กสทช.จัดประชุมขยายผลหนุนสังคมไร้เงินสด

กสทช.จัดประชุมขยายผลหนุนสังคมไร้เงินสด
กสทช. เดินหน้าสร้างความรู้ความเข้าใจระบบบการเงินยุคดิจิทัล ล่าสุดจัด NBTC International Symposium on Digital Financial Inclusion รวมตัวรัฐและเอกชนเข้าร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เผยบางประเทศเตรียมยกเลิกการใช้เงินสดแล้ว
ในขณะที่บางประเทศก็มีการใช้เงินดิจิทัลมากกว่า 80% ส่วนไทยได้มีการทำธุรกรรมการเงินผ่านมือถือสูงถึง 45% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
พล.อ.อ.ธเรศ ปุญศรี ประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กสทช. กล่าวว่า กสทช.ได้จัดประชุมเชิงวิชาการระดับนานาชาติ 2017 (NBTC International Symposium on Digital Financial Inclusion) ขึ้น
เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องการรวมรวมระบบการเงินในยุคดิจิทัล รวมถึงการพัฒนาการใช้เทคโนโลยีเพื่อช่วยให้การทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์มือถือให้มีความปลอดภัยและสร้างความมั่นใจให้ผู้ใช้มากขึ้น
โดยประชุมดังกล่าวได้เชิญหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งสถาบันการเงิน ผู้แทนประเทศสมาชิกอาเซียน และตัวแทนสถานเอกอัครราชทูตประเทศสมาชิกอาเซียนในประเทศไทยได้รับทราบนโยบายในเรื่องการรวมระบบการเงิน ที่หลากหลายในระดับโลก
และมีวิทยากรจากภายในประเทศและต่างประเทศมาร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ อาทิ สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU อาจารย์จากมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในสวีเดน ผู้บริหารจาก True Money, VISA, Alipay และบริษัท DOCOMO ของประเทศญี่ปุ่น
“ปัจจุบันจำนวนผู้ใช้บริการธนาคารทางอินเทอร์เน็ตเพิ่มจำนวนมากขึ้นถึง 14 ล้านบัญชี และธนาคารบนมือถือมีมากกว่า 19 ล้านบัญชี โดยมีการเติบโตของการทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่เฉลี่ยสูงถึง 45% และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง”
ด้านนายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า สำนักงานได้ร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ ธนาคารแห่งประเทศไทยด้านบริการพร้อมเพย์ รวมไปถึงกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี
ในการจัดให้มีโทรศัพท์พื้นฐานในพื้นที่ชนบทห่างไกลที่ยังไม่มีการเข้าถึง หรือมีข้อจำกัดในการเข้าถึง เพื่อรองรับการก้าวเข้าสู่ความเป็นสังคมดิจิทัล ซึ่งจะนำไปสู่การทำธุรกรรมทางการเงินด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ได้ในอนาคต
ปัจจุบันหลายประเทศได้ให้ความสำคัญและใช้งานระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ในรูปแบบต่างๆ อย่างเช่นในสวีเดนมีการใช้งานบัตรเดบิตเป็นหลักและเตรียมเลิกใช้เงินสดในปี 2573 ส่วนสิงคโปร์มีการใช้งานบัตรเดบิตและการชำระเงินผ่านมือถือสูงถึงร้อยละ 80 ของการใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
เช่นเดียวกับโซมาเลียและเคนย่าซึ่งเป็นประเทศกำลังพัฒนา ก็ได้มีการชำระเงินผ่านมือถือแล้ว ทำให้คนที่ไม่มีบัญชีธนาคารสามารถโอนเงินและชำระค่าสินค้าและบริหารผ่านมือถือ แทนการใช้บริการกับทางธนาคารโดยตรง
ด้านนายแชซุป ลี (Chaesub Lee) ผู้อำนวยการภาคมาตรฐานโทรคมนาคม จากสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ไอทียู (ITU) กล่าวว่า การใช้แอปพลิเคชันเข้ามาช่วยจัดการด้านการเงิน จะช่วยให้ทุกอย่างสะดวกและง่ายมากขึ้น
ดังจะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาหลายประเทศได้มีการใช้  e-money และ Mobile Money มาสนับสนุนการใช้เงินด้วยดิจิทัล เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้อย่างเท่าเทียมและลดอัตราการใช้เงินสด
โดยระบบนี้จะช่วยการกระตุ้นผู้ใช้เกิดการทำธุรกรรมมากขึ้น และภาครัฐเองก็เข้าถึงข้อมูลได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รวมไปถึงสถาบันการเงินเองก็จะสามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์การใช้จ่ายเพื่อนำมาตัดสินใจให้สินเชื่อ และช่วยลดต้นทุนได้ค่อนข้างมาก
ทั้งนี้การใช้เงินด้วยระบบดิจิทัลจะช่วยสร้างสภาพคล่องทางการเงิน ทำให้หลายประเทศนำมาใช้กับการจ่ายบำนาญให้กับข้าราชการ
อย่างเช่นในเคนย่า มีผู้ใช้ Mobile Money ถึง 14 ล้านราย คิดเป็นอัตราถึง 24% ของ GDP ของประเทศ สามารถเข้าถึงบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ได้ทั้งประเทศ ซึ่งสรุปแล้วในสังคมไทยเองก็ควรที่จะลดการใช้เงินสดลงและเพิ่มการทำธุรกรรมด้วยดิจิทัลมากขึ้น

Related Posts