแบ่งรายได้ ค่าอุดหนุนเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ และค่าใช้จ่ายในการขายและการตลาด ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการเพิ่มประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง และการลดค่าธรรมเนียม USO โดย กสทช. อย่างไรก็ตามการแข่งขันทางการตลาดยังคงมีความรุนแรงอยู่ ซึ่งดีแทคพร้อมที่จะรุกตลาดในครึ่งปีหลัง

แม้ว่าค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายจะยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจนกว่าสัญญาสัมปทานจะสิ้นสุดลง แต่ดีแทคสามารถทำกำไรสุทธิได้ถึง 743 ล้านบาท ในไตรมาสนี้ ซึ่งเป็นการเพิ่มขึ้น 224% จากไตรมาสก่อน และ 426% เมื่อเทียบกับปีก่อน จากการเติบโตของ EBITDA กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน (นิยามจากกำไรก่อนหักดอกเบี้ยจ่าย ภาษีนิติบุคคล ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่าย หรือ EBITDA ลบด้วยค่าใช้จ่ายในการลงทุน หรือCAPEX) ในไตรมาส 1/2560 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 3.9 พันล้านบาทในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่งจากไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน

เมื่อเทียบผลประกอบการในครึ่งแรกของปีกับแนวโน้มของผลประกอบการที่เคยให้ไว้ ดีแทคน่าจะสามารถทำได้ตามแนวโน้มดังกล่าว ดังนั้น dtac จึงไม่เปลี่ยนแปลงแนวโน้มของปี ซึ่งประกอบด้วย (1) รายได้จากการบริการไม่รวม IC อยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อน (2) EBITDA อย่างน้อยอยู่ในระดับเดียวกันกับปีก่อน และ (3) CAPEX อยู่ในช่วง 1.7 – 2 หมื่นล้านบาท

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เราพอใจอย่างยิ่งที่เห็นการเติบโตของรายได้จากการให้บริการเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนและปีก่อน แม้ว่าการใช้จ่ายโดยรวมจะลดลง ทำให้เรามั่นใจว่าเราได้เดินมาถูกทาง เรายังต้องสู้ต่อไปเพื่อการแข่งขันในตลาด

ด้วยการเพิ่มประสิทธิภาพของโครงข่ายในการเสริมสร้างประสบการณ์ที่ไหลลื่นในการใช้งานอินเทอร์เน็ตไร้สาย รวมทั้งกิจกรรมการตลาดที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ ผลการดำเนินงานที่แข็งแกร่งยังส่งผลให้ฐานะทางการเงินดีขึ้น โดยสถานะทางการเงินของเรายังมีความยืดหยุ่นเพียงพอและเตรียมพร้อมในปีสุดท้ายที่สัมปทานจะหมดลงในปีหน้า

banner Sample

Related Posts