การหมุนกลับครั้งใหญ่ของตลาดสมาร์ทโฟนไทยกำลังจะเกิดขึ้นแต่จะเปิดให้ Sharp หรือไม่นั้นอีกเรื่อง ด้วยความพลาดพลั้งของเบอร์หนึ่งที่สะดุดขาตัวเองอย่างจังบนเวทีตลาดโลก ขณะที่เบอร์สองก็เริ่มอ้างอิงประสิทธิภาพที่เหนือกว่าทั้งการออกแบบและโนฮาว หรือจะเบอร์สามก็ไล่หลังมาด้วยเงินทุนที่หนาเตอะและความเชี่ยวชาญด้านเน็ตเวิร์คพร้อมโรงงานขนาดใหญ่ แต่กระนั้นตลาดสมาร์ทโฟนของไทยก็ยังคงหอมหวนอยู่ดี ด้วยรูปแบบของตลาดที่ไม่ค่อยมีแบรนด์รอยัลตี้สูงมากนักตามพฤติกรรมคนไทย
ผสมกับรูปแบบการทำตลาดของเจ้าตลาดตัวจริงอย่างโอเปอเรเตอร์ที่พร้อมจะซับซิไดซ์เครื่องเพื่อเรียกลูกค้าให้เข้ามาใช้บริการ ด้วยโปรโมชั่นผูกมัด โอกาสของการเจาะเข้าตลาดผ่านการร่วมโปรโมชั่นจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่หลายๆแบรนด์นิยมนำมาเป็นช่องทางในการเข้าสู่ตลาดมือถือไทยและก็ทำได้ทุกครั้งไปเสียด้วย จึงตอบได้ว่าโอกาสของชาร์ปที่จะเข้ามาตอนนี้ก็นับว่ายังไม่สายเกินไป
หากจำกันได้ แบรนด์ ZTE ก็เป็นแบรนด์หนึ่งที่แต่เดิมเราไม่เคยเห็นการโฆษณาเลย และไม่รู้เสียด้วยซ้ำว่ามีแบรนด์เช่นนี้อยู่ แต่นั่นไม่สำคัญเพราะแบรนด์ดังกล่าวได้ถูกตีตรา “ดีแทคโฟน” เพื่อขายผ่านเครือข่ายดีแทคทั่วประเทศไปแล้วเรียบร้อย หรือจะเป็นแบรนด์ LAVA ที่ไม่แน่ใจว่าผู้ที่ใช้รู้หรือไม่ว่า มือถือ AIS ที่ใช้กันอยู่นั้นเป็นเครื่องแบรนด์ ลาวา ซึ่งผ่านการโออีเอ็ม หรือการจ้างผลิตเพื่อขายในยี่ห้อที่ตนเองต้องการ
และยังมีอีกหลายแบรนด์ดังที่คนไทยรู้จัก ใช้รูปแบบธุรกิจจ้างผลิตเช่นนี้เพื่่อสั่งทำสมาร์ทโฟนเข้ามาขายในแบรนด์นั้นๆ และครั้งหนึ่งเมื่อ 3- 4 ปีก่อนเคยมีการนำเครื่องชาร์ป เข้ามาจำหน่ายเองของผู้จัดจำหน่ายรายใหญ่รายหนึ่งในไทย แต่ก็ไม่ได้สำเร็จอะไร เนื่องจากไม่ได้มีการทำตลาดอย่างจริงจังและต่อเนื่อง
การตลาดเปลี่ยน รูปแบบของ Sharp ก็ต้องเปลี่ยน
วันนี้รูปแบบการตลาดเปลี่ยนไปแล้ว การที่โรงงานผู้ผลิตหวังเพียงแค่จ้างผลิตไม่มีอีกต่อไป การดันแบรนด์ของตนเองขึ้นมาให้เป็นที่รู้จักและจดจำตัวสินค้าได้มากขึ้น ทำให้สถานะการณ์มีการแข่งขันจากรายใหญ่ดุเดือดมากขึ้น และครั้งนี้ผู้ผลิตอย่างชาร์ปก็ลงมาเล่นตลาดเองเสียด้วย โดยดูจากงบการลงทุนด้านการตลาดที่ตั้งต้นไว้ที่ 10 ล้านบาทและต่อเนื่องอีกในปีหน้า ไตรมาสละ 20-30 ล้านบาท เพื่อกระตุ้นการสร้างแบรนด์ พัฒนาช่องทางการจำหน่าย ตลอดจนหารูปแบบการบริการหลังการขาย
เพื่อสร้างโอกาสในตลาดสินค้าระดับกลาง-บน ซึ่งมีราคาเริ่มต้นอยู่ที่ราว 7,000 ขึ้นไป และการเลือกกลุ่มเป้าหมายระดับกลาง-บน ก็สะท้อนให้เห็นว่า คอมติวา ซึ่งเป็นผู้จัดจำหน่ายโกลบอลแบรนด์ของชาร์ป ซึ่งได้สิทธิ์การทำตลาดทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แต่เพียงผู้เดียว มีการทำการบ้านมาดี เพราะตลาดกลุ่มนี้เป็นที่ต้องการของโอเปอเรเตอร์อย่างแน่นอน
ที่บอกอย่างงั้นก็เพราะว่าตลาดกลาง-บน นั้นมักมีการใช้งานดาต้าและสมาร์ทโฟนอย่างเหนียวแน่น มากกว่ากลุ่มล่างหรือฟีเจอร์โฟนที่ไม่ได้มีความต้องการใช้มากนัก การจับกลุ่มนี้จะทำให้โอเปอเรเตอร์มีโอกาสลากลูกค้าเก็บค่าบริการเลขหมายได้ยาว 1-2 ปี หากไม่สะดุดขาตัวเองเสียก่อน และอย่างที่เกริ่นไปเรื่องซับซิไดซ์เครื่อง ชาร์ปเองเมื่อเข้าสู่ตลาดครั้งแรกก็ต้องใช้รูปแบบเช่นนี้เหมือนกัน แน่นอนว่าเมื่อเป็นกลุ่มที่โอเปอเรเตอร์ถูกใจ
การคุยธุรกิจที่ต่างฝ่ายต่างวิน-วิน ก็เป็นเรื่องง่ายมากกว่าการคุยธุรกิจแบบ วิน-รูส ที่บางคนได้ บางรายเสียนั่นเอง หากแต่จะมองเพียงการจับมือเพียงอย่างเดียวก็ไม่คงจะไม่เพียงพอ การหาตัวแทนจำหน่ายในประเทศอย่างที่ชาร์ปจะทำคือจับมือกับคอมพ์เซเว่น, เจมาร์ท, ทีจีโฟน, และทรูมูฟช้อป เพื่อจำหน่ายสินค้าแบบชิมรางในบริเวณกรุงเทพมหานครก่อนในช่วงแรกก็เป็นแนวทางและกลยุทธ์ของชาร์ปที่น่าจะดี
แต่กระนั้นเรื่องบริการหลังการขายที่จะแปะไว้กับร้านค้าตัวแทนจำหน่าย ให้ทำหน้าที่รับหน้าเสื่อกรณีที่เครื่องเกิดปัญหาขึ้น ในมุมของผู้บริโภคชาวไทยแล้วอาจะยังไม่โอเคเท่าไหร่ เนื่องจากอย่างที่รู้กันดีว่า การให้บริการหน้าร้านของแบรนด์ต่างๆที่กล่าวมาแล้วนั้น ยังไม่ได้อยู่ในเกณฑ์ที่ประทับใจหรือมีการบริการที่เป็นเลิศนัก ซึ่งอาจจะส่งผลลบต่อการสร้างแบรนด์สมาร์ทโฟนชาร์ปเองในอนาคตก็เป็นได้
แม้ว่าแม่ทัพใหญ่ของคอมติวาครั้งนี้จะเป็นนายณรงค์ กมลเดชเดชา ซึ่งเคยปลุกปั้นแบรนด์จีนอย่างออปโป้และอีกหลายแบรนด์เทคโนโลยีให้สามารถแจ้งเกิดในตลาดประเทศไทยมาแล้วก็ตาม หากจำกันได้การเพิ่มปริมาณพนักงานขายของแบรนด์ออปโป้อย่างมหาศาล จนทำให้ออปโป้มียอดขายสมาร์ทโฟนอันดับ 2 ของประเทศไทยก็เป็นผลงานของแม่ทัพคนนี้เช่นกัน
แต่หากมองในมุมของผลิตภัณฑ์และทัศนคติของแบรนด์ญี่ปุ่นที่ผู้บริโภคคนไทยยังเชื่อถือมากกว่าแบรนด์จีน แม้ว่าจะผลิตในประเทศจีนเช่นเดียวกันก็ตาม และด้วยสิทธิบัตรที่ถืออยู่มากมายของแบรนด์ชาร์ปเอง ผสานกับความโดดเด่นด้านจอภาพที่ใครๆก็รู้จากการแสดงผลงานบนเวทีโลก โดยเฉพาะความบางของจอและการประหยัดพลังงานซึ่งเป็นแนวทางหลักของโลกก็มีญี่ปุ่นเป็นกลุ่มนำนวัตกรรมต้นๆของโลกที่โดดเด่นเรื่องนี้
อีกทั้งสมาร์ทโฟนที่ผลิตขึ้นมาก็ไม่น่าจะมีปัญหามากมายนัก หากไม่นับรวมคุณภาพที่ต้องบอกเลยว่าการผลิตเพื่อขายในประเทศญี่ปุ่นกับขายต่างประเทศนั้น เป็นสินค้าคนละเกรดกันอย่างไม่ต้องสงสัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นสินค้าทุกชิ้นก็ยังคงรับประกันโดยญี่ปุ่นเช่นเดียวกัน ดังนั้นในมุมของความเชื่อมั่นถือว่าผ่าน
ขณะที่การออกแบบสมาร์ทโฟนเพื่อเจาะเข้าสู่ประเทศไทย ก็เป็นปัญหาหนึ่งที่แบรนด์ญี่ปุ่นจะต้องก้าวข้ามมาให้ได้ เพราะด้วยวัฒนธรรมของญี่ปุ่นเอง บวกกับความนิยมของไทย และโมเดลการทำธุรกิจ การออกแบบสินค้าหรือเลือกสินค้าเข้ามาจำหน่ายเพื่อให้ตรงจริตของคนไทย เป็นอุปสรรคที่สำคัญอย่างหนึ่ง ที่เคยทำให้ซีเมนต์หรือโมโตโลล่า ไม่สามารถเป็นมือถือที่ชนะโนเกียได้เมื่อเกือบสิบปีที่แล้ว ย้ำว่าเป็นเพียงเหตุผลส่วนหนึ่งเท่านั้น และหากข้อจำกัดของรุ่นที่ผลิตมีไม่ถูกจริตของคนไทยแล้วละก็
โอกาสของแบรนด์ Sharp
ความยากของแบรนด์ชาร์ปที่จะเจาะตลาดประเทศไทย ในช่วงที่ตลาดสมาร์ทโฟนเริ่มอิ่มตัวก็อาจจะเป็นเรื่องยากและท้าทายความสามารถของแม่ทัพมากขึ้น และที่สำคัญเป้าหมายปีหน้า 6 หมื่นเครื่องก็น่าจะบ่งบอกได้ว่า ชาร์ป ยังเพียงแค่ทดสอบตลาดก่อนรุกจริงในอีก 2-3ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
งานนี้พลาย อะตอมบอกเลยว่าแม้แม่ทัพใหญ่ของคอมติวาจะคร่ำหวอดอยู่ในวงการมือถือมาอย่างยาวนาน แต่การแข่งขันของตลาดสมาร์ทโฟนช่วงนี้ก็ดุเดือดเลือดพล่านเป็นอย่างมาก และดาวรุ่งอย่างหัวเว่ยก็พร้อมที่จะเร่งเครื่องข้ามหัวขึ้นมาแซงเบอร์หนึ่งอย่างซัมซุงได้ทุกเมื่อหากพลั้งเผลอ หรือจะเบอร์สองอย่างออปโป้ที่นำโด่งยอดขายแบบเงียบๆก็ไม่น้อยหน้า รุกพาสื่อชมโรงงานเพื่อยืนยันความพร้อมและโนฮาวที่มีอย่างหนักแน่น
และหากจะมีผู้เล่นหน้าใหม่อย่างชาร์ปเข้ามาเสริมตลาดอีกสักหน่อยให้ตลาดสมาร์ทโฟนคึกคักขึ้นแม้ว่าจะดูดุเดือดอยู่บ้างแต่ท้ายที่สุดผลดีก็น่าจะบังเกิดกับผู้บริโภคด้วยตัวเลือกสมาร์ทโฟนในตลาดที่เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน