Bosch ผู้ผลิตด้านเทคโนโลยีและการบริการต่าง ๆ ชั้นนำของโลก ปิดยอดขายรวมปีการเงิน 2559ในประเทศไทยราว 11.9 พันล้านบาท (305 ล้านยูโร) คิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 10 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า นับเป็นปีที่สี่ติดต่อกันที่ประเทศไทยเป็นตลาดที่สร้างรายได้สูงสุดแห่งหนึ่งสำหรับบ๊อช ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยส่วนใหญ่เป็นรายได้จากอุตสาหกรรมยานยนต์
มร. โจเซฟ ฮง กรรมการผู้จัดการของ บ๊อซ ประเทศไทย กล่าวว่า “เรามองเห็นแนวโน้มการเติบโตของบ๊อช ประเทศไทย ไปในทิศทางที่ดี เห็นได้จากการลงทุนของเราในธุรกิจการเชื่อมต่อ (Connectivity) โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งได้รับการผลักดันจากแผนกลยุทธ์ของรัฐบาลไทยภายใต้นโยบาย ประเทศไทย 4.0”
“นโยบายของรัฐบาลจะช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านโมเดลธุรกิจของบ๊อชให้เป็นไปอย่างราบรื่น จากการเป็นผู้ผลิตชั้นนำของโลกด้านผลิตภัณฑ์และบริการ ไปสู่การเป็นผู้ให้บริการโซลูชั่นส์ IoT ชั้นนำ ซึ่งจะช่วยให้เราร่วมผลักดันประเทศไทยให้สามารถสร้างความแตกต่างในเวทีเศรษฐกิจระดับโลกที่มีการแข่งขันสูงขึ้น”
Bosch เพิ่มการลงทุนในปี 2559 กว่า 50 ล้านยูโร
ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา กลุ่มบริษัทบ๊อชลงทุนในประเทศไทยคิดเป็นมูลค่าเกือบ 100 ล้านยูโร เฉพาะในปี 2559 มีการลงทุนถึงกว่า 50 ล้านยูโร โดยบ๊อชตั้งเป้ารักษาความเป็นผู้นำในตลาดหัวฉีดเชื้อเพลิง และกำลังก่อสร้างโรงงานผลิตหัวฉีดเชื้อเพลิงในประเทศไทย เพื่อรองรับการขยายตัวของผู้ผลิตยานยนต์
โรงงานแห่งใหม่ซึ่งตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรมเหมราช อีสเทิร์นซีบอร์ด จะใช้เทคโนโลยีหัวฉีดเอกสิทธิ์เฉพาะของบ๊อช โดยกระบวนการผลิตส่วนหนึ่งจะใช้เทคโนโลยีที่สามารถเชื่อมต่อ ตามแนวทาง ‘อุตสาหกรรม 4.0’ สำหรับการลงทุนรวมในปี 2559 นั้นยังครอบคลุมถึงการก่อสร้างโครงสร้างขั้นพื้นฐานสำหรับการวิจัยและพัฒนาภายในโรงงานผลิตหัวฉีดเชื้อเพลิง และการขยายสายการผลิตเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ในจังหวัดชลบุรีด้วย
พัฒนาการเชิงบวกครอบคลุมทุกธุรกิจ
ในปี 2559 กลุ่มธุรกิจโซลูชั่นส์แห่งการขับเคลื่อนของ Bosch เติบโตขึ้นจากอุตสาหกรรมชิ้นส่วนประกอบรถยนต์ ที่มีความต้องการและการผลิตในประเทศเพิ่มขึ้น ส่วนกลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มีแนวโน้มเติบโตเช่นเดียวกัน เป็นผลมาจากโครงการต่างๆ ในอุตสาหกรรมยานยนต์ สำหรับธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคมีการเติบโตปานกลาง
เป็นผลจากช่องทางการจัดจำหน่ายที่ขยายตัวต่อเนื่องและจากช่องทางธุรกิจอีคอมเมิร์ซ กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานและการก่อสร้างนั้น มีรายได้เพิ่มขึ้นในปี 2559 เป็นผลมาจากความต้องการในตลาดและอุตสาหกรรมการผลิตขยายตัว อีกทั้งการใช้จ่ายที่ต่อเนื่องของภาครัฐในด้านโครงสร้างพื้นฐาน
มุ่งมั่นยกระดับฝีมือและความก้าวหน้าทางวิชาชีพในหมู่เยาวชน
ในปี 2559 Bosch ในประเทศไทยยังคงเข้าถึงชุมชนทั่วประเทศอย่างต่อเนื่อง โดยมีกิจกรรมครอบคลุมด้านการศึกษาและสร้างโอกาสพัฒนาอาชีพแก่เยาวชนผู้ด้อยโอกาส เพื่อสนับสนุนให้เยาวชนเหล่านั้นเติบโตขึ้นเป็นผู้ประกอบกิจการชั้นนำในอนาคต
บ๊อชให้การสนับสนุนมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต (Skills for Life Foundation) และมูลนิธิ Hand to Hand มาอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับทาง Primavera ซึ่งเป็นมูลนิธิที่ก่อตั้งโดยพนักงานของบ๊อชที่เกษียณอายุแล้ว เพื่อช่วยเหลือเด็ก ๆ ในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศเกิดใหม่ ให้สามารถเริ่มต้นชีวิตที่ดีขึ้นได้
การสนับสนุนกิจกรรมทางสังคมของบ๊อช รวมถึงความร่วมมือกับมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิตและมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ในการพัฒนาแนวทางการยกระดับทักษะอาชีพด้วยการฝึกอบรม “train-the-trainer” อย่างต่อเนื่องให้กับเด็กนักเรียนในมูลนิธิทักษะเพื่อชีวิต ซึ่งโครงการแรกที่ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยคือ การประดิษฐ์ของเล่นทำมือซึ่งได้ส่งมอบให้แก่เด็ก ๆ ในมูลนิธิ Hand to Hand เมื่อปีที่ผ่านมา
สำหรับปี 2560 ด้วยภาพรวมทางเศรษฐกิจที่ซบเซา กอปรกับความผันผวนทางการเมืองในภูมิภาคต่าง ๆ กลุ่มบ๊อช จึงตั้งเป้าการเติบโตของยอดขายที่ประมาณร้อยละ 3 – 5 แม้ว่าจะยังต้องลงทุนจำนวนมากเพื่อรองรับอนาคต ก็มองว่าน่าจะก่อให้เกิดผลตอบแทนที่ดีขึ้น
ดร. โฟคมาร์ เดนเนอร์ ประธานคณะกรรมการบริหารของบ๊อช กล่าวว่า “ความสำเร็จทางธุรกิจในวันนี้ จะเป็นแรงส่งให้เราสร้างโลกของวันพรุ่งนี้ได้ ในฐานะผู้นำด้านนวัตกรรม สิ่งที่เรากำลังทำคือ การวางรูปแบบและขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านนี้”
ทั้งนี้ ตัวแปรที่สำคัญของการเปลี่ยนผ่านคือ การเปลี่ยนแปลงในโลกของเทคโนโลยีการขับเคลื่อนและเทคโนโลยีการเชื่อมต่อของ IoT ซึ่งภายในปีพ.ศ. 2563 ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์รุ่นใหม่ของบ๊อชทั้งหมดจะเน้นด้านการเชื่อมต่อเป็นหลัก และกุญแจสำคัญก็คือ ปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI – Artificial Intelligence ซึ่งภายในระยะเวลา 5 ปีข้างหน้า บ๊อชจะมีการลงทุนราว 300 ล้านยูโร เพื่อพัฒนาศูนย์ปัญญาประดิษฐ์ของบ๊อช
ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก บ๊อชทำยอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 8.3 ในปี 2559 คิดเป็นยอดขายรวม 20.8 พันล้านยูโร (เติบโตกว่าร้อยละ 12 หลังปรับผลกระทบจากอัตราแลกเปลี่ยน) ปัจจุบัน บ๊อชมียอดขายในเอเชียแปซิฟิก คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 28 ของยอดขายทั้งหมด เทียบกับร้อยละ 27 ในปีก่อนหน้า