จับตาธุรกิจออนไลน์หลังร่าง พรบ.คอมพ์ใหม่ผ่านวาระ 3

จับตาธุรกิจออนไลน์หลังร่าง พรบ.คอมพ์ใหม่ผ่านวาระ 3

นับเป็นเรื่องละเอียดอ่อนต่อการเปลี่ยนแปลงกฏหมายเพื่อควบคุมการใช้งานเทคโนโลยีในประเทศไทย โดยประเด็นที่น่าสนใจอยู่ที่ร่างของ พรบ.คอมพ์ ฉบับใหม่ที่ผ่านวาระ 3 ของการพิจารณาของ สนช. ซึ่งก็ต้องยอมรับว่า คณะการพิจารณาคณะนี้มีผู้สูงอายุกว่า 100% ซึ่งสวนทางกับความสามารถของการเข้าถึงเทคโนโลยีชั้นสูงอย่างไร้ข้อกังขา และนั่นก็อาจจะส่งผลทั้งแง่ดีและแง่ลบกับการดำเนินธุรกิจและ Fintech ที่ดำเนินกิจการในประเทศไทยแทบทั้งหมด

ประเด็นในแง่กฏหมายที่น่าสนใจอยู่ที่ความคลุมเครือของการใช้คำทางกฏหมาย เช่นห้ามการเผยแพร่ข้อความผิดต่อศีลธรรมอันดี ซึ่งคาดโทษทั้งจำและปรับกว่า 2 แสนบาท ซึ่งหากจำกันได้ เว็บไซต์สำนักข่าวอิศรา (www.isranews.org) ก็เคยได้รับการแจ้งเตือนจาก ISP อย่างซีเอสล็อกซ์ อินโฟร์ ว่าได้รับแจ้งจากหนวยงานราชการขอความร่วมมือในการระงับการเผยแพร่ข้อมูลรายงานเรื่อง ‘ปีทองของ”ชลรัศมี”ผู้ประกาศข่าวสาว ททบ. 5 โกยรายได้ลิ่ว 34 ล้าน’ ก็ไม่รูู้ว่าเรื่องเช่นนี้จะเข้าข่าย ผิดศีลธรรมอันดีของใครบ้างหรือเปล่า

ขณะที่ด้านธุรกิจ ผู้ให้บริการ SMS กวนใจ ซึ่งคาดว่าจะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบนี้ไปเต็มๆ โดยมีบทบัญญัติในมาตรา 11 ที่เพิ่มเติมเข้ามาใหม่เกี่ยวกับ ผู้ใดส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับ โดยไม่เปิดโอกาสให้ผู้รับปฏิเสธได้โดยง่าย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 2 แสนบาท แต่หากจะมองให้ดีผลบัญญัติเช่นนี้ก็มีผลกระทบต่อธุรกิจน้ำดีด้วยเช่นกัน โดยปัจจุบันเทคโนโลยีของโซเชี่ยลมีเดียและเครือข่ายมือถือมีการพัฒนามากขึ้น วิธีการกระจาย SMS เมื่อผู้ใช้เดินเข้าใกล้เสาสัญญาณที่ตั้งไว้ เช่นเมื่อเดินเข้าศูนย์การค้าแห่งหนึ่งก็จะมี SMS แจ้งโปรโมชั่นของร้านค้าเข้ามาที่มือถือ เรื่องเช่นนี้ก็จะถือว่าผิดด้วยหรือไม่

แน่นอนว่าโซเชียลมีเดียที่เริ่มนำข่าวสารมาไว้ในระบบเช่น Line หรือแม้กระทั่ง กูเกิลเองที่เป็นเสิร์ชเอนจิ้นซึ่งมีการเก็บ Cache ไว้ในระบบเพื่อให้ค้นเจอ ก็น่าจะเข้าข่ายเว็บท่า ที่จะต้องลบข้อมูลภายใน 30 วันทันทีหากได้รับการแจ้งเตือน มิเช่นนั้นแล้วก็จะเข้าข่ายมีโทษเช่นเดียวกับผู้กระทำความผิดซะเอง ซึ่งเมื่อลองค้นเว็บดูหลายแห่งมากที่มีการดึงลิงค์ของเนื้อหาจากแหล่งต่างๆเข้ามาไว้ในเว็บไซต์ และนอกจากเนื้อหาที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดแล้ว ความคิดเห็นที่เปิดให้แสดงได้ทั้งแบบเชื่อมต่อกับโซเชียลมีเดีย หรือแบบของเว็บไซต์เองก็ล้วนสุ่มเสี่ยงต่อการกระทำความผิดตาม พรบ.นี้แทบทั้งสิ้น

และที่สำคัญ การโพสต์ผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์และอินสตาแกรม ล้วนแต่เข้าข่ายการเผยแพร่ทั้งสิ้น ซึ่งการเผยแพร่ดังกล่าวไม่ได้หมายความว่าข้อความที่โพสต์จะมีความผิดแต่อย่างใด แต่การแสดงความเห็นต่อข้อความโพสต์่ต่างหากที่น่าจะสร้างความเดือดร้อนให้กับเหล่าเซเลบออนไลน์จนถึงขั้นปิดบัญชีกันได้เลยทีเดียว เพราะการมีผู้ติดตามเรือนหมื่นเรือนแสน การตรวจสอบโดยบุคคลย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายเท่าใดนัก แต่กระนั้นกฏหมายก็ไม่ได้เปิดช่องให้แก้ต่างเรื่องความไม่พร้อมของบุคคลแต่อย่างใด เท่ากับว่าไม่ว่าจะเป็นสำนักหรือบุคคลรายเดียว หากไม่สามารถควบคุมเนื้อหาที่เผยแพร่ได้ก็มีความผิดเช่นกัน

ตลาดทุนและกลุ่ม Startup Fintech

ส่วนข้อกังวลต่อการล่วงละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลที่ทั้งต่างชาติและไทยเนอส ออกมากระสับกระส่ายกันนั้น ประเด็นดังกล่าวก็น่าจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นเรื่องสิทธิส่วนบุคคลอยู่พอสมควร แน่นอนว่ากลุ่มที่มีผลโดยตรงก็น่าจะเป็นตลาดทุนและกลุ่ม Startup ที่เริ่มออกแนวทางการเคลื่อนย้ายกำลังพลไปตั้งรกรากในต่างแดนอย่างสิงคโปร์กันหนาหู เนื่องจากกลุ่มนี้ต้องการเงินทุนจากต่างชาติ เมื่อต่างชาติไม่เชื่อมั่นก็ต้องย้ายเพื่อตั้งรกรากใหม่เพื่อสร้างความเชื่อมั่นเพื่อเรียกเงินทุนนั่นเอง

แต่ก็นั่นแหละ ยังไงซะกฏหมายก็ต้องปรับแก้ไขเพื่อให้ทันต่อกาลเวลา หากจะปล่อยให้ใช้กฏหมายคร่ำครึอย่างเช่นทุกวันนี้ก็คงจะตามจับ ควบคุม ดูแลกันไม่ได้ อย่าว่าแต่พนันออนไลน์เลย พวกกลุ่มขโมยลิขสิทธิ์ก็เปิดเผยกันโจ่งครึม ไม่นับรวมรูปภาพอนาจารที่แพร่กระจายอย่างกับไวรัส ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงย่อมเกิดขึ้นเสมอ แต่จะมากจะน้อยก็ขึ้นอยู่ที่ผู้นำไปปฏิบัติ ซึ่งก็ได้แต่หวังว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะได้รับการปฏิบัติให้เป็น ‘คุณ’ มากกว่า ‘โทษ’ จนเกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติอย่างที่หวังกัน

*** ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ

Related Posts