ไอบีเอ็ม จับมือกสิกรไทย เปิดโซลูชั่นชำระเงินข้ามสกุลทั่วโลกด้วยบล็อกเชน

ไอบีเอ็ม จับมือกสิกรไทย เปิดโซลูชั่นชำระเงินข้ามสกุลทั่วโลกด้วยบล็อกเชน
ไอบีเอ็ม เปิดตัวโซลูชันการชำระเงินข้ามประเทศระบบสากลผ่านบล็อกเชน หลังร่วมมือกับธนาคารชั้นนำของโลก รวมถึงธนาคารกสิกรไทย ในการพัฒนาขยายการใช้งานข้ามสกุลเงินทั่วโลก
ชี้โซลูชันดังกล่าวออกแบบมาเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ และลดต้นทุนการชำระเงินระหว่างประเทศทั่วโลกสำหรับกลุ่มธุรกิจและผู้บริโภค
โดยโซลูชันนี้เกิดขึ้นมาจากความต้องการลดภาระด้านการชำระเงินข้ามประเทศ ที่ปัจจุบันนอกจากจะมีราคาสูง ใช้เวลานาน และมักจะมีความผิดพลาดเกิดขึ้นเสมอ
รวมไปถึงการทำธุรกรรมข้ามสกุลเงินจะต้องผ่านตัวกลางหลายฝ่ายและใช้เวลาหลายวันจนถึงหลายสัปดาห์กว่าจะเสร็จสมบูรณ์ แต่ด้วยการชำระเงินผ่านบล็อกเชนช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการหักบัญชีและชำระเงินให้เกิดขึ้นได้ในเวลาเพียงไม่กี่วินาที ภายใต้เครือข่ายเดียวกัน
ด้วยโซลูชันใหม่นี้จะก่อให้เกิดผลดีกับประเทศในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ และเมื่อมีการใช้งานอย่างแพร่หลายโซลูชันนี้ก็จะสามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบการเคลื่อนย้ายเงินทั่วโลก ช่วยพัฒนาการทำธุรกรรมระหว่างประเทศในปัจจุบัน
และส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่ทันสมัยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา สอดคล้องกับรายงานของธนาคารโลกชี้ให้เห็นว่าการพัฒนารูปแบบการชำระเงินและการเข้าถึงแหล่งเงินจะนำไปสู่การไหลเวียนของสกุลเงินและการค้าต่างๆ
ซึ่งจะช่วยให้สามารถขยายบริการทางการเงินให้เข้าถึงคน 1 พันล้านคนทั่วโลกได้ภายในปี พ.ศ. 2563
ที่ผ่านมาไอบีเอ็มได้เริ่มมีการนำโซลูชันดังกล่าวมาใช้ในการทำธุรกรรมในเส้นทางสกุลเงิน 12 สกุล ทั่วหมู่เกาะแปซิฟิกและออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมถึงสหราชอาณาจักรแล้ว
โดยการใช้เอกสารบัญชีแบบกระจายศูนย์ (distributed ledger) ซึ่งจะช่วยให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าถึงและทราบสถานะของการทำธุรกรรมหักบัญชีและชำระดุลทางบัญชีที่เกิดขึ้นได้ทันที
อีกทั้งได้ร่วมกับกลุ่มธนาคารชั้นนำในการร่วมพัฒนาและนำโซลูชันนี้มาใช้ ประกอบด้วยธนาคารกสิกรไทย, ธนาคารบิลเบาวิซคายาอาร์เคนตาเรีย, ธนาคารดานามอน อินโดนีเซีย, ธนาคารแมนดิริ, ธนาคารเนการา อินโดนีเซีย, ธนาคารเพอร์มาตา, ธนาคารรัคยาต อินโดนีเซีย,
มิซูโฮ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป, ธนาคารแห่งชาติออสเตรเลีย, ธนาคารพาณิชย์ริซัล (RCBC) ฟิลิปปินส์, ซูมิโตโม มิตซุย ไฟแนนเชียลกรุ๊ป, ทีดีแบงค์ วิซดรอว์ (HK) แห่งเวิร์ลด์คอมไฟแนนซ์ และสถาบันการเงินอื่นๆ
“ความร่วมมือกับธนาคารต่างๆ นั้น เนื่องจากไอบีเอ็มต้องการค้นหาแนวทางใหม่ๆ ภายใต้คำแนะนำของสถาบันการเงินชั้นนำระดับโลกหลายแห่ง เพื่อพัฒนาให้เครือข่ายการชำระเงินมีประสิทธิภาพ ปลอดภัย และโปร่งใสมากยิ่งขึ้น”
“ส่งผลให้การทำธุรกรรมต่างๆ เป็นไปได้แบบเรียลไทม์ แม้ในพื้นที่ห่างไกลที่สุดของโลก” บริดเจ็ต แวน คราลินเก็น รองประธานอาวุโส ไอบีเอ็มอินดัสทรีแพลตฟอร์ม กล่าว
โดยโซลูชันนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มการไหลเวียนของเงินทั่วโลก สำหรับการชำระเงินทุกประเภท ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าใดก็ตาม อีกทั้งยังช่วยให้สถาบันการเงินสามารถเลือกเครือข่ายการชำระดุลที่ต้องการสำหรับการแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลาง
ทั้งนี้โซลูชันการชำระเงินข้ามประเทศระบบสากลผ่านบล็อกเชน ไอบีเอ็มได้ร่วมมือกับพันธมิตรด้านเทคโนโลยีอย่างสเตลลาร์ (Stellar.org) และคลิกเอ็กซ์ กรุ๊ป (KlickEx Group) นำไอบีเอ็ม บล็อกเชน เข้าใช้กับบริการหักบัญชีและชำระดุล (clearing and settlement) ทางการค้าผ่านเครือข่ายเดียว ให้กระบวนการทั้งหมดเป็นไปได้ในความเร็วเกือบเรียลไทม์
สเตลลาร์เป็นเครือข่ายบล็อกเชนโอเพ่นซอร์สสำหรับบริการทางการเงินที่ตั้งขึ้นภายใต้จุดประสงค์ในการออกและแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัล โดยสินทรัพย์ดิจิทัลจะถูกออกโดยเครือข่ายของสเตลลาร์ในลักษณะสะพานแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศซึ่งจะนำสู่การชำระดุลในระยะเวลาเกือบเรียลไทม์
ขณะที่คลิกเอ็กซ์ กรุ๊ป จะทำหน้าที่เป็นสถาบันการเงินที่ร่วมก่อตั้งในภูมิภาคนี้ ให้บริการแก่ธนาคาร ลูกค้าธุรกิจค้าปลีก และผู้บริโภค
สำหรับการขยายการชำระเงินผ่านบล็อกเชนด้วยการสนับสนุนโซลูชันจากไอบีเอ็มนั้น ปัจจุบันสมาชิกของ Advanced Pacific Financial Infrastructure for Inclusion(APFII) ซึ่งเป็นโครงการร่วมมือกันระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนเบื้องต้นจากองค์การสหประชาชาติ
และ SWIFT ได้เริ่มใช้เครือข่ายนี้ ซึ่งจะสามารถประมวลผล 60 เปอร์เซ็นต์ของการชำระเงินข้ามประเทศในระเบียงอัตราแลกเปลี่ยนของธุรกิจค้าปลีกในภูมิภาคแปซิฟิกใต้ประกอบด้วยออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ฟิจิ ซามัว และตองกา

Related Posts