Seed Funding สำหรับสตาร์ทอัพไทยมีจริง? หรือแค่มายา

Seed Funding สำหรับสตาร์ทอัพไทยมีจริง? หรือแค่มายา

กระแสความแรงของสตาร์ทอัพไทยเกิดขึ้นอย่างมืดฟ้ามัวดิน ไอเดียมากมายผุดขึ้นราวดอกเห็ด บ้างก็หวังแก้ปัญหาระดับท้องถิ่น บ้างก็หวังแก้ปัญหาระดับชาติ หรือระดับโลกก็แล้วแต่ ซึ่งจุดเริ่มของทุก Pain-points นั้นมีจุดเดียว คือ เริ่มธุรกิจให้ได้ และด้วยธรรมชาติของนักสร้างสรรค์ที่มักมีต้นทุนเพียงแค่ความฝัน ซึ่งไม่มีใครปล่อยเงินลงทุนเริ่มต้นให้นัก นิยามของ Startups จึงเกิดขึ้นมาเพื่อขายฝันให้ผู้ที่สนใจลงทุน แต่เอาจริงๆแล้วจะมีไหมสำหรับนักลงทุน Seed Funding ที่จะสนใจลงทุนกับแค่ไอเดียจริงๆ

ไม่มีหรอกเงิน Seed Funding ถ้าคุณไม่เจ๋งจริง

ผมหมายถึงตามหัวข้อเลย “ไม่มีหรอกถ้าไม่เจ๋งจริง” เพราะนักลงทุนทุกคนหรือ Venture Capital ทุกแห่ง ย่อมต้องมั่นใจแล้วว่าจะเกิดผลกำไรหรืออย่างน้อยก็ไม่เสี่ยงเกินไปที่จะควักเงินออกไปจนขาดทุน เขาเหล่านั้นจึงมักเลือกลงทุนกับสตาร์ทอัพที่มีกิจการเล็กๆแล้ว ถ้ายังเป็นแค่ไอเดีย หรือเป็นแค่ต้นแบบ ไม่มีรายไหนในไทยที่กล้าลงทุนให้คุณแน่นอน

ความหวังของพวกสตาร์ทอัพไอเดียเจ๋งๆแต่ไม่มีเงินเริ่มต้นทำจริง จึงไปอยู่ที่กลุ่ม Accelerator หรือศูนย์บ่มเพาะธุรกิจเพื่อเฟ้นหาไอเดียเจ๋งที่สุด แล้วมาพัฒนาความสามารภเพิ่ม และให้เงินลงทุนเริ่มต้นธุรกิจ หรือให้ช่องทางสร้างธุรกิจให้เกิดขึ้นได้จริงนั่นเอง

ซึ่งระยะเวลาของการบ่มเพาะ การคัดสรร ตลอดจนการอบรม ตลอดจนวิธีนำเสนอผลงานเพื่อระดมทุน เหล่านี้ล้วนใช้เวลา 3-6 เดือนเป็นอย่างน้อย แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าสตาร์ทอัพเจ๋งๆจะได้เงินทุนในการทำธุรกิจต่อ เพราะมีทีมที่พลาดจากการเข้ารอบปีๆหนึ่งไม่ใช่น้อย แม้ว่าในประเทศไทยจะมีศูนย์บ่มเพาะอยู่หลายที่แล้วก็ตาม เต็มที่แล้วที่แล้วจากหลักร้อยทีมก็จะเหลือไอเดียที่ได้รับการบ่มเพาะต่ออยู่ราว 10 ทีม และได้รับเงินตั้งต้นราว 5 แสน – 1.5 ล้านบาท ขึ้นอยู่กับไอเดีย

VC ในไทยก็แค่กระแสของนักลงทุนที่หวังผลกำไร?

อย่างที่บอกว่า นักลงทุนไม่ใครมาเสี่ยงกับการขาดทุน เพราะฉะนั้น VC ที่เราเห็นเปิดตัวกันในไทยตามข่าว หลายๆครั้ง มักเลือกลงทุนกันสตาร์ทอัพระดับ Post seed ไปจนถึงระดับ ซีรี่ย์ A, B, C ตามเรื่องตามราวไป

แม้ว่าบางรายจะมีการบอกว่าลงทุนในระดับ Seed แต่ท้ายที่สุดก็เป็นส่วนน้อย และที่สำคัญเป็น post-Seed คือมีการเริ่มต้นไปในระดับหนึ่งแล้ว มีกลุ่มเป้าหมายแล้ว แผนธุรกิจชัดเจน และบางรายอาจจะเริ่มมีลูกค้าแล้วก็เป็นได้ แต่ก็ยังถือว่าอยู่ในระดับ Seed อยู่เช่นกัน

ขณะที่บางกลุ่มทุนก็ใช้ธุรกิจของตนเข้าไปร่วมทุน เพื่อดึงความสามารถด้านเทคโนโลยีต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเสนอทุนให้ แต่กระนั้นก็ต้องแลกมาด้วยข้อจำกัดที่ไม่สามารถเปิดกว้างเทคโนโลยีนั้นๆที่พัฒนาขึ้นให้ขยายตัวออกไปได้ โดยผลงานที่ทำออกมาก็มักจะถูกสร้างให้ตอบโจทย์ปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กรที่ลงทุน

ขณะที่บางรายแม้ว่าจะมีการเปิดกองทุนด้าน สตาร์ทอัพในไทยโดยเฉพาะมานานหลายปี แต่ก็ยังไม่มีการลงทุนกับบริษํทไหนอย่างจริง แน่นอนว่าบริษัทเหล่านั้นมักเป็นกลุ่มทุนของบริษัทขนาดใหญ่ที่ต้องการวิ่งตามให้ทันเทคโนโลยีของกลุ่มสตาร์ทอัพเท่านั้น ซึ่งท้ายที่สุดแล้วก็จะเป็นการลงทุนนิดหน่อยกับสตาร์ทอัพต่างๆ เพื่อให้กลายเป็นผู้ถือหุ้นและเข้าไปเรียนรู้เทคโนโลยีเท่านั้น

ท้ายที่สุดแล้ว สิ่งที่หวังสำหรับสตาร์ทอัพไอเดียดีแต่ขาดเงินทุน จึงต้องหนีไปที่กลุ่ม Accelerator หรือ โครงการของรัฐจากหลายๆหน่วยงานที่จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้เกิดสตาร์ทอัพ ซึ่งอาจจะต้องดูว่าไอเดียแบบไหนที่เข้าข่ายโครงการแบบไหน เอาเป็นว่าถ้าไอเดียเจ๋งจริง จนชนะไอเดียอื่นๆแบบโดดเด่นโอกาสของเงินทุนในการตั้งต้นธุรกิจย่อมมีความเป็นไปได้อย่างแน่นอน

Related Posts