ไม่น่าแปลกใจเลยที่พ่อค้าพรินเตอร์อย่าง เอปสัน จะเริ่มรุกตลาดหุ่นยนต์แขนกลในเมืองไทยอย่างจริงจัง เพราะมีความแปลกใจมากกว่าเมื่อรู้ว่า ไทยเป็นประเทศที่ใช้หุ่นยนต์เป็นอันดับ 8 ของโลก อันดับ 5 ในเอเชีย รองจาก จีน เกาหลี ญี่ปุ่น ไต้หวัน และยังเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน
คุ้นเคยกับการตอกย้ำความเป็นเบอร์ 1 ในตลาดอิงค์เจ็ตพรินเตอร์ จนไม่เคยรู้ว่าแบรนด์เอปสันก็เป็นผู้ผลิตนาฬิกา เช่นเดียวกับธุรกิจการผลิตหุ่นยนต์แขนกล ที่มีการทำตลาดมาแล้วกว่า 36 ปี และในวันนี้ก็พร้อมที่จะบุกตลาดเมืองไทยอย่างจริงจัง หลังจากที่ขายให้กับธุรกิจต่างๆ ในไทยมาแล้วถึง 20 ปี
คำตอบของคำถามที่ว่า ทำตลาดมาตั้ง 20 ปี แล้วทำไมต้องมารุกตลาดอย่างจริงจังตอนนี้ ยรรยง มุนีมงคลทร ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอปสัน (ประเทศไทย) จำกัด ตอบว่า ด้วยการประกาศนโยบาย ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาลทำให้หลายอุตสาหกรรมเริ่มหันมาสนใจในการนำเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เข้ามาใช้เพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงาน เพิ่มผลิตผล และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ
รวมไปถึงมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนให้อุตสาหกรรมการผลิตและบริการภายในประเทศ นำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาใช้งานมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 50% สำหรับผู้ประกอบการที่ใช้หุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ เพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตและบริการ การสนับสนุนเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำจากเงินกองทุนพัฒนาเอสเอ็มอีตาม แนวประชารัฐ เพื่อปรับเปลี่ยนการผลิตเป็นหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และที่สำคัญกระทรวงการคลังจะยกเว้นภาษี เงินได้ 300%
“มาตรการต่างๆ ที่ภาครัฐสนับสนุนทำให้เอปสันมองเห็นช่องทางในการทำตลาด ด้วยความพร้อมของผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ สามารถนำเข้ามาทดแทนแรงงานคนได้ ทั้งในส่วนของงานที่ต้องทำซ้ำๆ ไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะ งานซ้ำซากจำเจ งานที่อันตราย และงานที่ไม่ก่อให้เกิดการพัฒนาของมนุษย์ ก็นำหุ่นยนต์เข้ามาแทนที่ อย่างเช่น งานประกอบ งานชิ้นส่วนขนาดเล็กที่ต้องใช้ความเที่ยงตรงแม่นยำมากๆ หุ่นยนต์สามารถเข้ามาทำหน้าที่แทนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตอบสนองการผลิตที่ต้องการผลผลิตปริมาณมากขึ้น และคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ”
ยรรยง กล่าวว่า ล่าสุดได้ร่วมมือกับ สถาบันไทย-เยอรมัน (TGI) เปิดศูนย์ นวัตกรรมหุ่นยนต์เอปสันมุ่งให้ความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีหุ่นยนต์แขนกลกับผู้ประกอบการไทยหรือ TGI – EPSON : Epson Robotics Innovation Center นับเป็นแห่งแรกที่ร่วมมือกับสถาบันผู้เชี่ยวชาญในเซาท์อีสเอเชีย ที่ทำในรูปแบบ“ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์เอปสัน” เพื่อจัดแสดงและทำการสาธิต พร้อมจัดคอร์สอบรมการใช้งานหุ่นยนต์แขนกลของเอปสันให้แก่ผู้สนใจทั้งบุคลากรจากโรงงานอุตสาหกรรม และจาก System Integrator
ส่วนในประเทศอื่นนั้นเอปสันเปิดเพียงโชว์รูมจัดแสดงเท่านั้น ส่วนที่นี่จะเป็นศูนย์ให้ความรู้การศึกษาเกี่ยวกับหุ่นยนต์ของเอปสัน เพราะหุ่นยนต์ยังเป็นเรื่องใหม่ที่ต้องทำความเข้าใจ ว่าจะช่วยเพิ่มผลผลิตได้ ประกอบกับสถาบันไทย-เยอรมันเป็นพันธมิตรที่เหมาะสม เพราะมีสมาชิกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมเป็นจำนวนมาก ซึ่งจะช่วยให้เอปสันสามารถต่อยอดธุรกิจไปได้อีกมาก
ทั้งนี้ที่ผ่านมาเอปสันได้พัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์มาอย่างต่อเนื่องนานกว่า 36 ปี และจำหน่ายไปยังกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมอย่างเช่น อเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น จีน และเกาหลี ส่วนในประเทศไทยหุ่นยนต์แขนกลของเอปสันมีใช้ใน โรงงานผลิตอย่างแพร่หลายกว่า 20 ปีแล้ว โดยมีลูกค้าหลักเป็นบริษัทข้ามชาติที่ขยายฐานการผลิตมายังประเทศไทย ซึ่งส่วนใหญ่บริษัทแม่ในต่างประเทศจะคุ้นเคยกับเทคโนโลยีของเอปสันเป็นอย่างดีอยู่แล้ว จึงเลือกใช้หุ่นยนต์ของเอปสันในโรงงานผลิตที่มีสาขาในประเทศไทยด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ตลาดหุ่นยนต์แขนกลของประเทศไทยยังมีขนาดเล็ก และมีแนวโน้มการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป การดูแลด้านการจัดจำหน่ายของเอปสันในตลาดประเทศไทยจึงยังอยู่ในการดูแลของสำนักงานภูมิภาคที่สิงคโปร์ แต่หลังการเปิดตัวโมเดลไทยแลนด์ 4.0 ตามด้วยอุตสาหกรรม 4.0 ของรัฐบาลทำให้วงการเทคโนโลยีหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเกิดการตื่นตัวขึ้นมาก เอปสัน ประเทศไทยจึงเข้ามาดูแลด้านการตลาดและการจัดจำหน่ายอย่างเต็มตัว
“ปัจจุบันโรงงานอุตสาหกรรมของไทยส่วนใหญ่ยังใช้ระบบ Manual มีเพียงราว 15% ที่เริ่มผสมผสานระบบอัตโนมัติเข้ารวมกับกระบวนการผลิต แต่ก็มีแนวโน้มการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งเป็นโรงงานขนาดใหญ่ใน 5 อุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานเหล็ก โรงงานผลิตภัณฑ์ยางและพลาสติก และการแปรรูป อาหาร”
ดังนั้นเอปสันจะเริ่มขยายตลาดไปยังกลุ่มโรงงานผลิตขนาดเล็กและขนาดกลางของคนไทย ควบคู่ไปกับการรักษาฐานลูกค้ากลุ่มบริษัทข้ามชาติในปัจจุบัน ซึ่งส่วนมากอยู่ในอุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โดยจะนำหุ่นยนต์แขนกลขนาดเล็ก 2 ประเภท คือ SCARA Robot และ 6-Axis Robot เข้ามาทำตลาด ได้แก่ รุ่น T3 SCARA Robot, LS-Series SCARA Robot และ C-Series compact 6-Axis robot
โดยหุ่นยนต์ดักล่าวเหมาะกับหลายอุตสาหกรรม ทั้งงาน ประกอบชิ้นส่วนอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ โรงงานผลิตเครื่องจักร ห้องปฏิบัติการอัตโนมัติ ไลน์การผลิตอุปกรณ์ทางการแพทย์ เซมิคอนดักเตอร์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม เป็นต้น ซึ่งหุ่นยนต์แขนกลทั้ง 3 รุ่นนี้ ยังสนับสนุนการใช้งานกับระบบ Vision ผ่านซอฟต์แวร์ Epson Vision Guide เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหุ่นยนต์ ให้สามารถรับรู้และแยกแยะประเภทของวัตถุ ตรวจสอบคุณภาพและรับรู้ตำแหน่งของวัตถุ ช่วยให้หุ่นยนต์หยิบจับ หรือประกอบชิ้นงานได้อย่างถูกต้องยิ่งขึ้น
ยรรยง กล่าวว่า สำหรับแผนการตลาดนั้น เอปสันได้เริ่ม ขยายเครือข่ายพันธมิตร ทั้งด้านการจำหน่าย การบริการหลัง การขาย การทำเทรนนิ่ง และการสนับสนุนผลิตภัณฑ์ โดยได้มีการแต่งตั้งตัวแทนจำหน่ายที่มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านหุ่นยนต์แขนกลและตลาดอุตสาหกรรมเพิ่มภายในปีนี้เพื่อบุกตลาดมากขึ้น โดยมีเป้าหมายที่โรงงานในอุตสาหกรรมยานยนต์ อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งนี้หุ่นยนต์ของเอปสันยังรองรับการพัฒนาระบบไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 โดยสามารถใช้งานผ่านทั้ง PC Base และ PLC Base มีระบบตรวจสอบความผิดพลาดภายในตัวเองและแจ้งเตือน ระยะเวลาการซ่อมบำรุงต่างๆ ทั้งยังมีซอฟต์แวร์ที่ใช้งานง่าย สนับสนุนการพัฒนาระบบ M2M (Machine to Machine) ทำให้หุ่นยนต์ของเอปสันสามารถส่งข้อมูลระหว่างเครื่องจักรหรือระบบมายังหุ่นยนต์ได้อย่างง่ายดาย
เอปสันจะทำงานร่วมกับพาร์ทเนอร์ที่เป็น Solution Provider และ System Integrator ในการออกแบบและพัฒนาโซลูชัน ให้ตรงกับประเภทและขั้นตอนของงานอย่างเฉพาะเจาะจง ตรงกับความต้องการของลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าสามารถผสมผสานการใช้งานหุ่นยนต์เข้ากับกระบวนการทำงาน ด้วยแรงงานคนที่มีอยู่ได้อย่างรวดเร็วและราบรื่น ข่วยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการผลิต ทั้งความเร็วและคุณภาพ
“เอปสันเน้นสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ โดยจัดคอร์ส อบรมให้แก่บริษัท โรงงาน และหน่วยงานต่างๆ ซึ่งเป็นเรื่องจำเป็นอย่างมาก เพราะเทคโนโลยีหุ่นยนต์ยังเป็นเรื่องใหม่และยังไม่แพร่หลายมากในกลุ่มผู้ประกอบการไทยโดยเฉพาะขนาดเล็กและขนาดกลาง นอกจากนี้มูลค่าในการลงทุนกับหุ่นยนต์อุตสาหกรรมและระบบอัตโนมัติค่อนข้างสูง และมีขั้นตอนการใช้งานที่ต้องอาศัยเวลาในการทำความเข้าใจ โดยจะโรดโชว์ในนิคมอุตสาหกรรม เพื่อแสดงให้เห็นถึงการแข่งขัน ซึ่งทีจีไอมีเครือข่ายอยู่แล้ว”
นอกจากนี้เอปสันจึงได้สร้างทีมพรีเซล เพื่อคอยให้คำปรึกษาเกี่ยวกับสินค้า ลักษณะงาน และขั้นตอนในการทำงาน การติดตั้ง และระบบการสั่งงานและควบคุม รวมถึงการให้ความช่วยเหลือ ทางเทคนิคในช่วงก่อนและระหว่างการติดตั้งหุ่นยนต์ให้แก่ลูกค้า และทีมบริการหลังการจำหน่ายที่จะคอยให้ความช่วยเหลือภายหลังการติดตั้ง สนับสนุนงานด้านการซ่อมบำรุง ศึกษาความต้องการเพิ่มเติมของลูกค้า และมีออนไซต์เซอร์วิส มีสแปร์พาร์ทในเมืองไทยที่จะซัพพอร์ตอะไหล่ได้ทันท่วงที
“หุ่นยนต์เราความแม่นยำเป็นจุดขาย มีความกระทัดรัดอยู่ในสายการผลิตได้ง่าย หุ่นยนต์แบ่งเป็น สกาลาโรบอต และแขนแบบ 6 แกน ที่ทำได้เหมือนมือมนุษย์ ซึ่งการวิจัยของเยอรมันพบว่าหุ่นยนต์จะช่วยให้ต้นทุนการผลิตลดลง ราคาต่อหน่วยลดลง เอปสันมองว่า 2-3 ปีข้างหน้าหุ่นยนต์จะเติบโตเป็นเท่าตัว โดยในปีนี้เอปสันนำหุ่นยนต์เข้ามา 3,600 ตัว เติบโตเพิ่มขึ้น 14% ส่วนในปี 2019 คาดว่าจะมากกว่า 4,500 ตัว โดยในปีหน้าคาดว่ารายได้จากหุ่นยนต์ประมาณ 5% ของรายได้รวม ”
สำหรับ T3 และ LS-Series SCARA Robot เป็นหุ่นยนต์แขนกลทำงานในแนวระนาบ เหมาะกับงานที่ต้องการความเร็ว และความแม่นยำสูง ใช้งานง่าย มีขนาดเล็กกระทัดรัดเหมาะกับการทำงานในพื้นที่จำกัด ขณะที่ C-Series compact 6-Axis Robot เป็นแขนกล 6 แกนหมุนอิสระ มีประสิทธิภาพสูง สามารถทำงานได้หลากหลาย ใกล้เคียง กับแขนคน มีความยืดหยุ่นและความเร็วสูง ทั้งยังใช้ระบบควบคุมการเคลื่อนไหว หรือ Quartz Micro Electro Mechanical System ช่วยลดความสั่นสะเทือนและเข้าถึงตำแหน่งได้อย่างรวดเร็ว