เปิดความฝันของโรงพยาบาล อยากได้อะไรใน 3-5 ปีข้างหน้า

เปิดความฝันของโรงพยาบาล อยากได้อะไรใน 3-5 ปีข้างหน้า
ในขณะที่ปัญหาสุขภาพและการรับบริการจาก โรงพยาบาล ของคนไทยยังมีปัญหา ล่าสุดก็มีข่าวเพิ่มเงินประกันสังคมด้วยการอ้างข้อมูลสาระพัด ทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง
แต่ยังมีเรื่องดีที่ในอีกมุมหนึ่งก็มีความพยายามที่จะยกระดับคุณภาพชีวิตและสาธารณสุขให้ก้าวไปอีกขั้น
ผลการสำรวจของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า (DEPA) ใน “โครงการการสำรวจข้อมูลการใช้ซอฟต์แวร์ในภาคอุตสาหกรรมหลัก ประจำปี 2559 (ภาคสุขภาพ)” พบว่า สิ่งที่หน่วยงานด้านการบริการสุขภาพต้องการเห็นในอีก 4 ถึง 5 ปี ข้างหน้านั้นคือ การสร้างระบบฐานข้อมูลกลาง (Centralization) เพื่อแบ่งปันข้อมูลร่วมกัน
นอกจากนี้ในมุมมองของโรงพยาบาลยังต้องการให้เกิดรูปแบบการให้บริการแบบ “Patient-centered medicine” หรือการให้บริการที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยให้ผู้ป่วยมีการเคลื่อนที่น้อยที่สุด
การจะทำให้เกิดการให้บริการรูปแบบนี้ได้จำเป็นต้องมีระบบซอฟต์แวร์ และไอทีที่มีประสิทธิภาพ อาทิ ระบบการนัดหมายแพทย์ที่รวดเร็ว โดยอาจนำโมบายแอปพลิเคชันเข้ามาช่วยมากขึ้น
จากปัจจุบันที่ได้เริ่มมีการทำในลักษณะช่องคีออสที่คนไข้สามารถที่ตรวจสอบสิทธิ รวมทั้งตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลได้ด้วยตัวเอง
นอกจากนี้จากการสำรวจพบว่า ความฝันของ โรงพยาบาล ไทยยังไกลไปถึงการให้บริการแบบ Homecare หรือการพัฒนาและการนำเทคโนยีดิจิทัลเข้ามาใช้ในภาคการบริการด้านสุขภาพ
ซึ่งในอนาคตจะสามารถช่วยให้คนไข้ได้รับบริการสาธารณสุขจากที่บ้านได้ รวมทั้งสามารถดูแลตัวเองได้โดยใช้เครื่องมือ Wearable Device ที่เชื่อมต่อเข้ากับเซิร์ฟเวอร์ หรือ คลาวด์ของ โรงพยาบาล
เพื่อได้รับการดูแลจากบุคลากรทางการแพทย์ได้โดยไม่ต้องมาโรงพยาบาลหากไม่จำเป็น หรือ มีระบบแจ้งเตือน (alert) เตือนไปยังญาติ หรือบุคลากรทางการแพทย์ที่ดูแลอยู่ได้หากเกิดกรณีฉุกเฉิน ทำให้สามารถดูแลรักษาได้ทันท่วงที
ดร.กษิติธร ภูภราดัย รองผู้อำนวยการ กลุ่มยุทธศาสตร์และบริหาร สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่าโครงการนี้ได้ทำการสำรวจข้อมูลทั้งในด้านการใช้งานซอฟต์แวร์ และการส่งผ่านข้อมูลระหว่างหน่วยงานรัฐ และกลุ่มโรงพยาบาลทุกขนาด
เพื่อให้ทราบและเข้าใจถึงแนวโน้มความต้องการในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้าเกี่ยวกับซอฟต์แวร์ในการสร้างและบริหารจัดการข้อมูลคนไข้ที่ต้องส่งต่อกันระหว่างผู้ให้บริการ ผู้จ่ายเงิน และผู้ควบคุมดูแล
รวมไปถึงยังเป็นการต่อยอดไปสู่การรูปแบบการให้บริการที่จะช่วยให้ประชาชนสามารถติดต่อกับหน่วยงานราชการที่เกี่ยวเนื่องกับการรักษาพยาบาลผ่านทางออนไลน์ หรือโมบาย โดยไม่จำเป็นต้องเดินทาง
“ดีป้าให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการที่ประเทศไทยควรจะต้องเร่งพัฒนาความพร้อมทั้งในแง่ของระบบและในแง่ของทรัพยากรให้ทันต่อยุคเศรษฐกิจดิจิทัลที่วิ่งไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว จึงต้องศึกษาให้เข้าใจเพื่อการวางแผนทั้งในระยะสั้น และระยะยาวให้มีประสิทธิผลสูงสุด เนื่องจากเทคโนโลยีมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา”
ดร.กษิติธร กล่าวว่า ดีป้ามุ่งเน้นการเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทยด้านสุขภาพ และบริการสุขภาพในรูปแบบที่หลากหลายผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อมอบการให้บริการที่สะดวก และทันสมัยให้กับประชาชน และบุคลากรทางการแพทย์ และเพื่อประสิทธิภาพการให้บริการด้านสาธารณสุขที่เพิ่มสูงขึ้
โดยจะพิจารณาถึงประโยชน์ ความคุ้มค่า และประสิทธิภาพในการใช้งานและการให้บริการ
โดยที่ผ่านมาดีป้าได้โครงการส่งเสริมการใช้งานระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล
ซึ่งเป็นโครงการต่อเนื่องฯ ของดีป้า ที่มุ่งเน้นการดำเนินการพัฒนาและเชื่อมโยงข้อมูลสารสนเทศจากระบบปฏิบัติการโรงพยาบาล:  Hospital Information System หรือ HIS มาสู่ประชาชนและบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งสามารถแสดงผล (Output) ข้อมูลประวัติสุขภาพในรูปแบบเว็บเซอร์วิสและแอปพลิเคชัน บนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่หลากหลาย
บนแพลตฟอร์มต่าง ๆ ผ่านฐานข้อมูลกลางที่ออกแบบให้รองรับโครงสร้างข้อมูลในแต่ละจังหวัดให้สามารถแสดงผลอย่างถูกต้อง
“ระบบระเบียนสุขภาพดังกล่าวต้องการให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นประชาชน บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุขต่าง ๆ สามารถใช้ประโยชน์จากระบบระเบียนสุขภาพอิเล็กทรอนิกส์ส่วนบุคคล (Personal Health Record: PHR)”
“ซึ่งมุ่งเน้นการขยายฐานจำนวนประชาชนใช้งานระบบให้มากที่สุด ทั้งในส่วนของการแสดงผลข้อมูลและบันทึกข้อมูล ซึ่งจะส่งผลให้ฐานข้อมูลระบบ PHR มีฐานที่ใหญ่ขึ้น สามารถนำมาใช้ในการวิเคราะห์และออกนโยบายการสาธารณสุขร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ”
ทั้งนี้ผลที่ได้จากโครงการวิจัยนี้จะสามารถนำไปต่อยอดการนำเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้เพื่อผลักดันการให้บริการด้านสุขภาพที่สะดวก รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นในอนาคต สอดคล้องกับนโยบายของดีป้า
ที่จะช่วยส่งเสริมและสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมด้วยนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีดิจิทัลไปใช้ให้เกิดประโยชน์และยกระดับคุณภาพชีวิตในทุกมิติ ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจและสังคมดิจิทัลอย่างยั่งยืนเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ดร.กษิติธร กล่าว
ความฝันและแนวคิดของบรรดาโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งหมดนี้ถือว่าเป็นสิ่งที่ดี เช่นเดียวกับความพยายามต่อยอดของดีป้าเองก็น่าสนับสนุนให้ดำเนินต่อไปจนสำเร็จ
เพราะนอกจากจะเป็นผลงานชิ้นโบแดงให้กับดีป้าได้แล้ว ยังช่วยยกระดับการรักษาสุขภาพของคนไทยให้ก้าวหน้าไปอีกระดับ แม้จะไม่รู้ว่าด้วยระบบแบบเดิมๆ ของราชการไทย และปัญหาคอรัปชันที่ยังแฝงตัวอยู่ในทุกอนูของระบบการทำงานแบบไทยๆ จะทำให้ไปถึงฝั่งฝันไหม

Related Posts