หากพูดถึงอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส หรือ AWS คนอาจจะไม่ค่อยรู้จักนัก แต่หากพูดถึง อะเมซอนดอทคอม ทุกคนที่เป็นฝั่งผู้บริโภคมักจะนึกถึงตลาดอีคอมเมิร์ซขนาดใหญ่ ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งแม้ว่าการเริ่มต้นของธุรกิจอะเมซอน จะเริ่มต้นจากเว็บขายหนังสือที่รวบรวมต้นฉบับจากทั่วโลกมารวมขายแบบเล่มและแบบอีบุ๊คผ่านเว็บ amazon.com แต่อะเมซอนไม่ได้ขายเพียงเท่านั้น
ยังขายบริการระบบหลังบ้านสำหรับให้ผู้ขายสินค้าได้บริหารจัดการ และเพิ่มยอดขายตามกลยุทธ์ที่ตั้งไว้ได้อย่างสะดวกมากขึ้น และที่สำคัญยังมีระบบโครงสร้างเทคโนโลยี (Infrastructure) คลาวด์ ที่มีความยืดหยุ่นสูง และกลายเป็นบริการที่สำคัญของธุรกิจอะเมซอน ภายใต้ชื่อ อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ที่ทำให้มูลค่าหุ้นถีบตัวสูงขึ้นได้อย่างเหลือเชื่อ
ความน่าสนใจอยู่ที่วิธีคิดและรูปแบบสร้างธุรกิจให้เติบโตในแบบของ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส ที่เชื่อว่า ทุกอย่างเราจัดการเองไม่ได้ทั้งหมด ต้องปล่อยให้คนเก่งรายอื่นๆเข้ามาทำแทนดีกว่า และก็ทำให้เทคโนโลยีของ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส กลายเป็น API แบบเปิดที่ใครๆก็สามารถเข้ามาพัฒนาและต่อยอดได้อย่างอิสระ
แน่นอนว่าแนวคิดเช่นนี้ไม่ใช่เรื่องปกติที่จะเกิดขึ้นกับบริษัทเทคโนโลยี เพราะสินทรัพย์ที่สำคัญของบริษัทเหล่านี้ก็คือ ข้อมูล API ซึ่งถือว่าเป็นสินทรัพย์ที่สำคัญ ซึ่งสามารถต่อยอดและพัฒนาได้ไม่สิ้นสุดนั่นเอง
แล้วทำไม AWS ถึงนำความลับของบริษัทออกมาเปิดเผยอย่างหมดเปลือก
Thereporter.asia ได้มีโอกาสสนทนากับ ดร.ชวพล จริยาวิโรจน์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย อะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด ในแง่มุมของวิสัยทัศน์ของ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส ว่า เทคโนโลยีเป็นเรื่องที่กว้างมากขึ้น การเปิดโอกาสให้ผู้ที่เก่งและสร้างสรรค์เข้ามาช่วยพัฒนา ได้อย่างอิสระ จะทำให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีเติบโตได้แบบก้าวกระโดด และอะเมซอนก็เชื่อว่า เมื่อผู้ใช้เกิดความประทับใจแล้ว การใช้งานที่เพิ่มขึ้นในระยะยาวจะเป็นส่วนที่ทำให้ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส เติบโตขึ้นอย่างยั่งยืนในอนาคต
เรื่องนี้ถูกขยายความด้วยงานแถลงข่าวด้านอสังหาริมทรัพย์ล่าสุดที่ อะเมซอนจับมือกับพาร์ทเนอร์อย่างเดลิเทค ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทำระบบคำสั่งเสียงภาษาไทย เพื่อสร้างแพลตฟอร์มการใช้งานคำสั่งเสียงให้กับแสนสิริ ภายใต้โค้ดเนมว่า “แสนสิริเอไอบล็อก” ซึ่งจะกลายเป็นเหมือนผู้ช่วยภายในบ้านให้กับผู้อยู่อาศัย ไม่ว่าจะเป็นการเช็กอุณหภูมิ เช็กจดหมาย เช็กการจราจร ตลอดจนการสั่งซื้อสินค้าและเปิด-ปิดระบบไฟฟ้าภายในบ้านได้อย่างสะดวก เพียงการสั่งงานด้านเสียงเท่านั้น
ซึ่งจะสังเกตเห็นว่า การพัฒนาดังกล่าวแม้ว่าจะทำงานบนโครงสร้างคลาวด์ของ AWS แต่กระนั้นผู้พัฒนากลับเป็นพาร์ทเนอร์อย่างเดลิเทคที่เป็นผู้พัฒนาแพลตฟอร์มที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้าน โดยต่อยอดมาจากแพลตฟอร์มของ Lex ซึ่งเป็น AI ของอะเมซอนที่เคยพัฒนาออกมาเป็นลำโพง Alexa ที่สามารถตอบโต้ผู้ใช้งานได้อย่างเป็นธรรมชาติ แต่เป็นเพียงเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษเท่านั้นให้กลายเป็นภาษาไทย
ความเปิดเผยของ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส สะท้อนให้เราเห็นว่า เดลิเคท สามารถดึง API ของ Alexa มาพัฒนาและต่อยอดได้อย่างอิสระ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส กล่าวยืนยันมาตลอดว่า สิ่งนี้เป็นเรื่องจำเป็นของการต่อยอดเทคโนโลยี เพราะท้ายที่สุดแล้ว การพัฒนาเทคโนโลยีจะไม่ถูกย้อนกลับและตั้งต้นใหม่เสมอเหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับบริษัทที่มี API แบบปิดบัง และโลกจะเกิดนักพัฒนาที่สร้างสรรค์ระบบใหม่ขึ้นมาอย่างรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม
“สิ่งที่ AWS เราเชื่อเสมอคือ การสร้างความไร้ขีดจำกัดให้กับลูกค้า ซึ่งในที่นี้ก็จะหมายถึงนักพัฒนาที่จะสามารถเลือกใช้เคริ่องมือที่มีให้อย่างมากมาย บริการที่ยืดหยุ่น ตลอดจน API ที่มีให้เลือกแบบครบครัน เพื่อต่อยอดโซลูชั่นใหม่ๆให้กับลูกค้าของตนเอง และวางขายในมาเก็ตเพลสของอะเมซอนต่อไป ซึ่งแม้ว่าบริการบางส่วนของอะเมซอนจะถูกใช้น้อยลง แต่ในระยะยาวแล้ว เมื่อลูกค้าใช้งานได้อย่างมีประโยชน์ ปริมาณการใช้ก็จะเพิ่มขึ้น และนั่นก็ทำให้บริการใหม่ๆของเราได้ก้าวขึ้นเป็นบริการอันดับหนึ่งอย่างรวดเร็ว”
แน่นอนว่า บริการของ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส เป็นระบบคลาวด์ล้วนๆ ที่ไม่ได้จำกัดสถานที่ตั้งของเซิร์ฟเวอร์ และไม่จำกัดการใช้งานขั้นต่ำ แต่ด้วยบริการคลาวด์ความมั่นใจด้านความปลอดภัยของระบบเป็นเรื่องสำคัญที่ลูกค้าจะต้องเชื่อมั่น ซึ่งก็ได้รับการยืนยันจากอะเมซอน เว็บ เซอร์วิสเซส ประเทศไทย ว่าระบบคลาวด์ทั้งหมด นอกจากจะได้รับการรับรองจากทุกสำนักแล้ว นโยบายความปลอดภัยขั้นสูงสุด ยังถูกวางเป็นขั้นตอนที่ 0 ก่อนการเริ่มงานระบบทุกครั้ง ซึ่งหมายความว่า อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส จะก้าวเดินล้ำหน้าเรื่องมาตรฐานความปลอดภัยที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก่อนเสมอ
จะเห็นได้ว่าแนวคิดของการแบ่งปัน และยอมให้มีผู้อื่นเข้ามาใช้ทรัพยากรที่สำคัญของบริษัทเทคโนโลยี แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เราไม่ค่อยจะเห็นในบริษัทเทคโนโลยีที่มีลิขสิทธิ์ถือครองอยู่มากมายก็ตาม แต่ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส ก็ก้าวข้ามการถือครอง และเปิดกว้างให้นักพัฒนาที่ต้องการนำไปต่อยอด สามารถเข้ามาใช้บริการได้อย่างอิสระ จวบจนสามารถสร้างบริการและมูลค่าของหุ้นให้เติบโตได้อย่างรวดเร็ว
ซึ่งแม้ว่าตอนนี้ Thereporter.asia จะยืนยันไม่ได้ว่าสิ่งที่ อะเมซอน เว็บเซอร์วิสเซส ทำเป็นสิ่งที่ดีที่สุดหรือไม่ แต่วันนี้เชื่อแน่ว่าการเปิดเผย API เพื่อให้เกิดการต่อยอด เป็นเทรนด์ของการแบ่งปันที่อยู่ในกระแสและได้รับความนิยมอย่างเห็นได้ชัด และยิ่งดูตัวเลขของมูลค่าหุ้นที่เติบโตแนวตั้ง สวนกระแสเศรษฐกิจที่ซบเซา แถมพ่วงด้วยอันดับบริการที่ติดโผความนิยมอย่างรวดเร็ว ก็ยิ่งเชื่อแน่ว่าเทรนด์ของการแบ่งปัน เป็นมากกว่าเทรนด์ของประเทศใดประเทศหนึ่งไปแล้วจริงๆ