ดีแทคคว้าสิทธิ์คู่ค้าทีโอทีความถี่ 2300 MHz หลังทุ่ม 4,510 ล้านบาทต่อปี

ดีแทคคว้าสิทธิ์คู่ค้าทีโอทีความถี่ 2300 MHz หลังทุ่ม 4,510 ล้านบาทต่อปี

ทีโอทีประกาศเลือกดีแทคเป็นคู่ค้าในการให้บริการ 4G บนคลื่นความถี่ 2300 MHz ของทีโอที ตามข้อเสนอที่ยื่น บริษัทดีแทคไตรเน็ต จำกัด ได้เสนอผลตอบแทนคงที่ให้กับทีโอที เป็นจำนวนปีละ 4,510 ล้านบาทตามเงื่อนไขที่กำหนด

นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า “ดีแทคมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้รับหนังสือจาก ทีโอที แจ้งว่า คณะกรรมการของทีโอที ได้มีมติอนุมัติเห็นชอบให้ทีโอทีดำเนินการให้มีการทำสัญญากับกลุ่มบริษัทในการเป็นคู่ค้าให้บริการไร้สายคลื่นความถี่ดังกล่าว ดังนั้น กลุ่มบริษัทฯจะเข้าดำเนินการเจรจาสัญญาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับทีโอทีต่อไป

ด้วยอัตราความต้องการใช้งานดาต้าบนมือถือที่เพิ่มสูงขึ้นในปัจจุบัน ผู้บริโภคชาวไทยจะได้รับผลประโยชน์สูงสุดในด้านคุณภาพการให้บริการไร้สายที่มีความเร็วสูง และยังเป็นการส่งเสริมการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิตอลที่มีประสิทธิภาพตามนโยบายประเทศไทย 4.0”

ทั้งนี้ การที่ประเทศไทยจะสามารถก้าวสู่จุดหมายตามความต้องการใช้งานดิจิทัล และทำให้คนไทยสามารถก้าวสู่การแข่งขันได้ ประเทศไทยจำเป็นต้องเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้เพียงพอต่อการใช้งาน ทั้งการวางแผนและกำหนดการใช้งานคลื่นความถี่อย่างชัดเจน

คลื่นความถี่ 2300 MHz จำนวน 60 MHz ของ ทีโอที

ด้านนายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ทีโอที เปิดเผยผ่านเว็ยไซต์ ทีโอที ในช่วงก่อนหน้านี้ว่า การดำเนินธุรกิจบริการสื่อสารไร้สายคลื่นความถี่ดังกล่าว จำนวน 60 MHz ของ ทีโอที ซึ่งมีบริษัทที่สนใจยื่นแผนธุรกิจ รายละเอียดการขยายโครงข่ายและผลตอบแทนในการเป็นคู่ค้าการให้บริการไร้สายคลื่นความถี่นี้ จำนวน 6 ราย

1.บริษัท ไฮมีเดีย เทคโนโลยี จำกัด 2.บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด 3.บริษัท โมบาย แอลทีอี จำกัด 4. บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด 5. บริษัททานตะวัน เทเลคอมมูนิเคชั่น จำกัด และ 6. TUC RMV for 2300 MHz Consortium

โดยขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการดำเนินการของบริษัทที่ปรึกษา คือ บริษัท เดเทคอน เอเชีย-แปซิฟิค จำกัด และ บริษัท ไพร์มสตรีท แอดไวเซอรี่ (ประเทศไทย) จำกัด เพื่อประเมินด้านเทคนิค ด้านการลงทุนและผลตอบแทน และด้านกฎหมาย ซึ่งจะพิจารณาจากคุณภาพของข้อเสนอด้านเทคนิคและด้านการลงทุนและผลตอบแทน โดยจะคัดเลือกผู้ยื่นข้อเสนอที่ดีที่สุดเพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาต่อไป

การให้บริการไร้สายคลื่นความถี่นี้เป็นหนึ่งในแผนธุรกิจที่ ทีโอที ให้ความสำคัญและเร่งดำเนินการเพื่อให้สามารถบริการได้ภายในปี 2560 โดยจักต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกระบวนการที่กำหนดไว้ โดยบริการไร้สายคลื่นความถี่นี้จะเป็นประโยชน์ให้กับประเทศในการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0

ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลที่มีเป้าหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมและทั่วถึงในการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประชาชนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ในการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามามีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อน สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประชาชน และรวมถึงการสร้างรายได้ให้กับ ทีโอที เพื่อให้องค์กรมีศักยภาพ มีความเข้มแข็ง และสามารถที่จะก้าวไปข้างหน้าอย่างยั่งยืน

Related Posts