LINE MOBILE กับความจริงที่หนีไม่พ้นจนต้องออกมายอมรับ

LINE MOBILE กับความจริงที่หนีไม่พ้นจนต้องออกมายอมรับ
ทันทีที่ความจริงปรากฏออกมาว่า LINE MOBILE คือแบรนด์ที่ 2 ของดีแทค ก็ช่วยคลายข้อสงสัยในทุกสิ่งที่ทั้งนักข่าวและคู่แข่งในวงการโทรคมนาคมต่างตั้งคำถามไว้อย่างมากมาย
รวมไปถึงสามารถสร้างความชัดเจนให้กับตัวลูกค้า หลังจากก่อนหน้านี้อาจจะมีข้อสงสัยที่มากมายถึงเบื้องหลังของน้องใหม่แบรนด์นี้
Thereporter.asia ได้เขียนถึง LINE MOBILE ไปเมื่อตอนเปิดตัวว่าเท่าที่ดูจากรูปการณ์แล้วก็นึกถึงแบรนด์อย่าง Happy แบรนด์ดังในอดีตของดีแทคอยู่ไม่น้อย และก็เรียกได้ว่าเป็นเช่นนั้นจริงๆ
แต่การสร้างแบรนด์ที่ 2 ในครั้งนี้ไม่เหมือนกับแบรนด์เดิมที่ได้ยุติการทำตลาดไป เพราะตั้งใจที่จะตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในยุคดิจิทัลที่ทุกสิ่งจะสามารถทำได้บนสมาร์ทโฟน
และเป็นที่มาของกลุ่มธุรกิจใหม่อย่างกลุ่มดิจิทัล ที่มี แอนดริว กาวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มดิจิทัล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอนมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค เป็นผู้ดูแล ซึ่งรวมไปถึงแบรนด์ LINE MOBILE นี้ด้วยเช่นกัน
แอนดริว กล่าวว่า กลุ่มดิจิทัลของดีแทคนี้เกิดขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนไป เพราะมองเห็นว่าในขณะที่ผู้บริโภคมีความต้องการสูงมากในเรื่องการใช้งานโซเชียลมีเดีย
แต่ผู้ประกอบการยังตามไม่ทันกับความต้องการดังกล่าว โดยพบว่าในอุตสาหกรรมโทรคมนาคมมียอดขายออนไลน์แค่ 5% และน้อยกว่า 15% ของการบริการลูกค้าทำผ่านช่องทางออนไลน์ จึงก่อให้เกิดแนวคิดที่จะพัฒนารูปแบบของดิจิทัลที่ตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้อย่างแท้จริง
“เมืองไทยมีความน่าจะประหลาดใจมากเพราะมีความแอคทีฟในโซเชียลมีเดียสูงมาก อยางเช่นมีผู้ใช้งานไลน์ 41 ล้านรายในไทย สูงเป็นอันดับ 2 ของโลก”
“ส่วนเฟซบุ๊กมีคนใช้งานต่อวันถึง 32 ล้านราย ยูทูป 28 ล้านราย และสูงติด 10 อันดับการเข้าใช้งาน ส่วนอินสตราแกรมก็มีถึง 11 ล้านแอคเคาท์ เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าการเข้าสู่ดิจิทัลคือสิ่งที่ผู้บริโภคต้องการ”
กลุ่มดิจิทัล ของดีแทคจะโฟกัส 5 ช่องทาง
1.บริการแอปพลิเคชัน
2.ช่องทางการขายผ่านออนไลน์
3.การสื่อสารกับลูกค้า
4.กลยุทธิดิจิทัล
5.การลงทุนในธุรกิจใหม่
อย่างเช่นดีแทคแอคเซอเรเลท และไลน์โมบายที่ถือเป็นการลงทุนในการสร้างแบรนด์ใหม่ที่อยู่ในดีแทคไตรเน็ต (DTN) โดยจะมีอิสระทางด้านการบริหาร เพื่อแข่งขันกันเองกับแบรนด์ดีแทค
แอนดริว กล่าวว่า การเปิดแบรนด์ใหม่ดังกล่าวเป็นอีกความพยายามจะสร้างบริการที่ดีกว่าให้กับลูกค้า โดยคำนึงถึงความต้องการของลูกค้า อย่างเช่น ความสะดวกทางด้านความต้องการออนไลน์ มีราคาที่ไม่ซับซ้อนไม่เยอะและถูกกว่า เชื่อมต่อกับแอปพลิเคชันของไลน์ในการรับบริการ
เป็นบริการที่ดีกว่าแต่ถูกกว่า สะท้อนให้เห็นความเป็นไลน์โมบายที่จะให้บริการฟรีไลน์โดยไม่คิดการใช้งานดาต้า
“ดีทีเอ็นเป็นเจ้าของไลน์โมบาย และดูแลโดยดีทีเอ็น และแข่งขันกับดีแทคแบรนด์ด้วยการให้บริการ ทีมทั้ง 2 ทีมนี้จะไม่มีการสื่อสารกัน ไม่ได้ทำงานร่วมกัน ทำงานแยกกันโดยชัดเจน แข่งขันกันเพื่อสร้างบริการที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า”
ทั้งนี้การมีแบรนด์ที่ 2 ที่อยู่บนเครือข่ายเดียวกันนั้น ไม่ใช่เรื่องใหม่แต่อย่างใด เพราะในปัจจุบันมีผู้ให้บริการประเภทมีโครงข่าย (MNO) ประมาณ 260 รายทั่วโลกก็ให้บริการในแบบเดียวกันนี้
เป็นแบรนด์ใหม่ที่ไม่ใช่ของที่เหมือนกันแล้วใช้ชื่อต่างกันแล้วนำมาให้บริการลูกค้า เพราะทุกอย่างต่างกันสิ้นเชิงทั้งวิธีการขาย ช่องทาง และการตลาดที่ต่างกัน
ทางด้านรายได้นั้น เงินทุกบาทที่ได้จากไลน์โมบายก็คือรายได้ของดีทีเอ็น ค่าธรรมเนียมต่างๆ ที่ต้องจ่ายให้รัฐก็จ่ายเท่าเดิม เพราะอยู่บนดีทีเอ็นทั้งหมด ไม่ได้ทำให้รัฐได้เงินน้อยลงเลย เสมือนได้รายได้จากดีแทค
ซึ่งดีแทคต้องจ่ายค่าอนุญาตให้ใช้สิทธิในเครื่องหมายการค้า (Royalty Fee) ให้กับไลน์อีกทางนึง ส่วนทางด้านราคาที่ถูกกว่านั้น เพราะ LINE MOBILE ไม่มีออฟฟิศ ไม่มีค่าใช้จ่ายเหมือนออฟฟิศทั่วไป ทำให้ไม่ต้องเสียค่าโอเปอเรชันต่างๆ จึงตั้งราคาได้ถูกกว่า
การเคลียร์ชัดเจนแบบนี้น่าจะทำให้ลูกค้าที่ยังลังเลว่าจะใช้งานหรือไม่ น่าจะตัดสินใจได้ง่ายขึ้น และทำให้ข้อกังขาที่อาจจะเกิดขึ้นเพราะความสงสัยหรือกลัวว่ารัฐจะเสียรายได้
หรือแม้แต่ข้อกังขาที่สร้างขึ้นมาเพื่อขัดขาทำให้ธุรกิจสะดุดของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งก็ตาม คงได้ข้อยุติลงสักที เพราะงานนี้ไม่มีอะไรในกอไผ่เลยจริงๆ มีแค่ไอน้ำที่ขึ้นมาบังกระจกเท่านั้น พอเช็ดออกแล้วก็มองได้ชัดเหมือนเดิม

Related Posts