สดช.พร้อมลุยศูนย์ต้นแบบ วิลเลจอี-คอมเมิร์ซ 300 แห่งทั่วประเทศ

สดช.พร้อมลุยศูนย์ต้นแบบ วิลเลจอี-คอมเมิร์ซ 300 แห่งทั่วประเทศ

สดช.เตรียมรีโนเวตศูนย์ดิจิตอลชุมชนสู่หมู่บ้านชุมชนพาณิชยอิเล็กทรอนิกส์ หรือ วิลเลจอี-คอมเมิร์ซ เบื้องต้นเลือกศูนย์ดูมีอนาคตก่อน 300 แห่ง มาพัฒนาให้สามารถขยายตลาดสินค้าที่ขายในท้องถิ่นให้กระจายสู่โลกอีคอมเมิร์ซได้อย่างเต็มรูปแบบ ตั้งเป้ามีร้านค้าออนไลน์ 4,500 ร้านค้า มูลค่าการซื้อขายทะลุ 200 ล้านบาทกลางปีหน้า

นางวรรณพร เทพหัสดิน ณ อยุธยา เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) ในกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า สดช.ได้ทำการเปิดตัวโครงการต้นแบบหมู่บ้านชุมชนพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (วิลเลจ อี-คอมเมิร์ซ) ภายใต้โครงการศูนย์ดิจิตอลชุมชน ที่ขณะนี้พัฒนาได้แล้วเสร็จ 2,280 แห่งกระจายอยู่ทุกภูมิภาคในประเทศ โดยการนำร่องการยกระดับศูนย์นั้น สดช.จะเลือกศูนย์ต้นแบบที่มีศักยภาพ 300 แห่ง มาพัฒนาก่อน

ทั้งนี้เดิม สดช.ถูกตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม (ฉบับที่ 17) พ.ศ. 2559 และได้ทำหน้าที่เกี่ยวกับการยกระดับศูนย์ดิจิตอลชุมชนด้วย เนื่องสำนักเดิมที่ดูแลเรื่องศูนย์ดิจิตอลชุมชนถูกโอนย้ายมาอยู่ภายใต้การทำงานของสดช. โดยโครงการนี้เป็นการยกระดับศูนย์ไอซีทีชุมชนที่เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2550 มาสู่ศูนย์ดิจิตอลชุมชน

“โครงการมีเป้าหมายในการยกระดับศูนย์ดิจิตอลชุมชน ให้เป็นศูนย์บ่มเพาะและสนับสนุนการทำการค้าออนไลน์สำหรับชุมชน พัฒนาวิทยากร E-Commerce ชุมชน จำนวน 600 ราย ถ่ายทอดความรู้ให้ผู้ประกอบการชุมชน เกษตรกร ในท้องถิ่น จำนวน 6,000 ราย ให้มีร้านค้าออนไลน์ 4,500 ร้านค้า อีกทั้งการผลักดันให้เกิดมูลค่าการซื้อสินค้าสูงถึง 200 ล้านบาท ภายในกลางปี 2561”

ภายในศูนย์ต้นแบบจะประกอบด้วย 1.การเป็นศูนย์ฝึกอบรม (เทรนนิ่ง เซ็นเตอร์) การใช้งานดิจิตอล 2. เป็นศูนย์รวมของบริการอี-เซอร์วิส , อี-คอมเมิร์ซ และการใช้งานอย่างเต็มรูปแบบของบริการดิจิตอล และ 3.เป็นศูนย์ที่พัฒนาเป็นโค-เวิร์ดกิ้ง สเปซ สามารถสร้างผู้ประกอบการหน้าใหม่ สตาร์ทอัพรายย่อยจากชุมชนได้

วิลเลจอี-คอมเมิร์ซ

นางวรรณพร กล่าวว่า โครงการดังกล่าวถือเป็นการสร้างความพร้อมให้กับภาคประชาชน เพื่อสร้างการรับรู้และใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีดิจิทัล โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการชุมชนที่มีสินค้าดีและมีคุณภาพ แต่ขาดโอกาสในการขายให้กับลูกค้านอกพื้นที่ชุมชน จึงต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยลดปัญหาดังกล่าว โดยมีวิทยากรดูแลผู้ประกอบการชุมชน ให้สามารถแก้ไขปัญหาได้สำเร็จ รวมไปถึงสามารถขอคำปรึกษาและสนับสนุนได้จากศูนย์บ่มเพาะที่จัดตั้งขึ้น

สำหรับงบประมาณในการดำเนินโครงการ สดช. ใช้งบประมาณ 61 ล้านบาท ซึ่งเป็นงบประมาณมาจากงบประมาณปีที่ผ่านมาของโครงการนี้ อีกส่วนหนึ่งคือการโยกงบประมาณมาจากโครงการเน็ตประชารัฐที่ยังใช้กรอบวงเงินที่กระทรวงมอบให้ไม่ถึงมาช่วยในโครงการนี้ด้วย เนื่องจากเป็นกิจกรรมที่ต่อเนื่องกัน ส่วนในระยะยาว สดช.จะสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนในการพัฒนาศูนย์ดิจิตอลชุมชนต่อไปให้แข็งแรงและยั่งยืน

นางวรรณพร กล่าวว่า ในส่วนของกิจกรรมส่งเสริมร้านค้าออนไลน์ให้กับชุมชนนั้น โครงการฯ ได้ร่วมกับ บริษัทไปรษณีย์ไทย จำกัด (Thailandpostmart.com) เทพช็อป (lnwshop.com) ไทยแลนด์มอล (Thailandmall.net)บริษัท พันธวณิช จำกัด (www.pantavanij.com) อ.ต.ก.(www.ortorkor.com) และกรมส่งเสริมสหกรณ์ (www.coopshopth.com) เพื่อให้คนในชุมชนสามารถนำสินค้าขึ้นไปอยู่บนร้านค้าออนไลน์ได้ฟรี โดยสมัครเข้าร่วมโครงการ และติดตามกิจกรรมต่างๆได้ที่เว็บไซต์ ecommerce.onde.go.th เฟซบุ๊ก @VillageecommerceTH

“สดช.ได้เก็บรวบรวมการใช้งานด้านอี-คอมเมิร์ซใน ธ.ค.2559 พบว่า ปัจจุบันจำนวนประชากรในไทยทั้ง 68.92 ล้านคน มีจำนวนผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 46 ล้านคน ในจำนวนดังกล่าวก็เป็นผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียด้วย สำหรับผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่มีจำนวน 90.94 ล้านเลขหมาย

หากมองในด้านการซื้อขายอี-คอมเมิรซ์มีการเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อหาข้อมูล 59% ซื้อจริง 51% ซื้อผ่านคอมพิวเตอร์พีซี-โน้ตบุ๊ค 29% ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ 41% จำนวนผู้ใช้อี-คอมเมิร์ซล่าสุด 17% เทียบกับจำนวนประชากรรวมทั้งประเทศ”

Related Posts