มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เผย ช็อกโกแลต เกือบทุกยี่ห้อ พบ ‘ตะกั่ว และ/หรือ แคดเมียม’ ปริมาณตะกั่วไม่เกินมาตรฐาน เรียกร้อง อย. ทำมาตรฐานแคดเมียม แนะหากบริโภคผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมช็อกโกแลตบ่อยครั้ง มีความเสี่ยงต่อสุขภาพ
นางสาวสารี อ๋องสมหวัง บรรณาธิการบริหาร นิตยสารฉลาดซื้อ แถลงข่าวผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ได้แก่ แคดเมียม และ ตะกั่ว ในช็อกโกแลต 19 ตัวอย่าง ที่เป็นที่นิยมในตลาดทั้งผลิตในประเทศและนำเข้า โดยสุ่มเก็บตัวอย่างในเดือนสิงหาคม – กันยายน 2560 แบ่งเป็น ดาร์กช็อกโกแลต จำนวน 10 ตัวอย่าง และช็อกโกแลตประเภทอื่น ๆ อีก 9 ตัวอย่าง
ผลการทดสอบมีเพียงตัวอย่างเดียว ที่ไม่พบตะกั่วและแคดเมียมเลย คือ ลินด์ สวิส คลาสสิค ไวท์ ช็อกโกแลต (Lindt Swiss Classic White Chocolate) ขณะที่อีก 18 ตัวอย่างพบการปนเปื้อนของตะกั่วและ/หรือแคดเมียม โดยเมื่อเทียบกับค่ามาตรฐานตะกั่ว ทั้งในและต่างประเทศ พบว่าผ่านเกณฑ์มาตรฐานทุกตัวอย่าง แต่ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดมาตรฐานการปนเปื้อนสารแคดเมียม
โดยพบตัวอย่างที่ปนเปื้อนดังนี้
- พบการปนเปื้อนทั้งแคดเมียมและตะกั่ว จำนวน 8 ตัวอย่าง ได้แก่
- ลินด์ เอ็กเซลเลนท์ ดาร์ก 85% โกโก้ (Lindt Excellence Dark 85% Cocoa)
- ทอปเบอโรน (Toblerone) ดาร์ก ช็อกโกแลต ผสมน้ำผึ้งและอัลมอนด์ นูกัต
- เบอรีล 80% คาเคา ดาร์กช็อกโกแลต (Beryle’s 80% CACAO dark Chocolate coklat hitam)
- กีเลียน เบลเจี้ยน ช็อกโกแลต ดาร์ก 72% (GuyLian Belgian Chocolate Dark 72%)
- ริตเตอร์ สปอร์ต 50% โกโก้ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Ritter Sport 50% Cocoa Dark chocolate with fine cocoa from papua new Guinee)
- ล็อกเกอร์ ดาร์ก-นอร์ ((Loacker Dark-Noir) (Dark Chocolate with cocoa cream filling and crispy wafer))
- เฮอร์ชี่ ดาร์ก ช็อกโกแลต (Hershey’s Dark chocolate)
- คินเดอร์ บูเอโน่ ดาร์ก ลิมิเต็ด อีดิทชั่น (kinder Bueno Dark limited Edition)
- พบการปนเปื้อนเฉพาะแคดเมียมจำนวน 10 ตัวอย่าง ได้แก่
- ลอตเต้ กานา แบล็ค ช็อกโกแลต เอ็กตร้า โกโก้ (Lotte Ghana Black Chocolate Extra cocoa)
- เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl’s Almond)
- ยูไนเต็ด อัลมอนด์ ไวท์ แอนด์ ดาร์ก ช็อกโกแลต (UNITED Almond White Chocolate & Dark Chocolate)
- ล็อตเต้ กานา เอ็กตร้า คาเคา แบล็ค (LoTTE Ghana Extra Cacao Black)
- มอรินากะ ดาร์ส ดาร์ก ช็อกโกแลต (morinaga DARS dark chocolate)
- เนสท์เล่ คิทแคท (nestle KitKat) ช็อกโกแลตนมสอดไส้เวเฟอร์
- โนเบิลไทม์ (NOBLE TIME)
- เฟอเรโร รอชเชอ (Ferrero Rocher) ช็อกโกแลตนมผสมเกล็ดเฮเซลนัทสอดไส้ครีมและเฮเซลนัท
- ทวินช็อกฮาร์ท (TWIN-CHOCK HEART)
- เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk) (ดูผลทดสอบละเอียดในนิตยสารฉลาดซื้อ)
“ในต่างประเทศ ผลการทดสอบขององค์กร As You Sow ที่ทดสอบพบช็อกโกแลต 18 ยี่ห้อดัง มีตะกั่วหรือแคดเมียมในระดับอันตราย ซึ่งสร้างความวิตกกังวลให้กับคนที่ชอบกินช็อกโกแลตเป็นอย่างมาก ยิ่งช็อกโกแลตมีปริมาณโกโก้แมส* มาก ก็ยิ่งเสี่ยงที่จะพบโลหะหนักทั้งสองชนิดดังกล่าวมากขึ้น”
ทั้งนี้ศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ ได้สุ่มทดสอบช็อกโกแลตยี่ห้อดังในตลาด เพื่อเป็นข้อมูลให้กับผู้บริโภคว่าช็อกโกแลตยี่ห้อไหนมีความปลอดภัยต่อผู้บริโภค และมากน้อยเพียงใด เพราะปัจจุบันสินค้าเหล่านี้วางขายทั่วไปแม่แต่ร้านสะดวกซื้อซึ่งสามารถเข้าถึงได้โดยง่าย” (อ้างอิง)
“แม้ว่าจะไม่มีตัวอย่างใดพบการตกค้างตะกั่วจนเกินค่ามาตรฐาน แต่จากการอ่านฉลากพบว่า มี 2 ตัวอย่างที่ไม่มีการแสดงฉลากเป็นภาษาไทย และไม่มีการแสดงเลขสารบบอาหาร ได้แก่ เบอรีล อัลมอนด์ (Beryl’s Almond) และ เฮอร์ เว่ย แดรี่ มิลค์ (HER WEI Dairy Milk) ซึ่งทั้งสองตัวอย่างผลิตในประเทศมาเลเซีย
ทั้งนี้ การไม่แสดงฉลากภาษาไทยเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 6 (10) และมีโทษตามมาตรา 51 ของ พ.ร.บ. อาหาร พ.ศ. 2522 คือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท ส่วนการไม่แสดงเลขสารบบอาหาร มีความเป็นไปได้ว่านำเข้าอาหารเพื่อจำหน่ายโดยไม่ได้รับอนุญาต (มาตรา 15) ซึ่งมีบทลงโทษคือ มีโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินสามหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (มาตรา 53)
นางสาวมลฤดี โพธิ์อินทร์ นักวิชาการด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า “การปนเปื้อนของโลหะหนักในผลิตภัณฑ์อาหารไม่สามารถทำลายได้ด้วยความร้อน ซึ่งประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) ซึ่งได้กำหนดให้ปริมาณสารตะกั่วที่ตรวจพบในช็อกโกแลตต้องไม่เกิน 1 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม (มก./กก.) แต่หากเป็นช็อกโกแลตชนิดไม่หวาน ตรวจพบได้ไม่เกิน 2 มก./กก. แต่สำหรับแคดเมียมในช็อกโกแลตนั้น ประเทศไทยยังไม่มีการกำหนดเกณฑ์เอาไว้”
“แม้ว่าผลทดสอบการปนเปื้อนโลหะหนัก 2 ชนิด ในช็อกโกแลตดังกล่าวจะไม่เกินเกณฑ์มาตรฐาน แต่สารโลหะหนักเหล่านี้สามารถสะสมในร่างกายได้ ดังนั้นผู้บริโภคยังคงต้องระมัดระวังการบริโภคอาหารที่มีส่วนผสมของช็อกโกแลต ซึ่งยังคงมีความเสี่ยงต่อสุขภาพหากรับประทานในปริมาณมากหรือบ่อยครั้ง โดยเฉพาะในเด็กที่อ่อนไหวเป็นพิเศษต่อสารปนเปื้อนโลหะหนัก”เรื่องของปริมาณโกโก้ในช็อกโกแลต
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข ฉบับที่ 83 (พ.ศ. 2527) เรื่อง ช็อกโกแลต ได้กำหนดคุณภาพและมาตรฐานเฉพาะของช็อกโกแลตแต่ละชนิดเอาไว้ สำหรับช็อกโกแลตนม ซึ่งเป็นชนิดของช็อกโกแลตที่เราเลือกสุ่มเก็บมาเป็นตัวอย่างในการตรวจวิเคราะห์ครั้งนี้ มีการกำหนดคุณภาพไว้ว่าต้องมีปริมาณโกโก้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 25 ของปริมาณช็อกโกแลต โก้โกปราศจากไขมันไม่น้อยกว่าร้อยละ 2.5 มีธาตุน้ำนมไม่รวมมันเนยไม่น้อยกว่าร้อยละ 10.5 และต้องมีน้ำตาลไม่เกินร้อยละ 55
แต่ที่อยากฝากไว้เป็นข้อสังเกตของคนที่ชอบช็อกโกแลตก็คือ เมื่อดูปริมาณส่วนประกอบทั้งหมดในผลิตภัณฑ์ช็อกโกแลตนั้นยังมีส่วนประกอบที่เป็นน้ำตาล เพราะฉะนั้นถ้าหากรับประทานมากๆ ย่อมส่งผลเสียต่อสุขภาพแน่นอน ปริมาณแคลอรีของพลังงานจากการกินอาหารที่เหมาะสมต่อร่างกายใน 1 วันคือ 1,600 – 2,000 กิโลแคลอรี และเราไม่ควรบริโภคน้ำตาลมากเกินไป
ซึ่งตามที่นักโภชนาการแนะนำคือ ไม่ควรเกิน 24 กรัม/วัน หรือ 6 ช้อนชา/วัน เพราะน้ำตาลเป็นคาร์โบไฮเดรตประเภทหนึ่งที่ให้พลังงานแก่ร่างกาย โดยหากเราบริโภคมากเกินไป สามารถเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ ได้ เช่น โรคอ้วนหรือฟันผุ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ รวมทั้งโรคไขมันในเลือดสูงได้ นอกจากนี้ช็อกโกแลตมีสารคาเฟอีนด้วย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้คนติดช็อกโกแลต
ด้านคุณอัฏฐพร ฤทธิชาติ เจ้าหน้าที่เทคนิคและวิชาการ มูลนิธิบูรณะนิเวศ การได้รับสารตะกั่วและสารแคดเมียม ในระยะยาวจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพ โดยเฉพาะในกลุ่มทารกในครรภ์และเด็ก ซึ่งสารโลหะหนักทั้ง 2 ชนิดนี้จะส่งผลเสียหายต่อการเจริญเติบโตของระบบประสาทและพัฒนาการทางสมองของเด็กที่คล้ายกัน
กล่าวคือ ทำให้ระดับสติปัญญาด้อยลง ผลการเรียนตกต่ำ สมาธิสั้น และก้าวร้าว และก่อให้เกิดผลกระทบต่อระบบอื่น ๆ ของร่างกายด้วย เช่น ระบบสืบพันธุ์ ตับ ไต และระบบการสร้างเม็ดเลือด
ส่วนด้านการก่อให้เกิดโรคมะเร็ง องค์การวิจัยโรคมะเร็งนานาชาติ (IARC) ซึ่งเป็นหน่วยงานหนึ่งขององค์การอนามัยโลก กำหนดให้แคดเมียมเป็นสารก่อมะเร็งในมนุษย์ โดยมีหลักฐานยืนยันว่าทำให้เกิดมะเร็งปอด และมีหลักฐานอย่างจำกัดว่าทำให้เกิดมะเร็งที่ไตและต่อมลูกหมาก และกำหนดให้สารประกอบของตะกั่วเป็นสารที่น่าจะก่อให้เกิดมะเร็งในมนุษย์
ทั้งนี้ สารตะกั่วและแคดเมียมถูกนำมาใช้ในอุตสาหกรรมหลายประเภท จึงก่อให้เกิดการปนเปื้อนในสิ่งแวดล้อมและการดูดซึมสารโลหะหนักของพืชได้ ดังนั้น การควบคุมการปล่อยมลพิษจากแหล่งกำเนิดอย่างเข้มงวด จึงเป็นอีกทางหนึ่งที่จะช่วยลดความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นกับแหล่งอาหารของเราได้