อ่านผลวิจัย Research สำนักนึงกล่าวว่า ผู้ใช้สมาร์ทโฟนไทยมีกว่า 23% ที่ไม่ใช้แพกเกจดาต้า ซึ่งก็น่าแปลกใจเป็นอย่างมาก ทำให้เข้าไปดูวิธีการวิจัย ก็พบว่ามีการใช้ค่าตัวเลขจากกลุ่มตัวอย่าง 4,000 ราย เพื่อแทนค่าประชากรกว่า 70 ล้านคนในประเทศ ขณะที่การอ้างตัวเลขดังกล่าวยังเปรียบเทียบอัตราการใช้สมาร์ทโฟนให้น่าตกใจด้วยการเทียบกับตัวเลขเมื่อปี 2556 ซึ่งถือได้ว่าเพิ่งมีการประมูล 3G ย่านความถี่ 2.1 Ghz ไปเมื่อช่วงปลายปีก่อนหน้า เชื่อว่าเป็นผม ผมก็ยังไม่ซื้อใหม่นะ แล้วจะตกใจทำไมเมื่อเค้าเอามาเทียบกับตัวเลข 67% ในปี 2559
ความจริงก็คือ ตัวเลขการใช้นั้นถูกต้องแต่การเปรียบเทียบเพือให้ได้ประโยชน์ ควรจะเทียบปีไม่ห่างกัน ซึ่งตัวเลขของผลวิจัยที่อื่นๆพบว่า ในปี 2557 มีการเพิ่มขึ้นของสมาร์ทโฟนเป็น 30% ของจำนวนการมีโทรศัพท์มือถือ และเพิ่มขึ้นเป็น 50% ในปี 2558 จะเห็นได้ว่าเป็นอัตราการเติบโตของตลาดเครื่องทดแทนปกติทุกปีที่เกิดขึ้น ราว 20-30% ของตลาด
ผมไม่รู้ว่าสิ่งที่ออกมากล่าวของสำนักวิจัยรายนี้มีนัยแอบแฝงอะไรไว้ แต่แน่นอนว่าการเปรียบตัวเลขให้เกิดผลในแง่ลบ แบบจงใจ ดูจะผิดมาตรฐานของการวิจัยไปสักหน่อย และนั่นอาจจะหมายถึงความตื่นตะหนกแบบผิดทิศผิดทางของการตลาดก็เป็นได้ การเปรียบค่าเพื่อให้เห็นความต่างนับเป็นเรื่องที่น่าสนใจมั้ยล่ะครับ
Research แล้วยังไงต่อ?
แต่กระนั้นงานวิจัยชิ้นนี้ที่ออกสื่อมาก็ยังมีข้อดีตรงที่ มีการพบว่าตัวเลของผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่า 23% ไม่ใช้แพคเกจอินเทอร์เน็ต และ 13% พบว่าไม่ต่อดาต้าที่ไหนเลย และ 10% ยังเลือกต่อไวไฟที่บ้าน แต่ในรายละเอียดไม่ได้บอกระดับรายได้ ซึ่งส่วนตัวเชื่อว่าจะต้องมีความสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน ซึ่งก็ได้แต่ประเมินว่า ตัวเลขของการไม่ใช้ดาต้านี้ อาจจะเป็นโอกาสของเหล่าผู้ให้บริการก็เป็นได้ แต่หากเป็นตัวเลขจากกลุ่มผู้มีรายได้น้อยแล้ว ตัวเลขนี้ก็คงไม่มีหวังอะไรได้
ท้ายที่สุดคงต้องบอกว่ากลุ่มตัวอย่างอันน้อยนิดอาจจะทำให้ได้ตัวเลขที่ไม่ตรงกับความเป็นจริงมากนัก และทุกวันนี้มีวิธีวิจัยออนไลน์ที่เข้าถึงได้มากกว่าเร็วกว่าหลายเท่านัก อยากให้ปรับปรุงตัวเลขที่แม่นยำในการวิจัยเรื่องเทคโนโลยีกันสักหน่อยนะครับ อย่างน้อยการสร้างความตระหนกบนพื้นฐานตัวเลขก็จะได้ไม่เกิดขึ้นนะครับ