3 ค่ายมือถือแนะเตรียมรับมือ IoT กสทช.คาดเม็ดเงินสะพัด 3.4 หมื่นลบ. อีก 3 ปี

3 ค่ายมือถือแนะเตรียมรับมือ IoT กสทช.คาดเม็ดเงินสะพัด 3.4 หมื่นลบ. อีก 3 ปี

ชมรมนักข่าว(ITPC) ร่วมกับ กสทช. เอสไอเอส ดีแทค และทรู เปิดเวทีเสวนา “ค่ายมือถือ ยึดหัวหาด IoT” ด้านกสทช. เผยผลสำรวจตลาด IoT คาดเงินสะพัด 34,000 ล้านบาท ด้านกรรมการ คุ้มครองผู้บริโภคชี้พฤติกรรมประชาชนใช้งาน IoT เป็นส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน ฝั่งโอปอเรเตอร์ต่อยอดการใช้งานสู่ภาคอุตสาหกรรม

ภายในงานนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการกสทช. เป็นประธานเปิดงานเสวนาจิบน้ำชาครั้งที่ 1/2560 “ค่ายมือถือ ยึดหัวหาด IoT” จัดโดย ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITPC) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย

นายฐากร กล่าวว่า เป็นที่ทราบกันดีว่าในยุคปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารมีการพัฒนา และเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอด จากการเป็นเครื่องมือหนึ่งให้คนใช้สื่อสารกัน จนกลายมาเป็นเครื่องมือที่สื่อสารกันเองโดยไม่ต้องใช้คนอีกต่อไป เกิดรูปแบบใหม่ในการทำธุรกิจผ่านระบบ Internet of Things หรือ ไอโอที

ไอโอที IoT เทรนด์กระแสโลก

จากข้อมูลสถิติของบริษัท IBM พบว่าปัจจุบันมีอุปกรณ์ IoT ที่เชื่อมต่อกันกว่า 13,000 ล้านชิ้น และคาดการณ์ว่าภายในปี 2562 การใช้งานอุปกรณ์ IoT ในหลายภาคส่วนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจโลกถึง 1.7 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นประมาณร้อยละ 10 ของ GDP ของสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเศรษฐกิจใหญ่อันดับหนึ่งของโลก

สำหรับสถานการณ์ ไอโอทีในประเทศไทยมีการคาดการณ์โดยบริษัท Frost & Sullivan ว่าอาจสร้างเม็ดเงินประมาณ 34,000 ล้านบาทได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 ด้วยการเจริญเติบโตของการใช้งานที่สูงอย่างต่อเนื่องในแต่ละปี

และในแต่ละอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ระบบ Sensor เชื่อมโยงผ่านอินเตอร์เน็ตในการติดตามแต่ละขั้นตอนและแต่ละชิ้นส่วนในสายการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ระบบ Sensor IoT สื่อสารแบบอัตโนมัติกับระบบรอบตัวรถเพื่อการนำทางและควบคุมโดยไม่ใช้คน

และอุตสาหกรรมเกษตรที่สามารถประมวลผลข้อมูลสภาพดินและความชื้นจาก Sensor แบบอัตโนมัติผ่านระบบไอโอที พร้อมคำนวณอัตราส่วนปุ๋ยและน้ำที่เหมาะสมกับระยะเวลาเก็บเกี่ยวที่ต้องการ เป็นต้น

ทั้งนี้จะเห็นว่าการใช้งานไอโอที จะเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางและจะมีการใช้งานใช้งานสูงขึ้นในประเทศไทย สำนักงาน กสทช. จึงได้เตรียมความพร้อมรองรับบริการ ไอโอที ในประเทศไทยด้วยการวางรากฐานการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทั้งแบบไร้สายและแบบมีสาย แบบไร้สาย

สำนักงาน กสทช. ได้จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz 1800 MHz และ 900 MHz เพื่อสนับสนุนบริการ 3G และ 4G ทำให้ประเทศไทยมีคลื่นความถี่รวมสำหรับกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบันเท่ากับ 420 MHz นอกจากนั้น ยังมีแผนที่จะจัดสรรเพิ่มเติมอีก 380 MHz ในปี 2563 ซึ่งจะเพียงพอต่อการใช้งานตามคำแนะนำของ ITU

ในส่วนของการเข้าถึงอินเตอร์เน็ตทางสาย สำนักงาน กสทช.ดำเนินการติดตั้งอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศผ่านโครงการ USO ซึ่งมีเป้าหมาย 19,652 หมู่บ้าน โดยสำเร็จแล้ว 3,920 หมู่บ้านและคาดว่ากลางปี 2561 จะแล้วเสร็จทั้งหมด เมื่อรวมกับส่วนที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับผิดชอบอีก 24,700 หมู่บ้านแล้ว จะสร้างการเข้าถึงอินเตอร์เน็ต Broadband ทางสายได้ทั่วประเทศ

และเมื่อรวมกับบริการ 3G และ 4G ที่ครอบคลุมทุกจังหวัดแล้วในปัจจุบันทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับบริการ IoT ภายในปีหน้าอย่างแน่นอน

น.พ.ประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กสทช. ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ไม่กี่ปีมานี้ประชาชนทั่วไปก็ใช้งาน IoT โดยที่ไม่รู้ตัว เช่น สมาร์ททีวีถือเป็นอุปกรณ์ที่สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ต และเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ใช้ในเรื่องการแพทย์ มีทั้งส่วนที่ใช้สายและไม่ใช้สาย

ปัจจุบันดีไวซ์หลายตัวมีทั้งการใช้งานแบบเคลื่อนที่และไม่เคลื่อนที่ เช่น รถขับเคลื่อนอัตโนมัติก็ใช้ระบบไร้สาย ดังนั้นในเรื่องของคลื่นความถี่เพื่อนำมาให้บริการจึงสำคัญ โดยในอนาคตจะระดับ 3-5 หมื่นล้านชิ้นทั่วโลก กสทช.จะต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับการใช้งาน ดังนั้น การใช้เทคโนโลยี 5จี จะตอบโจทย์การใช้งานไอโอทีได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการต่างพัฒนาไอโอทีเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม อาทิ สมาร์ทมิเตอร์ ที่ไม่ต้องใช้คนเพื่อจดมิเตอร์ ระบบการจราจร ไฟอัจฉริยะ ในส่วนของภาคการเกษตรนั้น ไอโอทีจะวัดคุณภาพน้ำและบอกหมดทุกอย่าง เป็นต้น ซึ่งอีก 20 ปีข้างหน้าการใช้รถจะไม่ต้องมีคนขับ เป็นต้น

กสทช.จะต้องดูว่าคลื่นไหนว่างบ้างเพื่อจัดสรรให้ตรงกับธุรกิจ เพื่อตอบรับกับการใช้งานของทุกกลุ่มอุตสากรรม และที่สำคัญต้องเน้นเรื่องระดับสากล ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจในเรื่องของเทคโนโลยี ประเทศไทยจึงต้องยึดมาตรฐานโลกเช่นกัน

นอกจากนี้ ในส่วนของการโจมตี ที่ผ่านมาเราจะเห็นข่าวเกี่ยวกับ ไวรัส วอนนาคราย จะเป็นการโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ ถือว่ายังสามารถแก้ปัญหาได้ไม่ยาก แต่หากมาโจมตีระบบการใช้งานไอโอทีจะวุ่นวายมากกว่านี้ เพราะถ้าในครัวเรือนมีอุปกรณ์ไอโอทีในบ้านเป็น 10-20 ชิ้น ผู้ใช้งานจะไม่ชอบที่จะไม่อัพเดท

ดังนั้น ผู้ผลิตจะต้องดูในเรื่องของระบบป้องกันด้วย เพราะถ้าสามารถเจาะข้อมูลได้ตัวนึงก็จะเจาะได้หมด ซึ่งในส่วนของความรับผิดชอบนั้น ผู้ผลิตจะเป็นผู้รับผิดชอบ กสทช. จะกำกับในเรื่องของการให้ใบอนุญาต ต้องดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความรู้แก่ผู้ใช้งาน

IoT

“อินเทอร์เน็ตไม่ได้ออกแบบมาเพื่อความปลอดภัย แต่ออกแบบเพื่อการสื่อสาร พอมาถูกใช้ในคนทั่วโลกจึงมีช่องโหว่ ซึ่งทุกอุตสาหกรรมต้องออกแบบตั้งแต่ต้นโดยเฉพาะความปลอดภัย ส่วนเน็ตเวิร์คโพรไวร์เดอร์ต่างๆ ต้องดูแลความปลอดภัยโครงข่าย เราจะเห็นว่าคนเชื่อมต่อกันมากขึ้น เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงเรื่อยๆ

และหลายฝ่ายก็คงจะคำนึงถึงเรื่องความปลอดภัยในการใช้งานไอโอทีแน่นอน ซึ่งสมัยก่อนใช้คอมพิวเตอร์ พอโดนไวรัสก็ไม่ได้ไปร้องฟ้องใคร แต่มาไอโอที เป็นเรื่องที่ต้องถกเถียงกัน จะมีกฏหมายระบุว่าเกิดจากตัวสินค้า ความเชื่อมโยงและความพิสูจน์มันซับซ้อนกว่าการใช้พัดลมธรรมดา สุดท้ายระบบประกันภัยจะต้องเข้ามาเกี่ยวข้องในเรื่องนี้”

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์และองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ประเทศไทยใช้ไอโอทีมานานแล้ว เช่น เอทีเอ็ม ส่วนเอไอเอส มีไลเซ่นส์แบรนด์อยู่แล้ว สามารถให้บริการในพื้นที่ไกลผ่านคลื่นความถี่ 900 MHz

นอกจากนี้ สิ่งที่สำคัญคือดีไวซ์ ที่ปัจจุบันจีนผลิตมาจำนวนมาก แต่ประเทศไทยยังน้อย สิ่งสำคัญคือการผลักดันให้มีการผลิตดีไวซ์ขึ้นมาในไทย รัฐบาลต้องส่งเสริมสตาร์ทอัพในไทย เพราะนอกจากขายในไทยแล้วยังขายได้ทั่วโลก ซึ่งหากดีไวซ์แมกเกอร์ของประเทศไทยสามารถผลิตมาได้ก็สามารถผลิตไปทั่วโลก ต่อไปอุปกรณ์รองรับไอโอทีจะมากกว่าจำนวนผู้ใช้ โดยเทรนด์ต่อไปประเทศไทยจะนำไอโอทีมาใช้ในทางการแพทย์ การเกษตร เป็นต้น

นายธีรพันธุ์ ศิริสุนทรไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจ B2B บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ดีแทค กล่าวว่า ดีแทคได้นำไอโอทีมาใช้เพื่อการเกษตรในโครงการดีแทค ฟาร์มแม่นยำ โดยนำข้อมูลไปประมวลผล สิ่งที่ดีแทคมองคือกลไกลหลักคือการสร้างพาสเนอร์ชิฟ สร้างโมเดลขึ้นมาแล้วจะขับเคลื่อนโมเดลอย่างไร

ซึ่งดีแทคเน้นในเรื่องของทำอย่างไรให้เขานำไอโอทีไปใช้ในด้านธุรกิจให้ประสบความสำเร็จอย่างไร นอกจากนี้ ความเสถียรของการเชื่อมต่อสำคัญมาก การดูแลซิมการ์ดต่างๆ และสุดท้ายคือเรื่องของบริการหลังการขาย ทีมงานต้องสามารถช่วยวิเคราะห์ปัญหาได้ทันที

ทั้งนี้ ในฝั่งเอเซียจะเห็นการนำไอโอทีไปใช้เยอะในด้านของโลจิสติกส์ ถ้ามองในภูมิภาคจะเห็นเรื่องทรานฟอร์เมชั่น การใช้ไอโอทีไปจับกลุ่มธุรกิจเคลื่อนที่ ออโตมิติก กับสมาร์ทซิตี้

นายสรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู ดิจิตอล แอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม จำกัด กล่าวว่า ไอโอทียังเป็นเรื่องใหม่ในตลาด การเข้าสู่ยุคไอโอที ไม่ได้เปลี่ยนเทคโนโลยีแต่เป็นการส่งถ่ายการใช้ไอทีเป็นดิจิตอล ไม่ได้เกิดจากผู้ให้บริการอย่างเดียว ภาคการผลิตก็แข่งขันกันสูง ฝั่งเน็ตเวิร์คถ้าภาครัฐสนับสนุนโครงข่าย ธุรกิจไอโอทีราคาก็ต้องต่ำด้วย

ที่ผ่านมาก็จับมือซูโลชั่นผู้นำระดับโลก โดยทดลองกับซีพีกรุ๊ปก่อน เช่น สมาร์ทฟาร์มก็ใช้ทั้งหมดครอบคลุม ทั้งนี้ ต้องดูว่าการใช้ดิจิตอลนั้นคุ้มทุนแค่ไหน แต่ในความเป็นจริง แต่ละธุรกิจจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ต้องเน้นเรื่องความคุ้มทุน เพราะเอสเอ็มอีขนาดเล็กไม่มีเงินที่จะสร้าง บริษัทใหญ่ต้องทำให้เห็นก่อน

Related Posts