CAT ซุ่มทำโปรเจ็กต์ IoT รองรับสมาร์ทซิตี้

CAT ซุ่มทำโปรเจ็กต์ IoT รองรับสมาร์ทซิตี้
เห็นอยู่เงียบๆ ไม่ใช่ว่าจะหายใจทิ้งไปวันๆ กับ CAT หรือ กสท โทรคมนาคม ที่ล่าสุดมีโครงการใหม่นำคลื่นความถี่ย่าน 920 – 925 MHz มาให้บริการโครงข่ายสื่อสาร IoT ภายใต้เทคโนโลยี LoRa
โดยขณะนี้ได้มีการทดลองใช้งานจริงแล้ว พร้อมกับการพัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการด้าน IoT เพื่อให้ผู้สนใจสามารถต่อยอด IoT Application ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว
ปัจจุบันคลื่นความถี่ในย่าน 920 – 925 MHz นั้น ยังไม่ได้มีการใช้งาน และมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้งานที่เกี่ยวข้องกับ IoT ดังนั้น กสท จึงได้ขอใบอนุญาตการทดลองใช้ความถี่สำหรับ LoRaWAN และได้รับอนุญาตเพื่อมาทดลองใช้กับการดำเนินงานศูนย์นวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (IoT City Innovation Center) ที่ กสท ได้ร่วมมือกับคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ความร่วมมือนี้เพื่อพัฒนาระบบนิเวศน์นวัตกรรมบนพื้นฐานเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ในการนำเครือข่ายอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้สำหรับส่งข้อมูลจากการตรวจวัดคุณภาพทางอากาศได้แบบเรียลไทม์
ดร.ณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บมจ. กสท โทรคมนาคม (CAT) กล่าวว่า การนำร่องการติดตั้งเครื่องเซ็นเซอร์ดังกล่าวนั้น จะนำไปติดตั้งในสถานที่ที่มีอาจารย์ บุคลากร และนิสิตใช้งานจำนวนมาก อาทิ ห้องสมุดคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาฯ อาคารเรียน
เพื่อนำข้อมูลดังกล่าวมาวิเคราะห์คุณภาพทางอากาศและปรับแก้ เพื่อให้พื้นที่นั้นได้รับอากาศที่สะอาด นอกจากนี้ยังเป็นแบบอย่างให้สถานที่อื่นๆ ใช้เป็นต้นแบบ เพื่อการพัฒนาคุณภาพอากาศในอาคาร
การนำร่องดังกล่าวเป็นการใช้ประโยชน์จากชุดเซ็นเซอร์ตรวจวัดอากาศขนาดเล็ก บูรณาการร่วมกับระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ตในการส่งข้อมูลแบบเรียลไทม์สู่ระบบ Cloud
และการพัฒนาแอปพลิเคชัน สำหรับแสดงผลและแจ้งเตือนค่าคุณภาพอากาศที่ตรวจวัดได้ให้แก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ใช้พื้นที่ได้รับทราบ เพื่อวางแผนและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้น
นอกจากนี้ CAT ได้ทำการติดตั้งแพลตฟอร์มสำหรับการพัฒนาแอปพลิเคชันและบริการด้าน IoT (IoT Service and Application Development Platform) ที่รองรับการทำงานร่วมกับโครงข่าย LoRaWAN และโครงข่ายอื่นๆ
เช่น 3G, 4G ซึ่งแพลตฟอร์มนี้จะช่วยให้อาจารย์ นักศึกษา และผู้ที่สนใจสามารถพัฒนา IoT Application ได้อย่างสะดวกและรวดเร็ว ซึ่งความร่วมมือดังกล่าวจะร่วมสร้างสังคมไทยก้าวสู่สมาร์ทซิตี้ และเพิ่มคุณภาพชีวิตของคนไทยในอนาคต
CAT
ดร.ณัฏฐวิทย์ กล่าวว่า นอกจากการนำร่องในโครงการดังกล่าวแล้ว CAT ได้ทดลองให้บริการ IoT ภายใต้เทคโนโลยี Lora สำหรับโครงสร้างพื้นฐานหลักๆในเขตพื้นที่จังหวัดภูเก็ต กรุงเทพฯ ชลบุรี
และมีแผนที่จะนำคลื่นความถี่ย่าน 920 – 925 MHz จำนวน 5 MHz ให้บริการโครงข่ายสื่อสาร IoTภายใต้เทคโนโลยี Lora ที่คาดว่าจะเปิดให้บริการเฟสแรกได้ในปีหน้า
เบื้องต้นคาดว่าใช้งบลงทุน ประมาณ 100 ล้านบาท เพื่อขยายโครงข่ายให้ครอบคลุมจังหวัดหลักในแต่ละภูมิภาคภายในปี 2561 และจะขยายโครงข่ายได้ครอบคลุมทั่วประเทศในปี 2562 ซึ่งคาดว่าจะใช้งบประมาณมากกว่า 100 ล้านบาท
การดำเนินการดังกล่าวจะทำให้ CAT จะเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย ติดตั้งโครงข่าย รวมไปถึงการนำโซลูชัน และอุปกรณ์นำมารวมกัน และเปิดให้นักพัฒนาเข้ามาออกแบบคิดค้นผลงานร่วมกันเพื่อต่อยอดการใช้งาน โดยเน้นกลุ่มลูกค้ากลุ่มแรกเป็นหน่วยงานราชการ
“โครงข่าย LoRaWAN นี้ เป็น Low Power Wide Area Network (LPWAN) รูปแบบหนึ่ง ซึ่งออกแบบมาให้ประหยัดพลังงานและส่งข้อมูลที่ความเร็วต่ำ จึงเหมาะสำหรับเซ็นเซอร์ต่างๆและอุปกรณ์ที่ทำงานโดยใช้แบตเตอรี่  โดยที่การใช้เทคโนโลยี LoRa สามารถทำให้อายุแบตเตอรี่ของอุปกรณ์อยู่ได้นานถึง 10 ปี”
นอกจากจุดเด่นด้านการประหยัดพลังงานดังกล่าวแล้ว ข้อดีของโครงข่าย LoRaWAN ยัง Coverage ได้ไกลถึง 10 – 15 กิโลเมตรจาก Gateway ทั้ง Gateway และ Chipset สำหรับการพัฒนาอุปกรณ์มีราคาที่ถูก เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีอื่น เช่น 3G และง่ายต่อการใช้งาน เนื่องจากมีสถาปัตยกรรมที่ไม่ซับซ้อน
ดร.ณัฏฐ์วิทย์ กล่าวว่า สำหรับการให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ my ปัจจุบันมีลูกค้าที่ใช้บริการ my มีอยู่ประมาณ 2 ล้านราย โดยคาดว่าภายในสิ้นปีจะมีลูกค้าเพิ่มเป็น 2.2 ล้านราย และจะสามารถทำรายได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ 2,500 ล้านบาท หลังจากที่ช่วง 9 เดือนที่ผ่านมามีรายได้กว่า 1,700 ล้านบาท
“ในปีหน้า CAT จะเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดจากเดิมที่ใช้โฆษณาเป็นจำนวนมาก มาเป็นการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (โซเซียลมีเดีย) ในการทำตลาดมากขึ้น รวมไปถึงจะมีการทำแพคเกจใหม่ๆ เพื่อให้บริการแก่ลูกค้าเพิ่มมากขึ้น
อย่างการเพิ่มโปรโมชันให้ลูกค้าที่เปิดใช้บริการสามารถใช้โครงข่ายได้ทั้งระบบ 3G และ 4G ที่ใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ 100 Mbps บนโครงข่ายย่านความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) และ 2100 MHz ที่มีโครงข่ายครอบคลุม 77 จังหวัดทั่วประเทศ เป็นต้น”
ทั้งนี้ที่ผ่านมาลูกค้ามีความสนใจย้ายค่ายเบอร์เดิม มาเป็นลูกค้า my มีจำนวนเพิ่มขึ้นประมาณเดือนละ 50,000 ราย
เรียกได้ว่าแม้จะไม่ค่อยมีข่าวหวือหวาให้เห็นกันบ่อยๆ แต่ถ้าให้ดูตามเนื้องานจริงๆ แล้วก็เรียกได้ว่าการพัฒนาบริการของ CAT ก้าวหน้าไปกว่าที่คิดไว้เยอะเลยทีเดียว และเป็นการก้าวที่น่าสนใจมากๆ

Related Posts