จุดจบคลื่นความถี่ 1800 MHz คือโดนเทและไร้คนประมูล

1800 MHz

ตบกสทช.หน้าสั่น หลังจากทั้ง 3 โอเปอเรเตอร์ ประกาศไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่กำหนดจัดการประมูลในวันที่ 4 ส.ค.2561 ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกันว่า “เนื่องจากหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลครั้งนี้ยังไม่เหมาะสมต่อการลงทุนหรือก่อให้เกิดประโยชน์ต่อบริษัทฯ” หรือแปลได้ตรงๆ ว่ามีคลื่นความถี่เพียงพอแล้ว และค่าเข้าร่วมประมูลสูงเกินไป โดยทรูเป็นค่ายแรกที่เทการประมูลในครั้งนี้ ตามมาด้วยดีแทค และปิดท้ายด้วยเบอร์ 1 อย่างเอไอเอส

สำหรับ คลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz ที่จะนำมาประมูลครั้งนี้ มีจำนวนทั้งหมด 45 MHZ โดยกำหนดขนาดคลื่นความถี่ที่จะประมูลออกเป็น 3 ชุดๆ ละ 15 MHz ต่อ 1 ใบอนุญาต โดยผู้เข้าร่วมประมูลสามารถประมูลได้สูงสุด 1 ชุดคลื่นความถี่ โดยกำหนดราคาเริ่มต้นของการประมูลไว้ที่ 37,457 ล้านบาท

หันมามองเหตุผลของเอไอเอสที่ไม่เข้าร่วมครั้งนี้ เพราะมองว่าปัจจุบันมีทั้งคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz คลื่น 1800 MHz และคลื่น 900 MHz ที่บริษัทฯ ประมูลมาได้ รวมทั้งมีคลื่นความถี่ 2100 MHz จากบมจ.ทีโอที ที่ได้มีการลงนามสัญญา ร่วมกันกับบริษัทฯ แล้ว ดังนั้นจากคลื่นความถี่ทั้งหมดที่มีอยู่จึงเพียงพอต่อการรองรับลูกค้าในการใช้บริการทั้งวอยซ์ และดาต้าที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในขณะนี้

อย่างไรก็ตามเอไอเอสจะติดตามสถานะการณ์ที่เกี่ยวข้องกับการประมูลที่อาจมีขึ้นในอนาคต เพื่อพิจารณาหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการประมูลใหม่ที่อาจมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดความเหมาะสมในการดำเนินธุรกิจของบริษัทฯต่อไป

เช่นเดียวกับดีแทคกลายเป็นผู้ที่มีแต้มต่อขึ้นมาทันทีหลังจากที่เคยเป็นผู้ร้องขอชีวิตมาระยะหนึ่ง เพราะทันทีที่ดีแทคประกาศว่าจะไม่เข้าร่วมประมูลคลื่นความถี่ 1800 MHz ด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน โดยให้เหตุผลเพิ่มเติมว่ามีคลื่นไฮแบนด์มากเพียงพอและมีเครือข่ายที่มีประสิทธิภาพมากกว่า

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคจะนำเงินไปลงทุนในเครือข่ายที่มีอยู่ในปัจจุบันให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยงบประมาณ 15,000-18,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นการลงทุนอยู่ในแผนที่ได้คุยตั้งแต่ต้นปีอยู่แล้ว แต่ถ้าเงื่อนไขเปลี่ยนไปเราก็จะมาศึกษารายละเอียดใหม่อีกครั้ง ไม่ใช่ว่าไม่ร่วมครั้งนี้แล้วจะไม่ร่วมอีกเลย และคลื่นโลว์แบนด์ ยังเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ที่สำคัญที่เราจะต้องจัดสรรหามาใช้งาน

“สำหรับในส่งของคลื่นสัญญาสัมปทานระหว่าง DTAC กับ CAT ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 15 ก.ย. 2561 นั้นดีแทคได้มีมาตรการเยียวยาสำหรับเครื่องโลแบนด์และ 2G ไว้เรียบร้อยแล้ว บอกไม่ได้ว่าเหลือจำนวนลูกค้าที่ใช้คลื่นความถี่นี้เท่าไร แต่เริ่มลดลงเรื่อยๆ และเรามีโปรโมชันกับลูกค้าเพื่อให้นำเครื่องมาเปลี่ยนอยู่แล้ว และมั่นใจว่าจะได้รับการเยียวยา

เพราะคลื่นความถี่ยังมีอยู่ยังไม่ได้ไปจัดสรรเพราะยังไม่ได้มีการประมูลคลื่นเกิดขึ้น และยังมีลูกค้าค้างอยู่ การเยียวยาเรารู้กฏแล้วว่าจะทำอย่างไร และจะสิ้นสุดเมื่อไร ตามปกติคือการเยียวยาได้ 1 ปี แต่ที่ผ่านมาก็มีการขยายตลอดขึ้นอยู่กับว่าคลื่นนั้นมีใครนำไปทำอะไรหรือยัง”

ไทยเป็นประเทศที่มีการใช้งานมือถือได้มีประสิทธิภาพมากกว่าประเทศอื่น ดังนั้นทุกการประมูลเป็นโอกาสใหม่ของดีแทค ถ้ามีคลื่นที่เหมาะสมที่จะนำมาประมูลเราก็พร้อมที่จะเข้าประมูล ส่วนคลื่นโลแบนด์นั้นต่อไปจะมีความสำคัญกับคลื่น 5G ซึ่งน่าจะมีการจัดสรรมาให้เหมาะสม

ดังนั้นนับจากนี้ทั้งภาครัฐและเอกชนต้องมาคุยกันในเรื่องการจัดสรรคลื่นความถี่ให้เป็นประโยชน์ ทำอย่างไรจะขับเคลื่อนให้เกิดเครือข่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องคลื่นความถี่ 5G ที่นับว่าเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0

banner Sample

Related Posts