หัวเว่ยปล่อยระบบปฏิบัติการณ์ HarmonyOS ออกมาเหมือนเป็นการหยั่งเชิงตลาด เพราะยังยืนยันที่จะใช้ระบบปฏิบัติการแอนดรอย์สำหรับมือถือในแบรนด์ของตัวเองต่อไป ส่วน OS ใหม่นี้ หัวเว่ยพัฒนาขึ้นตอบรับยุค 5G และไอโอที ด้วยจุดเด่นในการเชื่อมโยงทุกอุปกรณ์ด้วยประสิทธิภาพสูงสุด ตอบรับบทบาทในการเชื่อมต่อเพิ่มมากขึ้น มาพร้อมคุณสมบัติที่โดดเด่นทั้งด้านความสามารถในการรองรับการทำงานบนอุปกรณ์ที่หลากหลาย ทำให้ใช้งานได้ในทุกสถานการณ์ การรองรับ การทำงานกับแพลตฟอร์มและอุปกรณ์หลากประเภท ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต สมาร์ทวอทช์ ลำโพง ทีวี คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ในรถยนต์
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่เรียบง่ายแต่เปี่ยมไปด้วยประสิทธิภาพสำหรับสมาร์ทดีไวซ์ และเป็น ครั้งแรกของโลกที่ใช้ระบบปฏิบัติการแบบกระจาย (Distributed Operating System) ซึ่งการใช้ Microkernel ในการจัดการทรัพยากรระบบนั้น ทำให้สามารถทำงานได้กับทุกอุปกรณ์ อีกทั้งยังเป็นระบบปฏิบัติการที่รองรับคุณสมบัติอันชาญฉลาด ทั้ง Shared Communications Platform, Distributed Data Management, Distributed Task Scheduling, และ Virtual Peripherals
สถาปัตยกรรมของระบบปฏิบัติการแบบ Distributed OS รองรับเทคโนโลยี Distributed Virtual Bus ทำให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถให้ความสำคัญกับการพัฒนาคุณสมบัติต่างๆ ของแอปพลิเคชันได้อย่างเต็มที่ โดยไม่จำเป็นต้องศึกษารายละเอียดเชิงลึก เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันให้เหมาะสมกับอุปกรณ์รุ่นที่แตกต่างกันอีกต่อไป เพราะการพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จะสามารถใช้งานกับอุปกรณ์ที่แตกต่างกันได้อย่างต่อเนื่อง
ด้วยเทคโนโลยี Deterministic Latency Engine และ High-Performance Inter Process Communication (IPC) ช่วยให้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS มีการทำงานที่ลื่นไหล ลดอาการหน่วงของแอปพลิเคชันลงได้ถึง 25.7% นอกจากนี้ Microkernel ยังสอดคล้องกับเทคโนโลยี IPC ส่งผลให้ประสิทธิภาพของ IPC สูงกว่าระบบปฏิบัติการอื่นๆ ถึง 5 เท่า
HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติแรกที่มีการยืนยันแบบ Formal Verification ซึ่งทำงานบน Trusted Execution Environment (TEE)
โดยอาศัยการสร้างโมเดลข้อมูลเพื่อตรวจสอบทุกส่วนของซอฟต์แวร์ และใช้กลไกทางคณิตศาสตร์เพื่อตรวจสอบความถูกต้องของระบบตั้งแต่แหล่งที่มา จึงแตกต่างจากระบบการยืนยันแบบเดิม นอกจากนี้ยังมีจำนวนบรรทัดโค้ดที่น้อยกว่าระบบปฏิบัติการที่พัฒนาจาก Linuxkernel ถึง 1 ต่อ 1,000 ทำให้มีช่องโหว่ของระบบน้อยกว่าระบบปฏิบัติการอื่น และนับเป็นการยกระดับความปลอดภัยของระบบให้สูงขึ้น
HarmonyOS รองรับระบบ Multi-Device IDE ซึ่งเป็นระบบที่รองรับภาษาคอมพิวเตอร์หลากหลายภาษาและมีสถาปัตยกรรมที่รองรับการพัฒนาแอปพลิเคชันแบบเฉพาะ ระบบ Multi-device IDE จะช่วยให้นักพัฒนาซอฟต์แวร์สามารถเขียนชุดคำสั่งเพียงครั้งเดียว ก็สามารถนำซอฟต์แวร์ของตนไปใช้งานได้กับทุกอุปกรณ์ที่ใช้ระบบปฏิบัติการ HarmonyOS จึงนับเป็นการยกระดับการทำงานกับอุปกรณ์ที่หลากหลายไปอีกขั้น
HUAWEI ARK Compiler เป็นคอมไพเลอร์แบบ Static ตัวแรกที่มีประสิทธิภาพเทียบเท่ากับ Virtual Machine ของระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์ ซึ่งจะช่วยให้นักพัฒนาสามารถรวบรวมโค้ดที่ซับซ้อนมาเพื่อให้ระบบแปลงเป็นโค้ดที่เรียบง่ายสำหรับการทำงานได้อย่างสะดวกรวดเร็ว จึงเอื้อประโยชน์ให้กับนักพัฒนาเป็นอย่างมาก
James Lu, Senior Manager of EMUI product marketing, Huawei Consumer Business Group กล่าวว่า HarmonyOS เป็นระบบปฏิบัติการที่เปิดกว้างให้แก่นักพัฒนาทั่วโลก และจะสร้างมิติใหม่ให้กับการใช้งานทุกรูปแบบ โดยผู้บริโภคจะได้สัมผัสประสบการณ์การใช้งานที่เปี่ยมพลังและไร้รอยต่อตลอดทุกจังหวะของชีวิต ผู้ผลิตฮาร์ดแวร์จะสามารถพัฒนาฮาร์ดแวร์ที่มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น 5G, ปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น และนักพัฒนาจะสามารถเข้าถึงผู้ใช้จำนวนมากโดยใช้ต้นทุนน้อยลง และยังทำงานได้อย่างรวดเร็วอีกด้วย
“ในอนาคตอันใกล้นี้ 1 คนจะมีการเชื่อมต่อกับไอโอทีประมาณ 8 ชนิด แต่ปัญหาของไอโอทีคือแต่ละดีไวซ์มีโอเอสต่างกันและคุยกันไม่ได้ทำให้มีช่องว่างระหว่างกลาง ปัญหาที่ 2 คือแอปพลิเคชันที่รันในไอโอทีหนึ่งได้ จะไม่สามารถรันอื่นๆ ไม่ได้หากเป็นอุปกรณ์ต่างชนิดกัน และ 3.อุปกรณ์ไอโอทีที่มีจำนวนมากการเชื่อมต่อกัน ความปลอดภัยจะกลายเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้นหัวเว่ยจึงต้องสร้างโอเอสกลางขึ้นมา เพื่อให้การพัฒนาครั้งเดียวแล้วครอบคลุมดีไวซ์ได้ทุกตัว ซึ่ง HARMONY OS เป็นการสร้างโมดูลลาร์ขึ้นมาให้มีฟังก์ชันเยอะๆ เหมือนเลโก้ แล้วนำโมดูลเหล่านี้ไปใส่อุปกรณ์ที่ต้องการ นักพัฒนาจะเขียนครั้งเดียวแล้วเชื่อมต่อกันได้อย่างง่ายดาย”
นอกจากนี้หัวเว่ยยังพร้อมยกระดับสมาร์ทโฟนอีกขั้นด้วย EMUI10 ซอฟต์แวร์รุ่นใหม่ที่พัฒนาตามแนวคิดแบบ Distributed เชื่อมโยงอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์และแอปพลิเคชันต่างๆ เข้าด้วยกัน ตอบโจทย์การใช้งานและชีวิตดิจิทัลอย่างแท้จริง โดย EMUI 10 จะมีการอัพเดท 3 จุดที่สำคัญ คือรูปลักษณ์, ประสบการณ์การใช้งาน, ประสิทธิภาพและมาตรฐานใหม่ ที่จะทำให้สามารถทำงานได้ต่อเนื่อง
โดยโหมดมืด รูปลักษณ์ที่จะสร้างประสบการณ์ใหม่ในการใช้งาน ซึ่งจากการวิจัยอย่างละเอียด หัวเว่ยพบว่าสายตาของมนุษย์ จะรู้สึกถึงระดับความสว่างสี และความอิ่มสีที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับฉากหลังว่าสว่างหรือมืดมากน้อยเพียงใด EMUI10 จะมีโหมดมืดที่สามารถปรับสมดุลย์ของความต่างสีระหว่างข้อความและพื้นหลังโทนมืด สีตัวอักษร และไอคอนระบบ เพื่อให้ผู้ใช้รู้สึกสบายตา และสามารถใช้งานสมาร์ทดีไวซ์ได้ง่ายขึ้น
“ผู้ใช้สมาร์ทโฟนหัวเว่ยมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เห็นได้จากการส่งมอบสมาร์ทโฟนไปแล้วกว่า 100 ล้านเครื่องใน 5 เดือนแรกของปีนี้ ปัจจุบันมีผู้ใช้งาน EMUI 500 ล้านคนต่อวันใน 216 ประเทศ รองรับภาษาท้องถิ่นราว 77 ภาษา จากสถิติของหัวเว่ยชี้ว่า ยอดการอัพเกรดของผู้ใช้ไปยัง EMUI8 นั้นอยู่ที่ร้อยละ 79 และ EMUI9 ร้อยละ 84 หัวเว่ยจึงมุ่งพัฒนาให้ EMUI เป็นสื่อกลางที่ช่วยผสานการทำงานต่างๆ ระหว่างอุปกรณ์ และนำเสนอคุณสมบัติใหม่ๆ รวมไปถึงประสบการณ์การใช้งานระดับเยี่ยมยอดสู่ผู้ใช้อย่างต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะมีผู้ใช้กว่า 150 ล้านคนที่อัพเกรดไปใช้ EMUI10”
EMUI10 พัฒนาขึ้นจากรากฐานของเทคโนโลยีซอฟต์แวร์แบบ Distributed เพื่อคุณสมบัติใหม่ๆ เช่น การรองรับวีดีโอคอลล์ความละเอียด HD บนอุปกรณ์ที่หลากหลาย ช่วยให้ผู้ใช้สามารถโทรศัพท์หรือวีดีโอคอลล์ได้จากทุกที่และทุกเวลา หากมีสายเข้า ผู้ใช้เลือกได้ว่าจะรับสายโดยใช้ลำโพงอัจฉริยะ สมาร์ททีวีหรือแม้แต่ระบบอินโฟเทนเมนต์ในรถ ทำได้แม้กระทั่งการรับสัญญาณสดจากโดรนเพื่อแบ่งปันช่วงเวลาสำคัญกับสมาชิกในครอบครัวหรือเพื่อนฝูง แนวคิดนี้ ยังช่วยอำนวยความสะดวกให้แก่ธุรกิจ เนื่องจากเทคโนโลยีซอฟต์แวร์แบบ distributed ช่วยให้ผู้ใช้ถ่ายโอนข้อมูลระหว่างสมาร์ทโฟนและคอมพิวเตอร์ได้ง่ายดายด้วยการลากและวางอีกด้วย
นอกจากนี้ หัวเว่ยยังพัฒนาคุณสมบัติด้านความปลอดภัยโดยใช้พื้นฐานของแนวคิดซอฟต์แวร์แบบ Distributed เพื่อให้ใช้งานได้ทุกสถานการณ์ สิ่งที่หัวเว่ยพัฒนาเพื่อยกระดับความปลอดภัยคือการใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่หัวเว่ยพัฒนาขึ้นเอง รวมไปถึงการใช้สถาปัตยกรรมชิพและเคอร์เนลระบบเป็นพื้นฐานของระบบรักษาความปลอดภัยและระบบยืนยันต่างๆ โดยการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่างๆ จะทำได้เมื่อผู้ใช้อนุญาตเท่านั้น และการสื่อสารระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ จะเป็นแบบเข้ารหัสตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทางเพื่อความปลอดภัยของข้อมูล
“ปัจจุบันมีสมาร์ทดีไวซ์หลากหลายประเภทมากขึ้นทั้งสมาร์ทโฟนและสมาร์ททีวี อีโคซิสเต็มของแอปพลิเคชันต่างๆ ก็แผ่ขยายมากยิ่งขึ้น จำนวนอุปกรณ์สมาร์ทดีไวซ์และแอปพลิเคชันที่ผู้ใช้มีก็เพิ่มขึ้นตามไปด้วย ผู้ใช้งานจึงคาดหวังจะได้รับประสบการณ์การใช้งานที่เหมือนกันไม่ว่าจะใช้งานในอุปกรณ์ใด และต้องการเข้าถึงบริการประเภทเดียวกันได้ตลอดทุกที่ นับเป็นเรื่องสำคัญที่นักพัฒนาจะต้องพัฒนาแอปพลิเคชันของตนให้รองรับหลายภาษา รองรับการทำงานกับอุปกรณ์ที่หลากหลาย และผสานการทำงานระหว่างอุปกรณ์ต่างๆ ได้อย่างลงตัว”
HUAWEI P30 Series จะได้รับอัพเดท EMUI10 ก่อน และจะปล่อยอัพเดทให้แก่รุ่นอื่นๆ ในอนาคตอันใกล้ สมาร์ทโฟน HUAWEI P30 Series จะได้รับการอัพเดท EMUI10 รุ่นเบต้าก่อน ในวันที่ 8 กันยายน และ สมาร์ทโฟน HUAWEI Mate20 Series จะได้รับการอัพเดทในลำดับต่อมา
ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง