CA ชี้ไทยใช้งานแอปพลิเคชันเก่งแต่ขาดแรงงานที่มีทักษะ

CA ชี้ไทยใช้งานแอปพลิเคชันเก่งแต่ขาดแรงงานที่มีทักษะ

CA เผยผลสำรวจการใช้งาน API หรือ Application Programming Interface พบไทยเป็นไทยก้าวเป็นผู้นำการใช้ในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชี้แม้จะเก่งแต่ยังขาดยังขาด แรงงาน ที่มีฝีมือในการใช้ประโยชน์จาก API พร้อมแนะทุกธุรกิจต้องหันเข้าหาการผลิตซอฟต์แวร์สมัยใหม่เพื่อสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน

นิค ลิม รองประธานบริษัทซีเอ เทคโนโลยี ประจำกลุ่มประเทศชาติสมาชิกอาเซียน และกลุ่มประเทศจีน ได้ร่วมแชร์แนวคิดในการกล่าวว่า ซีเอได้ทำการวิจัยเกี่ยวกับการใช้งาน API หรือ Application Programming Interface และพบว่าเมืองไทยก้าวเป็นผู้นำในระดับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านการใช้งาน

โดยกว่า 95 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามระบุว่า ปัจจุบันได้ใช้งาน API แล้วในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัล ซึ่งไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีศักยภาพ API ขั้นสูงมากที่สุดหรือ 63% ตามติดประเทศอินเดียและอินโดนีเซียและสูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นที่อยู่ที่ 55%

การสำรวจดังกล่าวนี้ได้มีการนำข้อมูลวิเคราะห์จากการตอบแบบสอบถามจากบรรดาผู้บริหารระดับสูงทางธุรกิจและผู้บริหารไอทีจำนวน 1770 รายทั่วโลก โดยมี 799 ราย มาจากภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น (APJ) โดยรวมถึงไทยด้วย

ทั้งนี้นอกจากจะมีการใช้งาน API ในระดับสูงแล้วองค์กรในไทยยังสามารถลดจำนวนความล้มเหลวของการตรวจสอบที่ต้องปฏิบัติตามระเบียบภาครัฐลงได้ 55% ลดค่าใช้จ่ายด้านไอทีที่เกี่ยวข้อง 55 % เพิ่มความพอใจของลูกค้าได้ 53% เพิ่มปริมาณยอดการทำธุรกรรม 53% เพิ่มความพอใจในการทำงานกับพาร์ตเนอร์และคู่ค้า 52% ซึ่งการปรับปรุงที่พัฒนาขึ้นนี้สูงเป็นอันดับ 2 ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น รองจากประเทศอินเดีย แต่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่น ซึ่งที่อยู่ที่ 43-44 เปอร์เซ็นต์ ในแต่ละการวัด KPIs

แต่ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้รับการจัดอันดับคะแนนที่ดีในด้านการใช้งาน API แต่องค์กรส่วนใหญ่ยังคงตามหลังในเรื่องของ การนำเสนอผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาดอย่างรวดเร็ว มีการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มขึ้นเพียง 16% ในด้านของเวลาที่ใช้ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ทดสอบและออกแอปฯ ใหม่ๆ มาสู่ตลาด และอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและญี่ปุ่นซึ่งอยู่ที่ 21%

ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการขาดทรัพยากร แรงงาน ที่มีทักษะฝีมือในการนำประโยชน์จากการใช้งาน API มาใช้อย่างเต็มรูปแบบ นอกจากนี้ 41% ยังมีปัญหาขีดความสามารถในการรักษาความปลอดภัยให้กับระบบ API ที่มีประสิทธิภาพ รวมถึงยังมีปัญหาในด้านขีดความสามารถในการปรับขยายขนาดตามการใช้งานหรือการบริหารจัดการประสิทธิภาพการทำงาน 37%

นิค กล่าวว่า สำหรับการพัฒนาองค์กรไปแข่งขันในยุคดิจิทัลนั้น ธุรกิจควรที่จะมุ่งสู่การผลิตซอฟต์แวร์สมัยใหม่หรือ Modern Software Factory เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และพร้อมที่จะรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัล ที่จำเป็นต้องนำเสนอนวัตกรรมไปถึงตัวลูกค้าได้อย่างรวดเร็วและต่อเนื่องตลอดเวลา เพราะถือเป็นส่วนสำคัญในการแข่งขันในยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชัน

นอกจากนี้ยังต้องคำนึงว่าซอฟต์แวร์คือหัวใจหลักในการสร้างความได้เปรียบในเชิงแข่งขัน และนำซอฟต์แวร์เข้ามาเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำ

“บริษัทต่างๆ จำเป็นที่จะต้องนำแนวคิดการพัฒนาซอฟต์แวร์อย่างยืดหยุ่นและหลักการลงทุนแบบเน้นประหยัดมาใช้งาน เพื่อรับมือการเปลี่ยนแปลง เน้นหนักไปที่ผลลัพธ์ที่ได้มากกว่ากระบวนการ เน้นความสำคัญไปที่ตัวลูกค้าเป็นหลักตั้งแต่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ไปจนถึงประสบการณ์การใช้งานของลูกค้า ซึ่งแนวคิด Modern Software Factory จะช่วยให้ทุกองค์กรมีขีดความสามารถในการสร้างธุรกิจที่ยืดหยุ่น สร้างแอปพลิเคชันที่ดีกว่า เร็วกว่า มีความปลอดภัย และทำให้แอพพลิเคชันใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด”

นิค กล่าวว่า ความสำเร็จในยุคเศรษฐกิจแอปพลิเคชันนี้ จะต้องทำการเชื่อมโยงผลิตภัณฑ์ที่มีให้ตรงกับความต้องการของลูกค้า เชื่อมโยงลูกค้ากับการใช้งานแอปฯ ในอุปกรณ์ต่างๆ และเชื่อมโยงบริษัทองค์กรหน่วยงานต่างๆ ให้เข้ากับระบบทำงานกับพาร์ตเนอร์อีกด้วย โดย API จะเป็นตัวตั้งสำคัญในการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบจิตอลและเป็นศูนย์กลางประสานงานสำคัญที่ช่วยให้การเชื่อมต่อต่างๆ เป็นไปได้อย่างรวดเร็วถูกต้องแม่นยำและมีความปลอดภัย จนนำไปสู่บริการที่มีคุณภาพได้ในที่สุด

Related Posts