อสม.ออนไลน์ การเข้าถึงสาธารณสุขพื้นฐานที่รัฐควรเอาเยี่ยงอย่าง

อสม.ออนไลน์ การเข้าถึงสาธารณสุขพื้นฐานที่รัฐควรเอาเยี่ยงอย่าง
CSR อาจจะดูว่าเป็นโครงการที่เอกชนต้องทำเพื่อสร้างภาพลักษณ์ให้กับองค์กร หรือไม่ก็ทำแบบให้มันผ่านๆ ไปให้รู้ว่าทำ แต่ก็มี CSR หลายโครงการเช่นกัน ที่ทำแล้วประสบความสำเร็จ เพราะทำด้วยความตั้งใจจริงๆ ก่อให้เกิดประโยชน์กับกลุ่มเป้าหมายที่เข้าไปดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม และที่สำคัญยังตบหน้าหลายโครงการของภาครัฐที่เข้าไปทำในลักษณะเดียวกัน แต่เป็นเพียงผักชีโรยหน้าเพื่อของบประมาณประจำปี
“แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์” เป็นหนึ่งโครงการ CSR ของเอไอเอส ที่เรียกได้ว่าน่าจะเป็นการยกระดับระบบสาธารณะสุขชุมชน และช่วยให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนที่ห่างไกลโรงพยาบาลหลักดีขึ้นในระดับหนึ่ง ด้วยการใช้เทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการติดต่อสื่อสาร ทำให้เรื่องที่เคยคิดว่ายากเป็นเรื่องง่าย และสามารถอธิบายสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อชีวิตในวงกว้างได้อย่างรวดเร็ว
และที่สำคัญแอปฯ นี้ก็ไม่ใช่เรื่องใหม่หรือเพิ่งทำมา เพราะเอไอเอสได้ขยายการใช้งานแอป “อสม.ออนไลน์” ไปแล้วแล้วจำนวน 672 แห่งทั่วประเทศ และตั้งเป้าจนถึงสิ้นปี 1,000 แห่ง และไม่ใช่เพียงการขยายการใช้งานของแอปพลิเคชันเท่านั้น แต่เอไอเอสยังได้ขยายโครงข่ายมือถือเพื่อสร้างความครอบคลุมของสัญญาณ ให้ติดต่อสื่อสารได้อย่างไม่ติดขัด เพื่อสร้างประสิทธิภาพที่ดีขึ้นอย่างชัดเจน
thereporter.asia ได้เข้าไปร่วมติดตามการนำแอปฯ อสม.ออนไลน์ไปใช้งานในพื้นที่รพ.สต.บางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลนำร่องในจังหวัดพังงา และที่นี่เป็นผู้ที่ร้องขอให้เอไอเอสนำ แอปฯ อสม.ออนไลน์ มาใช้ในการทำงานสาธารณสุขชุมชน หลังจากได้ศึกษาการทำงานของแอปฯอสม.ออนไลน์และเห็นว่าน่าจะมีประโยชน์กับชุมชนที่มีอยู่
รพ.สต.บางทอง ก็เป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของหน่วยงานภาครัฐที่มีความตั้งใจ รู้ว่ามีอะไร ขาดอะไร และต้องการอะไร จึงได้เดินหน้าเข้ามาขอให้เอไอเอสเข้าช่วยเสริม ไม่ได้นั่งตบยุงลายรอรับการช่วยเหลือไปวันๆ หรือโพสต์ดราม่าเพื่อให้สังคมเห็นใจ โดยที่ตัวเองไม่กระดิกตัวทำอะไรเลย เหมือนอีกหลายๆ หน่วยงานท้องถิ่น
อสม.ออนไลน์
นางวิไล เคียงประดู่ ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการอาวุโส ส่วนงานประชาสัมพันธ์ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือเอไอเอส ย้อนประวัติให้ฟังว่า “แอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์”เป็นนวัตกรรมดิจิทัลเพื่อสังคมที่เอไอเอสพัฒนาให้กับหน่วยบริการสุขภาพระดับปฐมภูมิ อย่างโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) ได้นำไปใช้งานด้านสาธารณสุขชุมชนเพื่อให้ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อสังคมในเรื่องที่ต้องการอย่างแท้จริง
ภายใต้แนวคิด “Digital For Thais”ในด้านสาธารณสุข โดยเอไอเอสได้ทำงานร่วมกันกับ รพ.สต. อสม. และกระทรวงสาธารณสุขในการพัฒนาแอปพลิเคชันนี้ให้เกิดประโยชน์ต่องานด้านสาธารณสุข โดยแอปพลิเคชันนี้สามารถใช้งานได้ทุกเครือข่ายไม่จำเป็นต้องเป็นลูกค้าเอไอเอส แต่หากใช้งานเอไอเอสจะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในส่วนของการใช้งานดาต้า
ทั้งนี้ในส่วนของพื้นที่ภาคใต้ มีจำนวน 149 รพ.สต. ซึ่งรพ.สต.บางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา ถือเป็นรพ.สต.นำร่องในจังหวัดพังงา มีประชากรที่ต้องดูแลรับผิดชอบทั้งหมดประมาณ 3,300 คน 776 ครัวเรือน มีเจ้าหน้าที่รพ.สต 3 คน โดยมีเครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน(อสม.) จำนวน 72 คนที่ช่วยดูแลประชาชนในพื้นที่
นางรัชนี หนูเพชร ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล(รพ.สต.)บางทอง อำเภอท้ายเหมือง จังหวัดพังงา กล่าวว่า เดิมการติดต่อสื่อสารระหว่างรพ.สต.กับอสม.ใช้โทรศัพท์มือถือ อาจจะมีเครือข่ายสังคมออนไลน์อยู่บ้าง แต่พบปัญหาในเรื่องการใช้งานที่ยังไม่เฉพาะเจาะจง เพราะในบางครั้งก็มีการพูดคุยเล่นกัน ส่งสติ๊กเกอร์หากันจนไม่สามารถจับเนื้อหาสาระที่สำคัญได้ ทำให้หลายครั้งที่ อสม.พลาดข้อมูล ข่าวสารสำคัญที่รพ.สต.ส่งให้แก่ อสม.
“หลังจากที่รู้ว่าเอไอเอสมีการพัฒนาแอปพลิเคชัน อสม.ออนไลน์ เพื่อใช้เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ในการติดต่อสื่อสารระหว่างรพ.สต.กับ อสม.จึงได้ศึกษาการทำงานของแอปฯ อสม.ออนไลน์ และได้ติดต่อมาทางเอไอเอสเพื่อนำ แอปฯ อสม.ออนไลน์ มาใช้ในการทำงานสาธารณสุขชุมชน เนื่องจากเห็นถึงจุดเด่น และความแตกต่างของแอปฯอสม.ออนไลน์กับการใช้งานแชตด้านอื่นๆ”
เรียกได้ว่าเป็นแอปพลิเคชันที่พัฒนาขึ้นมาเพื่อการทำงานสาธารณสุขชุมชนอย่างแท้จริง และรพ.สต.เป็นผู้ที่สามารถบริหารจัดการข้อมูลผู้ใช้งาน และข้อมูลข่าวสารได้โดยตรง เพราะแอปฯ เน้นการทำงานที่เข้าถึงเฉพาะกลุ่ม มีการจัดเป็นหมวดหมู่ที่ชัดเจน และตรงกับการทำงานที่ทำอยู่
นางรัชนี กล่าวว่า หลังจากที่ได้นำมาใช้ ทำให้ รพ.สต.สามารถเข้าถึงข้อมูลในพื้นที่ชุมชนได้อย่างรวดเร็ว แม่นยำ ทันสถานการณ์ ผ่านแอปฯ อสม.ออนไลน์
ซึ่งถือเป็นสื่อกลางเชื่อมโยงงานระดับพื้นที่มาสู่รพ.สต.โดยการให้อสม.ส่งรายงาน ข่าวสาร ข้อมูล ภาพ เสียงหรือข้อความเหตุการณ์ความเคลื่อนไหวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชุมชนให้กับเจ้าหน้าที่รับทราบได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ถูกต้อง และกิจกรรมต่างๆ ในพื้นที่แจ้งกลับมายังรพ.สต.ผ่านทางแอปฯ อสม.ออนไลน์ได้ตลอดเวลา
ในทางกลับกันทางรพ.สต.ก็สามารถส่งข้อมูล ข่าวสารเรื่องสุขภาพที่สำคัญ เช่น การนัดรับวัคซีน แจ้งการให้บริการในคลินิกโรคเรื้อรัง การระบาดของโรคในพื้นที่ อาทิ โรคไข้เลือดออก ส่งไปยังอสม. ทุกคนเพื่อนำไปบอกต่อกับคนในครอบครัว หรือชาวบ้านในพื้นที่เพื่อจะได้ป้องกันและเฝ้าระวังสุขภาพของตัวเองได้อย่างทันท่วงที จึงช่วยลดช่องว่างในการติดต่อสื่อสารระหว่างรพ.สต.กับอสม.ในพื้นที่ ที่สำคัญทำให้ไม่พลาดการติดต่อในเรื่องข้อมูลด้านสุขภาพเหมือนในอดีตที่ผ่านมา
“เราได้เริ่มนำมาใช้ตั้งแต่เดือนมิ.ย.2560 แล้วค่อยๆ สอนการใช้งานกันอยู่เสมอ นอกจากนี้เราจัดให้มีอสม.ที่มีความรู้คอยถ่ายทอดและให้คำปรึกษาในการใช้งาน เนื่องจากเทคโนโลยียังเป็นสิ่งใหม่ ที่อสม.จำเป็นต้องเรียนรู้ ตอนนี้มีการใช้งานมากกว่า 90% แล้วซึ่งเราก็พบว่าได้ประโยชน์จริงๆ ประกอบกับการเป็นเมนูภาษาไทย ตัวหนังสือขนาดใหญ่ ชัดเจน และเป็นหมวดหมู่ไม่ซับซ้อน สอดคล้องกับการทำงานของอสม.”
นางมยุรา คันธานนท์ ประธานอสม.ตำบลบางทอง อ.ท้ายเหมือง กล่าวว่า อสม.ออนไลน์ เป็นแอปพลิเคชันที่ใช้งานง่ายไม่ซับซ้อน และเป็นเฉพาะเรื่องการทำงานสาธารณสุขเท่านั้น ต่างจากในอดีตที่ใช้การติดต่อสื่อสารแบบรวมทุกเรื่องไว้ในแอปฯ เดียวกัน ทำให้บางครั้งการสื่อสารอาจจะคลาดเคลื่อน ซึ่งแอปฯ นี้ ทำให้อสม.ไม่พลาดเรื่องสำคัญช่วยให้รับรู้ข้อมูลข่าวสารที่รวดเร็ว และเชื่อถือได้เพราะเป็นข้อมูลที่ส่งมาจากรพ.สต.โดยตรง สามารถนำข้อมูลที่ได้มาไปแจ้งบอกต่อกับคนในครอบครัว หรือคนในชุมชนที่ดูแลเพื่อเป็นการป้องกัน และเฝ้าระวังตนเองได้อย่างถูกวิธี
อสม.ออนไลน์
นอกจากนี้อสม.ยังนำแอปฯ อสม.ออนไลน์มาใช้ประโยชน์ในการส่งภาพกิจกรรมการลงพื้นที่ เช่นการออกเยี่ยมบ้านผู้ป่วยซึ่งจะช่วยให้เจ้าหน้าที่รพ.สต.สามารถติดตามอาการผู้ป่วยและให้คำแนะนำในการดูแลตนเองแก่ผู้ป่วยหรือผู้ดูแลผู้ป่วยในเบื้องต้นได้อย่างใกล้ชิด รวมไปถึงการส่งภาพการทำกิจกรรมร่วมกับเครือข่ายอื่นๆ ภายในชุมชนเพื่อเป็นการแจ้งรายงานให้กับเจ้าหน้าที่รพ.สต.และอสม.หมู่บ้านอื่นๆ ได้รับทราบไปพร้อมกัน
อีกทั้งในช่วงที่่ผ่านมายังได้ทำการลงพื้นที่ทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำยุงลาย เพื่อช่วยให้เจ้าหน้าที่รพ.สต.สามารถประเมินพื้นที่เสี่ยงในการป้องกัน และเฝ้าติดตามได้อย่างใกล้ชิดต่อการระบาดของโรคไข้เลือดออก
นายวิฤทธิ์ บุญเอิบ ผู้อำนวยการสำนักปฏิบัติการด้านเทคนิค-ภาคใต้ เอไอเอส กล่าวว่า ในพื้นที่ภาคใต้บริษัทฯมีการขยายติดตั้งสถานีฐานกว่า 5,400  จุดครอบคลุม ทั้ง 14 จังหวัด และมีแผนขยายเครือข่ายเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสสามารถติดต่อสื่อสารและเข้าถึงการใช้งานทั้งแบบเสียง และข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพในทุกพื้นที่ซึ่งครอบคลุมแล้วกว่า 98.72% ของพื้นที่มีประชากรอาศัยอยู่
รวมไปถึงยังเป็นการรองรับการทำงานด้านสาธารณสุข อย่างเช่นการใช้งานแอปฯ อสม.ออนไลน์ ซึ่งจำเป็นต้องใช้งานเปลี่ยนจากการสื่อสารผ่านเสียงเป็นการสื่อสารด้วยข้อมูลที่มีจำนวนมาก ซึ่ง อสม.ที่ใช้งานบนเครือข่ายเอไอเอสสามารถใช้งานแอปฯ ฟรีโดยไม่เสียค่าอินเตอร์เน็ต และตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2560 เป็นต้นไป เพียงกด*630#โทรออกก็จะสามารถใช้งานแอปฯอสม.ออนไลน์ฟรีที่ความเร็ว 1 Mbps ตลอดการใช้งาน เพื่อทำให้การทำงานของอสม. และรพ.สต.เต็มประสิทธิภาพมากขึ้น
แอปฯนี้ จึงน่าจะเป็นตัวอย่างของการทำ CSR ที่ก่อให้เกิดประโยชน์จริงๆ และทำได้ดี จนเกิดความคิดขึ้นมาว่า การที่จะขยายโครงข่ายอินเทอร์เน็ตที่เข้าถึงรากหญ้าหรือพื้นที่ห่างไกลที่ได้ผลดีนั้น ควรจะลดจำนวนการเก็บเงินเข้ากองทุน USO แล้วให้เอกชนนำเงินจำนวนนั้น ไปขยายการให้บริการอินเทอร์เน็ตในรูปแบบที่รัฐต้องการจะดีกว่า เพราะเอกชนน่าจะทำได้ดีและมีประสิทธิภาพมากกว่า
เนื่องจากมีความพร้อมทั้งด้านเครื่องมือและอุปกรณ์ ดีกว่าให้หน่วยงานภาครัฐเข้าไปดำเนินการเอง ซึ่งไม่รู้ว่าจ่ายไป 100 จะใช้ในโครงการจริงๆ กี่บาท และชาติไหนถึงจะเสร็จตามที่ตั้งเป้าหมายไว้

Related Posts