ปลัด กระทรวงดิจิทัลฯ เดินหน้านโยบายหลัก เร่งภารกิจสำคัญ ผลักดันทุกภาคส่วนใช้ประโยชน์ “เน็ตประชารัฐ” พัฒนาคุณภาพชีวิตตามเป้าหมายรัฐบาล หนุนแผนการจัดทำศูนย์ข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ บิ๊กดาต้า เป็นฐานพัฒนาประเทศ พร้อมสานต่อกฎหมายดิจิทัลให้มีผลบังคับใช้เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านสังคมสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรม
นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยว่า นโยบายเร่งด่วนที่จะต้องดำเนินการหลังเข้ารับตำแหน่งปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ อย่างเป็นทางการ คือ การเร่งรัดโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ หรือ “เน็ตประชารัฐ”
ให้มีการติดตั้งเสร็จสมบูรณ์เป็นไปตามกรอบเวลาที่กำหนด และผลักดันให้ประชาชนทุกภาคส่วนได้ใช้ประโยชน์ตามเจตนารมณ์ของรัฐบาล ซึ่งต้องการให้ขับเคลื่อนประเทศสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเป็นหัวใจสำคัญในการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ลดความเหลื่อมล้ำของคนในประเทศ
“เจตนารมณ์ของการดำเนินการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศ เพื่อต้องการสร้างประโยชน์และลดความเหลื่อมล้ำระหว่างคนในเมืองกับคนในชนบท ทำให้เกิดประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรมใน 4 ด้านหลัก คือ e-Commerce ที่คนในชุมชนสามารถจำหน่ายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์ สร้างรายได้เพิ่มให้กับคนในชุมชน”
ด้าน e-Health ระบบการแพทย์ทางไกล โดยใช้อินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในการสื่อสารเพื่อบริการทางการแพทย์ระหว่างโรงพยาบาลที่มีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ กับศูนย์การแพทย์ห่างไกล หรือโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่มีข้อจำกัดในการรักษาผู้ป่วย
ด้าน e-Education ทำให้เยาวชนในพื้นที่ห่างไกลได้เข้าถึงการใช้อินเทอร์เน็ต สร้างความเท่าเทียมในการเรียนรู้ของเยาวชนทั่วประเทศ และด้าน e-Government ทำให้ชุมชนท้องถิ่นสามารถบูรณาการระหว่างหน่วยงาน
โดยมีชุมชนและประชาชนเป็นศูนย์กลาง ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นจริง” ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ กล่าว
นอกจากเรื่อง “เน็ตประชารัฐ” แล้ว ยังมีเรื่องของการจัดทำฐานข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ หรือ บิ๊กดาต้า (Big Data) ที่มีความสำคัญเป็นอย่างมาก หากการจัดทำศูนย์ข้อมูลดังกล่าวสำเร็จจะสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการพัฒนาประเทศได้อย่างมหาศาล
ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลโดยนายกรัฐมนตรี ได้เร่งรัดการจัดทำฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของประเทศ โดยมอบนโยบายให้กระทรวงดิจิทัลฯ และสำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) เป็นเจ้าภาพหลักในการประสานงานกับกระทรวงต่างๆ ที่มีการจัดเก็บข้อมูลของประชาชน
ซึ่งมีกระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานกลาง เบื้องต้นให้มีการประสานข้อมูลกันเพื่อความสะดวกในการให้บริการแก่ประชาชน และนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายที่มีความจำเป็นสำหรับการพัฒนาประเทศ
โดยได้มอบแนวทางผลักดันหน่วยงานในสังกัดกระทรวงดิจิทัลฯ เช่น สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ เป็นต้น เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดทำศูนย์ข้อมูลดังกล่าว
ซึ่งต้องทำงาน ในลักษณะ 4.0 โดยจัดเก็บข้อมูลต่างๆ จากภาครัฐ มาใช้ประโยชน์ให้มากที่สุด เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศ และให้หน่วยงานภาครัฐสามารถนำข้อมูลไปวิเคราะห์ประกอบการทำงานด้านต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
“นอกจากที่กล่าวมา เรื่องข้อกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจของกระทรวงดิจิทัลฯ ซึ่งอยู่ระหว่างดำเนินการในขั้นตอนต่างๆ นับเป็นเรื่องที่ต้องสานต่อให้สามารถบังคับใช้ได้ในระยะเวลาอันใกล้ เพื่อให้การดำเนินงานตามโครงการต่างๆ ของภาครัฐเป็นไปอย่างราบรื่น ภายใต้ข้อกำหนดกฎหมายที่ชัดเจน”
โดยปัจจุบันมีกฎหมายหลายฉบับที่ยังอยู่ระหว่างการจัดทำร่าง ซึ่งกฎหมายทุกฉบับต้องเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม และโดยยึดหลักสากลเป็นสำคัญ