จับตา AAE-1 เคเบิ้ลใต้น้ำ สายเมนอินเทอร์เน็ตโลก ขึ้นชุมสายที่ไทย

จับตา AAE-1 เคเบิ้ลใต้น้ำ สายเมนอินเทอร์เน็ตโลก ขึ้นชุมสายที่ไทย

AAE-1 จะทำให้เส้นทางการเขื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเปลี่ยนทิศ ไทยได้เปรียบด้วยชัยภูมิที่ตั้งช่วยลดระยะทางได้กว่า 1,000 กม. ผ่านวิธี Land Bridge ดันทีโอทีคว้าจุดชุมสายเคเบิ้ลใต้น้ำเมนหลักอินเทอร์เน็ตโลกขึ้นที่ปากน้ำบารา จังหวัดสตูล พร้อมวางตัวประเทศไทยเป็นฮับของภูมิภาค เชื่อมต่อสู่โลกออนไลน์

ด้วยเงินลงทุน 1,700 ล้านบาท ร่วมกับอีกกว่า 17 ประะเทศ รองรับการเชื่อมต่อกว่า 40 ล้านล้านบิตต่อวินาที ครอบคลุมเอเชีย แอฟฟริกาและยุโรป เพียงพอต่อการใข้งานไปถึงปี 2563 ด้วยอัตราการใช้งานที่เพิ่มขึ้นทุกปีกว่า 65%

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กล่าวว่า การลงทุนร่วมกับต่างประเทศในการสร้างเคเบิ้ลใต้น้ำสายเมนครั้งนี้มีทั้งหมด 3สาย โดยแบ่งเป็นส่วนของ AAE-1 ที่เชื่อมต่อ 3 ทวีป ซึ่งเริ่มจากยุโรป แอฟริกา และเอเชียเข้าไว้ด้วยกัน และจะมีการขึ้นเป็นขุมสาย เพื่อเชื่อมต่อไปยังประเทศฮ่องกงและสิงคโปร์อีก 2 สาย ผ่านทางบกหรือที่เรียกว่า Land Bridge บนแผ่นดินไทย ทำให้ประเทศไทยกลายเป็นฮับของภูมิภาคในเชิงโครงสร้างการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตไปในทันที

ครั้งนี้นับเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ของการเชื่อมต่อสายเมน เนื่องจากชัยภูมิของไทยที่ช่วยร่นระยะทางของการวางสายอ้อมมาเป็นการเชื่อมต่อบนบกแทนทำให้ลดระยะทางได้กว่า 1,000 กิโลเมตร โดยความจุของสายทั้งระบบจะสามารถรองรับได้กว่า 40 Terabits โดยจะให้ความเร็วเต็มสปีดของสายที่ 40 Tbps

หากเทียบในปัจจุบันที่มีความต้องการใช้การเชื่อมต่อผ่านเคเบิ้ลใต้น้ำเพิ่มขึ้นราว 65% ต่อปี คาดว่าจะสามารถรองรับการใช้งานได้ถึงราวปี 2563 และนอกจากนั้นเคเบิ้ลเส้นนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสให้ไทยกลายเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อของภูมิภาค สู่โลกกว้างในอนาคต เพราะเคเบิ้ลสายนี้เป็นสายเมนที่ไทยจะสามารถบริหารจัดการได้มากขึ้น สามารถเก็บค่าการเชื่อมต่อได้อย่างสมบูรณ์มากขึ้น

นายมนต์ชัย หนูสง กรรมการผู้จัดการใหญ่ ทีโอที กล่าวว่า การเชื่อมต่อครั้งนี้ สร้างโอกาสให้ประเทศไทย นอกจากจะเป็นการพลิกประวัติศาสตร์ที่แต่เดิมเราได้ใช้เพียงสายย่อยของภูมิภาคเท่านั้น เคเบิ้ลเส้นนี้จะเป็นส่วนสำคัญที่จะผลักดันให้ประเทศไทยได้มีโอกาสบริหารการเชื่อมต่อและมีรายได้จากการจัดการเชื่อมต่อนี้ ไม่ต่างจากปะเทศสิงคโปร์ ฮ่องกงหรือมาเลเซียที่เคยทำมาในอดีต

แม้ว่าในช่วงเริ่มต้นนี้ เราจะเปิดใช้การเชื่อมต่อได้เพียงบางส่วนเท่านั้น โดยจากฝรั่งเศสมีความจุที่ 2.5 Terabits สิงคโปร์ที่ความจุ 2.5 Terabits และฮ่องกงที่ความจุ 2.4 Terabits โดยคิดเป็นความจุรวม 7.4 Terabits

ซึ่งนำมาบวกรวมกับของเดิมที่เรามีการเชื่อมต่อผ่านสายย่อยอีกกว่า 15 Terabits ทำให้เรามีความจุเพียงพอไปอีก 2-3 ข้างหน้า แต่หากอนาคตความจุไม่เพียงพอก็จะสามารถเพิ่มได้เต็มความจุของท่อที่วางไว้นั่นก็คือ 40 Terabits

AAE-1

การเชื่อมต่อครั้งนี้ ยังเปิดโอกาสให้ประเทศไทยกลายเป็นศูนย์กลางอินเทอร์เน็ตของภูมิภาค โดยประเทศไทยจะเป็นผู้ให้บริการวงจรเชื่อมต่อออกสายย่อย และการเชื่อมต่อโหนดใหญ่ของระบบสายเมนในพื้นที่จังหวัดสตูลแห่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะสามารถจูงใจให้ประเทศรอบข้างเปลี่ยนมาใช้เคเบิ้ลเส้นนี้ได้ ด้วยระยะทางของสายที่น้อยลงทำให้ความเร็วของการส่ง-รับข้อมูลมีความรวดเร็วเพิ่มขึ้นด้วย

ทั้งนี้สายเคเบิ้ลใต้น้ำสายนี้เป็นความร่วมมือกันกว่า 18 ประเทศ ด้วยระยะทางรวมกว่า 2.5 หมื่นกิโลเมตร เดินสายเกือบทั้งหมดอยู่ในทะเล โดยเริ่มเชื่อมต่อมาตั้งแต่ ฝรั่งเศส อิตาลี กรีก อียิปต์ ซาอุดิอาระเบีย เยเมน อินเดียและวิ่งตรงเมนหลักเข้าสู่ประเทศไทย ขณะที่อีก 2เส้นที่มาบรรจบที่สตูลจะวิ่งมาจากสิงคโปร์ และประเทศฮ่องกง ซึ่งมีประเทศไทยเป็นชุมสายเชื่อมต่อ

โดย AAE-1 ใช้เทคโนโลยีไฟเบอร์ออปติก ความเร็วต่อลำแสง 100 Gbps เดินพร้อมกัน 80 ลำแสงต่อท่อ ด้วยจำนวนสายทั้งหมด 5ท่อ แบ่งเป็นสายหลัก 4 ท่อและสำรอง 1 ท่อ รองรับความจุรวมของระบบกว่า 40 Terabits และคิดเป็นการลงทุนรวมกว่า 27,000 ล้านบาท โดยประเทศไทยลงทุนร่วมด้วย 1,700 ล้านบาทเท่านั้น

Related Posts