กระทรวงวิทย์ฯ โดย สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึงสมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) และ Railway Technical Research Institute หรือ RTRI ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระบบรางของประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมและนิทรรศการระบบรางของไทย ครั้งที่ 3 Thai Rail Industry Symposium and Exhibition: RISE3
ในหัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย: ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย” ระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2560 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ผ่านโครงการลงทุนขนาดใหญ่ด้านการคมนาคมขนส่งทางราง โดยคิดเป็นมูลค่ากว่า 2 ล้านล้านบาท ซึ่งประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการเองได้ทั้งหมด จำเป็นต้องพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ ทั้งนี้การก้าวกระโดดการพัฒนาจากผู้ซื้อเทคโนโลยีไปสู่ผู้ใช้ที่ฉลาด สามารถซ่อมแซม บำรุงรักษาได้ จนถึงเป็นผู้ที่สามารถผลิตเทคโนโลยีได้เองนั้น เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับประเทศไทยอย่างยิ่ง
ประกอบกับนโยบาย “ประเทศไทย 4.0” ของรัฐบาลที่ต้องการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเศรษฐกิจ ไปสู่ “Value–Based Economy” หรือ “เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม” ที่ส่งเสริมให้เกิดการสร้างเศรษฐกิจใหม่บนพื้นฐานแห่งความรู้ จึงจำเป็นต้องมียุทธศาสตร์เปลี่ยนแปลงนโยบายจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เอื้ออำนวย กำหนดให้มีเงื่อนไขการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำไปสู่การวิจัยและพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และสามารถพึ่งตนเองได้ในอนาคตได้อย่างแท้จริง
RISE3 นวัตกรรมเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย
ทั้งนี้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้เห็นความสำคัญต่อกระบวนการดังกล่าว จึงขอเชิญชวน หน่วยงานนโยบายภาครัฐ ผู้ประกอบการเดินรถ หน่วยงานจัดซื้อจัดจ้าง/บำรุงรักษา สถาบันการศึกษา หน่วยงานวิจัย และภาคเอกชน รวมถึงประชาชนที่สนใจ ร่วมกันรับฟัง พร้อมแสดงความคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการประชุมและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 3 เรื่อง “อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย: ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย”
ซึ่งกำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2560 ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน โดยในวันที่ 9 มีนาคม 2560 กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้เรียนเชิญนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา) เป็นประธานเปิดงาน เพื่อแสดงให้เห็นว่าภาครัฐให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนาระบบรางของประเทศ เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยพัฒนาตนเองเพื่อรองรับการถ่ายทอดเทคโนโลยี และนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างนวัตกรรมและการทดสอบอย่างมีมาตรฐานเหมาะสมใช้งานได้จริง สร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนของการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางของประเทศไทยต่อไป
ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา รองผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) กล่าวว่า กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สวทช. ร่วมกับ กระทรวงคมนาคม โดย สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งจราจร การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย รวมถึง สมาคมวิศวกรรมระบบขนส่งทางรางไทย สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ และ Railway Technical Research Institute หรือ RTRI
ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยระบบรางของประเทศญี่ปุ่น ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมและนิทรรศการระบบรางของไทย ครั้งที่ 3 ในหัวข้อ “อนาคตอุตสาหกรรมระบบรางไทย: ก้าวกระโดดไปด้วยยุทธศาสตร์ความร่วมมือการจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขความร่วมมือในการพัฒนาอุตสาหกรรมระบบรางไทย” ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 9 – 11 มีนาคม 2560 นี้ ณ สถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ มักกะสัน
โดยภายในงานจะประกอบด้วย 1) การสัมนาวิชาการเพื่อเสนอยุทธศาสตร์การจัดซื้อจัดจ้างที่มีเงื่อนไขการตอบแทนด้วยการสนับสนุนการพัฒนาประเทศ เพื่อผลักดันให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยีอย่างแท้จริง 2) การนำเสนอผลงงานวิจัย รวมถึงมีการส่งมอบผลงานวิจัยเรื่อง “การพัฒนาต้นแบบระบบตรวจสภาพทางรถไฟ (ระยะที่ 1)” โดย ผศ.ดร.สืบสกุล พิภพมงคล จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่พร้อมส่งมอบให้แก่ การรถไฟแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ใช้ประโยชน์
และ 3) การจัดแสดงนิทรรศการศักยภาพอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางจากภาคเอกชน และภาครัฐ และยังมีการบรรยายงานวิจัยที่น่าสนใจหลายหัวข้อ อาทิ งานวิจัยเรื่อง “การลดการเกิดอุบัติเหตุบริเวณจุดตัดทางรถไฟด้วยแถบเส้นชะลอความเร็ว”
งานวิจัยเรื่อง “กลยุทธ์เพื่อการขับเคลื่อนนโยบายการพัฒนาที่เกื้อหนุนการใช้ระบบขนส่งสาธารณะในประเทศไทย” งานวิจัยเรื่อง “นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างเพื่อเอื้อให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมในประเทศ กรณีศึกษาระบบขนส่งทางราง” เป็นต้น
ทั้งนี้กิจกรรมทั้งหมดจะนำไปสู่ภาพรวมของการพัฒนาระบบขนส่งทางรางของไทยอย่างรอบด้าน ซึ่งจะนำไปสู่เป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถของประเทศไทยอย่างก้าวกระโดดในการแข่งขัน เพื่อพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว
ด้านนายสุเทพ พันธุ์เพ็ง รักษาการรองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด กล่าวว่า การประชุมวิชาการและแสดงนิทรรศการอุตสาหกรรมระบบขนส่งทางรางไทย ครั้งที่ 3 (RISE3) จัดขึ้นต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 รวมไปถึงสถานที่จัดงานที่เลือกจัดสถานีรถไฟฟ้าแอร์พอร์ตเรลลิงก์ที่แสดงถึงเอกลักษณ์ความสำคัญของระบบขนส่งทางราง
ทั้งนี้โครงการรถไฟฟ้าแอร์พอตเรลลิงก์เป็นให้บริการเชื่อมต่อระหว่างสนามบินสุวรรณภูมิเข้าสู่ตัวเมือง มีสถานีให้บริการทั้งสิ้น 8 สถานี ตลอดเส้นทางสนามบินสุวรรณภูมิ-พญาไท ปัจจุบันถือเป็นโครงการรถไฟฟ้าที่วิ่งด้วยความเร็วสูงสุดในประเทศ โดยมีความเร็วสูงสุดในการบริการถึง 160 กิโลเมตรต่อชั่วโมง มีจำนวนรถที่ให้บริการรวม 9 ขบวน เพื่อคงความปลอดภัยในการให้บริการให้มีประสิทธิภาพสูงสุดจำเป็นต้องมีการวางแผนตรวจประเมินเพื่อนำข้อมูลไปประกอบการตัดสินใจวางแผนการเดินรถและซ่อมบำรุงได้อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน
อย่างไรก็ดีการตรวจสอบต่างๆ ที่ผ่านมาต้องใช้งบประมาณที่สูงมากและยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีตลอดจนผู้เขี่ยวชาญจากต่างประเทศเท่านั้น แต่หลังจากนโยบายการเพิ่มขีดความสามารถเพื่อลดการพึ่งพาจากต่างประเทศ ในปี 2558 บริษัทรถไฟฟ้า รฟท. จำกัด ได้รับการสนับสนุนงานวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช)
ดำเนินการโดยคณะนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยนเรศวร ภายใต้โครงการ “การพัฒนาระบบการประเมินความปลอดภัยและสภาวะการใช้งานได้ของระบบรางด้วยการตรวจวัดการสั่นสะเทือนสำหรับประยุกต์ใช้งานกับระบบรางในไทย” ซึ่งผลจากการทำงานวิจัยอย่างหนักของคณะนักวิจัยในโครงการร่วมกับเจ้าหน้าที่ของบริษัท รถไฟฟ้า รฟท. จำกัด ทำให้ได้ผลการตรวจประเมินรถไฟฟ้าจำนวน 2 ขบวนคือ รถไฟฟ้า City Line 1 ขบวนและรถไฟฟ้า Express Line 1 ขบวน ตามมาตรฐาน UIC 518
โดยผลสำเร็จจากงานวิจัยดังกล่าวสามารถนำไปใช้ประโยชน์ในการตรวจสอบและวางแผนซ่อมบำรุงขบวนรถไฟได้อย่างมีประสิทธิภาพ แสดงให้เห็นถึงความสำเร็จของคณะนักวิจัยและยืนยันแนวทางการบริหารงานวิจัยมุ่งเป้าระบบราง ที่สามารถนำผลงานวิจัยออกไปสู่การใช้งานจริงในภาคสนามและจะได้ต่อยอดไปสู่การวิจัยเพื่อการพัฒนาอุตสาหกรรมรางต่อไป