กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เร่งจัดตั้งเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ (Digital Park Thailand) เดินหน้าจัดทำรายละเอียดประเภทกิจการ มาตรการส่งเสริมการลงทุนและอุตสาหกรรมดิจิทัล พร้อมชักชวนกลุ่มธุรกิจเป้าหมายร่วมลงทุน เผยขณะนี้มีบริษัทใหญ่จากต่างประเทศสนใจจำนวนมาก
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า ในการประชุมคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (กรศ.) ครั้งที่ 2/2560 เมื่อวันที่ 4 พฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธานนั้น ที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบให้นำเสนอคณะกรรมการนโยบาย ประกาศเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล หรือ ดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์
ส่งเสริมให้เกิดการลงทุนและการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัลยุคใหม่ผ่านธุรกิจดิจิทัลระดับโลก (Digital Global Player) และกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายของดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ และมอบหมายให้คณะอนุกรรมการนโยบายระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล จัดทำรายละเอียดประเภทกิจการ เกณฑ์การพิจารณา มาตรการส่งเสริมการลงทุน และมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล นำเสนอคณะกรรมการบริหารและคณะกรรมการที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งเห็นชอบให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ทำหน้าที่ชักจูงบริษัทในกลุ่มนักลงทุนเป้าหมายให้เกิดผลเป็นรูปธรรมร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการบริหารการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป โดยให้ดำเนินงานร่วมกับชุมชนในพื้นที่ ถึงแนวทางที่ประชาชนจะได้รับประโยชน์จากเขตส่งเสริมอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัล ก่อนนำเสนอคณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาในการประชุมครั้งต่อไป
โดยต่อจากนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ จะได้เร่งดำเนินการจัดตั้งดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ซึ่งเป็นเขตนิคมอุตสาหกรรมเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านดิจิทัล เพื่อให้เกิดการถ่ายทอดเทคโนโลยี และสร้างสรรค์งานด้านดิจิทัลในรูปแบบต่าง ๆ บนพื้นที่กว่า 700 ไร่ ที่อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี
ซึ่งปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวเป็นที่ตั้งของสถานีเคเบิลใต้น้ำและสถานีดาวเทียมภาคพื้นดิน ของบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) และกรมธุรกิจพลังงาน โดยตามแผนการจัดตั้ง จะมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับการลงทุนภาคเอกชนร้อยละ 70 และภาครัฐร้อยละ 30
ทั้งนี้ กระทรวงดิจิทัลฯ ได้เริ่มหารือและเชิญชวนบริษัทไอทีชั้นนำของโลกให้มาตั้งสำนักงานในดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์บ้างแล้ว อาทิ เฟซบุ๊ก กูเกิล อเมซอน เป็นต้น
สำหรับสิทธิประโยชน์ที่จะเสนอให้แก่บริษัทต่างๆ ที่จะมาตั้งสำนักงานในดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ คือ การยกเว้นภาษี 8 ปี และลดหย่อนร้อยละ 50 ในอีก 5 ปีถัดมา ส่วนผู้ที่ทำงานในพื้นที่ของดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ จะมีให้เลือกเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 2 รูปแบบ คือ การเสียภาษีแบบขั้นบันไดตามปกติ และการเสียภาษีในอัตราคงที่ร้อยละ 17
นอกจากนี้ในวันที่ 8 พฤษภาคมนี้ ได้มีการเชิญนักธุรกิจและสภาอุตสาหกรรมฮ่องกงเข้ามาเยี่ยมชมโครงการดิจิทัลพาร์คไทยแลนด์ ที่ศรีราชา โดยไทยได้จัดเตรียมการจับคู่ธุรกิจ (Business Matching) ระหว่างนักธุรกิจไทยและฮ่องกง เพื่อเปิดโอกาสให้ทั้งสองฝ่ายได้หารือและแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกันและกันด้วย