___noise___ 1000

Facebook ขยาย ‘Take It Down’ มาไทย ช่วยตรวจจับและลบรูปอนาจาร

Facebook

Facebook ประเทศไทย จาก Meta ประกาศขยายโครงการ Take It Down เข้ามายังประเทศไทย เพื่อช่วยให้วัยรุ่นและเยาวชนสามารถยับยั้งการเผยแพร่รูปภาพหลุดของตนเองบนโลกออนไลน์ได้ ไม่ว่าจะเป็นภาพเปลือย ภาพเปลือยบางส่วน หรือภาพอนาจาร ภายใต้บริการในภาษาไทย โดยสามารถแจ้งรูปภาพที่ต้องการลบหลังจากแปลงภาพเป็นรหัสตัวเลขตามมาตรฐาน Hash เพื่อส่งข้อมูลการลบดังกล่าว ไปยังเว็บไซต์เครือข่ายให้สามารถลบภาพที่เหมือนกันได้ในทันที พร้อมกันนั้นยังมีการเก็บหลักฐานเพื่อใช้ในการดำเนิคดีผู้กระทำความผิดต่อไปได้อย่างครบถ้วน ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นโดยศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCMEC) และสนับสนุนโดยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นโดย Meta

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวซึ่งเริ่มให้บริการเป็นภาษาอังกฤษและภาษาสเปนในปีที่ผ่านมา นับเป็นนวัตกรรมที่พัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรกในอุตสาหกรรมที่มีโครงการความร่วมมือให้บริการลบรูปภาพส่วนตัวดังกล่าวออกจากอินเทอร์เน็ต เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดการเผยแพร่ต่อบนโลกออนไลน์ สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีหรือต่ำกว่า ปัจจุบัน โครงการได้พัฒนาบริการให้ครอบคลุมกว่า 25 ภาษาทั่วโลกและขยายการดำเนินงานในหลากหลายประเทศเพิ่มเติม ทำให้สามารถเข้าถึงวัยรุ่นจำนวนหลายล้านคนทั่วโลก รวมถึงในประเทศไทย

ภายในงานแถลงข่าวประกาศเปิดตัวความร่วมมือที่จัดขึ้น ณ สำนักงาน Meta ประเทศไทย คุณมาลีนา เอนลุนด์ ผู้จัดการฝ่ายนโยบายความปลอดภัยประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับความมุ่งมั่นและการดำเนินงานของบริษัทในการต่อสู้กับอาชญากรรมในรูปแบบการขู่กรรโชกทางเพศ (Sextortion) โดยกล่าวว่า “สำหรับผู้ใช้งานอินเตอร์เน็ตในปัจจุบัน การถูกนำภาพส่วนตัวไปเผยแพร่เป็นเรื่องที่เลวร้ายมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กและเยาวชน และสถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายกว่าเดิม หากมีใครก็ตามข่มขู่ว่าจะนำภาพส่วนตัวของพวกเขาไปเผยแพร่ หากเหยื่อปฏิเสธที่จะแชร์รูปภาพโป๊เปลือยเพิ่ม หรือมีกิจกรรมทางเพศด้วย

หรือแม้แต่การส่งเงินให้ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของรูปแบบอาชญากรรมที่เรียกว่าการขู่กรรโชกทางเพศ ด้วยความมุ่งมั่นในการรักษาความปลอดภัยและปกป้องความเป็นอยู่ที่ดีของผู้ใช้งานของเรา Meta ได้ทำงานอย่างใกล้ชิดร่วมกับหลากหลายองค์กรและครีเอเตอร์ทั่วโลก เพื่อช่วยให้วัยรุ่นสามารถเข้าถึงการควบคุมรูปภาพส่วนตัวของตนเองได้อีกครั้ง และยับยั้งไม่ให้บุคคลอื่น ไม่ว่าจะเป็นมิจฉาชีพที่เป็นอดีตคนรัก หรือใครก็ตาม ในการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวดังกล่าวบนโลกออนไลน์ การขยายบริการ Take It Down ในประเทศไทยในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญในเส้นทางการดำเนินงานที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องของเราในการดูแลความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีให้กับเยาวชนทั่วโลก”

Facebook

จากการเสวนาภายในงาน หัวข้อ ปกป้องเยาวชนจากภัยขู่กรรโชกทางเพศของ Meta ร่วมกับพันธมิตร มีการเผยว่าจากรายงานการบังคับใช้มาตรฐานชุมชนของ Meta ในช่วงตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา แพลตฟอร์มได้มีการนำเนื้อหาที่ละเมิดกฎและเกี่ยวข้องกับการแสวงหาผลประโยชน์ทางเพศกับเด็กทั่วไปแล้วกว่า 16 ล้านเนื้อหาบน Facebook และกว่า 2.1 ล้านเนื้อหาบน Instagram “จากเนื้อหาที่มีการละเมิดกฎเหล่านี้ที่เกี่ยวข้องกับภาพโป๊เปลือยเด็ก มากกว่า 98% เราได้นำเนื้อหาลงก่อนที่จะมีการรายงานเข้ามาโดยเป็นผลจากการตรวจจับด้วย AI ของเรา” คุณมาลีนากล่าวเสริม

พ.ต.อ.รุ่งเลิศ คันธจันทร์ ผู้กำกับกลุ่มงานต่อต้านการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางอินเทอร์เน็ต บก.ตอท.บช.สอท. ผู้เข้าร่วมเสวนากล่าวว่า “ปัจจุบันปัญหาเรื่องสื่อที่มีการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็กทางออนไลน์ยังคงแพร่ระบาดอย่างหนัก สำนักงานตำรวจแห่งชาติให้ความสำคัญและจริงจังในการแก้ไขปัญหานี้อย่างต่อเนื่องเพื่อติดตามจับกุมผู้กระทำความผิด โดยในปี พ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา มีการจับกุมดำเนินคดีไปแล้วกว่า 540 คดี อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาพสังคมและการสื่อสารในปัจจุบันบนโลกออนไลน์ที่เข้าถึงกลุ่มคนทุกเพศทุกวัย ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานผู้บังคับใช้กฎหมายและภาคเอกชนและแพลตฟอร์มระดับโลกอย่าง Meta เป็นปัจจัยสำคัญในการทำงานร่วมกันเพื่อแก้ปัญหาในเชิงบูรณาการให้มีประสิทธิภาพและมีความรวดเร็วมากขึ้น”

คุณวีรวรรณ มอสบี้ ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการประจำโครงการฮัก ประเทศไทยและหนึ่งในพันธมิตรด้านความปลอดภัยของ Meta และผู้ร่วมเสวนากล่าวเสริมว่า “อาชญากรรมล่วงละเมิดทางเพศเด็กในรูปแบบการขู่แชร์ภาพโป๊เปลือยเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนต่อสภาพจิตใจและชีวิตของผู้เสียหายเป็นอย่างมาก เพราะเมื่อมีเหตุการณ์คลิปหลุดเกิดขึ้น แปลว่าผู้เสียหายที่ตกเป็นเหยื่อของอาชญากรรมดังกล่าวได้เข้าสู่สภาวะวิกฤติของชีวิต ดังนั้น การทำงานแบบร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็นจากภาครัฐและเอกชน และโดยเฉพาะการสนับสนุนจากหน่วยงานสื่อโซเชียลจากทุกแพลตฟอร์มจึงเป็นเรื่องสำคัญยิ่ง”

วิธีการใช้งานบริการ Take It Down

ผู้คนสามารถใช้บริการ Take It Down ได้หลากหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็นเพื่อการค้นหาและลบรูปภาพส่วนตัวออกจากอินเทอร์เน็ต หรือการช่วยยับยั้งการเผยแพร่รูปภาพส่วนตัวเหล่านั้นบนโลกออนไลน์ตั้งแต่แรก โดยบริการดังกล่าวเปิดให้บริการใช้งานฟรีสำหรับ

  • เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปีที่มีความกังวลว่ารูปภาพส่วนตัวของพวกเขาถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์
  • ผู้ปกครองหรือผู้ใหญ่ที่ได้รับความไว้วางใจจากเด็กและเยาวชนในการจัดการกับรูปภาพส่วนตัวในนามของพวกเขา
  • ผู้ใหญ่ที่กังวลว่ารูปภาพส่วนตัวของตนเองที่ถูกถ่ายไว้ก่อนอายุ 18 ปีถูกเผยแพร่ หรืออาจถูกเผยแพร่บนโลกออนไลน์

โครงการ Take It Down ถูกก่อตั้งขึ้นเพื่อปกป้องความเป็นส่วนตัวและความปลอดภัยด้านข้อมูลแก่เด็กและเยาวชน โดยผู้คนที่สนใจสามารถเริ่มต้นการใช้งานโดยไปที่เว็บไซต์ TakeItDown.NCMEC.org และปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุเพื่อกำหนดลายนิ้วมือดิจิทัลที่เป็นตัวเลขไม่ซ้ำกันซึ่งเรียกว่า ‘ค่าแฮช’ ให้กับรูปภาพหรือวิดีโอภาพเปลือย ซึ่งเป็นขั้นตอนที่สามารถทำได้อย่างเป็นส่วนตัวและปลอดภัยจากอุปกรณ์ของพวกเขา

เยาวชนที่ต้องการความช่วยเหลือเพียงต้องส่งต่อค่าแฮชดังกล่าวโดยไม่ต้องส่งภาพหรือวิดีโอส่วนตัว ซึ่งกระบวนการนี้จะไม่มีการนำรูปภาพหรือวิดีโอออกจากอุปกรณ์ของพวกเขา เมื่อค่าแฮชได้ถูกแชร์ให้กับศูนย์เพื่อเด็กหายและถูกฉวยผลประโยชน์แห่งชาติของสหรัฐอเมริกา (NCMEC) แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เข้าร่วมต่างๆ รวมถึง Meta ก็จะสามารถตรวจสอบได้ว่ามีรูปหรือวิดีโอเหล่านั้นอยู่บนแพลตฟอร์มหรือไม่ และจัดการลบเนื้อหาดังกล่าวออก พร้อมยับยั้งไม่ให้ใครก็ตามสามารถข่มขู่ผู้อื่นว่าจะนำเนื้อหาดังกล่าวกลับมาโพสต์บนแพลตฟอร์มได้อีก

บริการ Take It Down ทำงานด้วยเทคโนโลยีที่สร้างจากแพลตฟอร์มที่ประสบความสำเร็จอย่าง StopNCII (หยุดการแพร่ระบาดของภาพส่วนตัวที่ไม่ได้รับการยินยอม) ซึ่ง Meta ได้เปิดตัวไปเมื่อปี พ.ศ. 2564 ร่วมกับหน่วยงานไม่แสวงหาผลกำไรกว่า 70 องค์กรทั่วโลก เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ใหญ่ที่ตกเป็นเหยื่อของการถูกแชร์ภาพส่วนตัวบนโลกออนไลน์หรือการโดนแก้แค้นด้วยการโพสต์ภาพโป๊เปลือย (Revenge porn)

Facebook

แหล่งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับการป้องกันการขู่กรรโชกทางเพศ (Sextortion) สำหรับเยาวชน ผู้ปกครอง และครู

ถึงแม้ว่าจะมีเครื่องมืออย่าง Take It Down การตกเป็นเหยื่อในอาชญากรรมลักษณะนี้เป็นเรื่องที่สร้างความไม่สบายใจ และทำให้ผู้คนที่ประสบปัญหาต้องรู้สึกเหมือนกำลังเผชิญปัญหาดังกล่าวอย่างโดดเดี่ยว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชนที่อาจรู้สึกกลัวและอับอายจนไม่กล้าขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น ดังนั้น Meta จึงได้ร่วมมือกับ Thorn องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรที่มีภารกิจในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากภัยคุกคามทางเพศ รวมถึงพัฒนาแนวทางล่าสุดเกี่ยวกับการจัดการกับเหตุการณ์ขู่กรรโชกทางเพศสำหรับเยาวชน ซึ่งประกอบด้วยคำแนะนำในการให้ความช่วยเหลือบุตรหลานหรือนักเรียนหากพวกเขาประสบกับปัญหาเหล่านี้ โดยแหล่งข้อมูลใหม่ดังกล่าวได้ให้บริการอยู่ในแหล่งข้อมูลเกี่ยวกับการขู่กรรโชกทางเพศ ภายในศูนย์การรักษาความปลอดภัยของ Meta ซึ่งให้บริการในมากกว่า 50 ภาษา รวมถึงภาษาไทย

การให้บริการบนแอปในเครือของ Meta เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการขู่กรรโชกทางเพศ

การประกาศเปิดตัวโครงการในวันนี้ ต่อยอดมาจากการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องของ Meta เพื่อสื่อสารกับเด็กและเยาวชนถึงขั้นตอนการจัดการเมื่อรูปภาพส่วนตัวของพวกเขาถูกแชร์ หรือโดนขู่ว่าจะแชร์ นอกจากนี้ Meta ยังได้เปิดใช้คำเตือนด้านความปลอดภัย (Safety Notices) บน Instagram ซึ่งจะปรากฏขึ้นเมื่อผู้ใช้งานส่งข้อความหาบุคคลที่เคยแสดงพฤติกรรมเข้าข่ายหลอกลวงหรือน่าสงสัยในอดีต

คำเตือนด้านความปลอดภัยเหล่านี้จะกระตุ้นให้ผู้ใช้งานมีความระมัดระวัง โดยส่งเสริมให้พวกเขารายงานบัญชีผู้ใช้งานที่ขู่จะแชร์รูปภาพส่วนตัว และเตือนให้พึงระลึกเสมอว่าทุกคนมีสิทธิปฏิเสธต่อสิ่งใดก็ตามที่ทำให้ไม่สบายใจ นอกจากนี้ เยาวชนจะเข้าถึงแพลตฟอร์ม Take It Down ได้ในทันทีเมื่ออยู่ในเหตุการณ์ที่เข้าข่ายในขณะที่กำลังใช้งาน Facebook และ Instagram เช่น เมื่อพวกเขาได้รายงานว่ามีคนกำลังแชร์รูปภาพส่วนตัวที่เป็นภาพเปลือย ภาพเปลือยบางส่วน และภาพอนาจาร ในการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ

นอกจากนี้ Meta ยังดำเนินงานเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากการติดต่อที่ไม่พึงประสงค์ตั้งแต่แรก โดยกำหนดให้บัญชี Instagram ของบุคคลที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีในประเทศไทยเป็นบัญชีส่วนตัวเมื่อพวกเขาสมัครบัญชีใหม่ ซึ่งจะจำกัดผู้ที่สามารถรับชมโพสต์ ผู้ติดตาม และผู้คนที่พวกเขากำลังติดตาม นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดข้อจำกัดสำหรับผู้ใหญ่ที่มีอายุมากกว่า 19 ปี ไม่ให้สามารถส่งข้อความไปยังผู้เยาว์ที่ไม่ได้ติดตามพวกเขา ในเดือนที่ผ่านมา Meta ยังได้ประกาศการตั้งค่าเริ่มต้นที่เข้มงวดยิ่งขึ้น ซึ่งจะทำให้เด็กและเยาวชนที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีไม่ได้รับข้อความจากบุคคลที่พวกเขาไม่ได้ติดตาม หรือบุคคลที่พวกเขาไม่ได้เชื่อมต่อด้วยอยู่แล้ว เพื่อขยายขอบเขตการป้องกันเด็กและเยาวชนจากผู้ประสงค์ร้าย

banner Sample

Related Posts