การเรียนรู้ให้ได้ผลที่สุดคือการให้ผู้เรียนได้สัมผัสกับของจริง ได้ทำจริงทดลองจริง ไม่ใช่ดูผ่านสไลด์หรือวิดีโอแล้วมาการันตีว่านั่นคือการเรียนรู้แล้ว เพราะแทนที่จะเกิดการปฏิบัติให้เกิดขึ้นจริงได้ในอนาคต จะกลับกลายเป็นเรื่อง “ปลอม” ที่จำอวดขึ้นมา
ไปรษณีย์ไทย ได้จัดโครงการตะลุยโลกแสตมป์ ปีที่ 10 ในหัวข้อ ‘ท่องแดนภูพาน ห้องทรงงานของพระราชา’ เพื่อพาเยาวชนไปเรียนรู้พระราชกรณียกิจ และหลักการทรงงาน ผ่านแสตมป์ที่ระลึกชุดประวัติศาสตร์ ‘ฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี’ ผ่านโครงการ “เรียนรู้ตามรอยพระราชา”ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนา ภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร พร้อมให้เยาวชนเหล่านี้ได้เรียนรู้ผ่านของจริง รวมไปถึงได้สัมผัสและทดลองทำด้วยตัวเอง
ในความเป็นจริงแล้ว “ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร” ตั้งขึ้นตั้งแต่ปี 2525 เนื่องจากในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพบว่าในภาคอีสานนั้นที่ดินมีความแห้งแล้ง และเป็นอุปสรรคต่อการทำการเกษตร จึงได้มีพระราชดำริสร้างศูนย์ฯ นี้ขึ้น เพื่อเป็นศูนย์กลางการศึกษาและพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจร เพื่อให้ประชาชนนำไปปรับใช้ในพื้นที่ได้ตามความเหมาะสม
ดังนั้นการคงไว้ซึ่งความรู้ต่างๆ ต่อไปในอนาคต จึงจำเป็นต้องปลูกฝังเยาวชนให้เข้าใจหลักคิด และแนวทางการดำเนินชีวิตตามแนวพระราชดำริ ด้วยการให้เรียนรู้และทดลองทำจริง ตามรอยกษัตริย์นักพัฒนาผู้ทรงแก้ปัญหาความทุกข์ยากของประชาชน ด้วยศาสตร์พระราชา เพราะไม่ว่าพระองค์จะเสด็จฯ ไปยังถิ่นทุรกันดารใดก็สามารถแปรเปลี่ยนเป็นความอุดมสมบูรณ์ได้ทุกครั้ง
เด็กชายนิธิกร พรมคำบุตร นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบ้านห้วยผึ้ง จังหวัดอุตรดิตถ์ หนึ่งในเยาวชนที่เข้าร่วมโครงการตะลุยโลกแสตมป์ เล่าถึงเหตุผลที่เข้าร่วมโครงการครั้งนี้ว่า เนื่องจากครอบครัวประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก ทั้งการปลูกข้าว และการเลี้ยงสัตว์ใหญ่อย่าง โค จึงอยากเข้ามาเรียนรู้แนวทางการเลี้ยง วิธีป้องกันโรคที่อาจเกิดในโค รวมถึงการดูแลความสะอาดของโรงเรือน ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของในหลวง รัชกาลที่ 9
“ตั้งใจว่าหากได้รับคัดเลือกเข้ามาเรียนรู้ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร ในโครงการตะลุยโลกแสตมป์ ตอน ‘ท่องแดนภูพาน ห้องทรงงานของพระราชา’ จะตั้งใจนำทุกความรู้ที่ได้ไปเล่าให้ปู่และย่าฟัง และลองปรับใช้กับการเลี้ยงโคที่บ้าน ซึ่งภายหลังจากทราบประกาศรายชื่อว่าได้รับการคัดเลือก จึงรีบวิ่งไปบอกปู่และย่าทันทีด้วยความตื่นเต้น พร้อมกับเตรียมจัดเสื้อผ้าเพื่อรอให้วันกิจกรรมมาถึงอย่างตื่นเต้น”
เด็กชายนิธิกร เล่าต่อว่า เมื่อวันกิจกรรมมาถึง ตนและเพื่อนๆ ในรถบัสคันใหญ่ได้เดินทางมาถึงศูนย์ฯ ภูพานในตอนเช้าและสิ่งแรกที่ตนได้เห็นคือ ผืนนาข้าวสีเขียวทอดยาวจนสุดลูกหูลูกตา ซึ่งคุณลุงเจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ ได้เล่าให้ฟังว่า ศูนย์ฯ แห่งนี้ มีพื้นที่กว่า 13,300 ไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ตัวอย่างในการประกอบอาชีพของประชาชนอีสานทั้งสิ้น
ไม่ว่าจะเป็น การเพาะพันธุ์ปลานิลแปลงเพศ การเลี้ยงปลาดุกในบ่อซีเมนต์ การเลี้ยงสัตว์ที่ทนต่อโรค เลี้ยงง่าย แถมยังขายได้ราคาดี อย่าง 3 ดำมหัศจรรย์ ที่ประกอบด้วย หมูดำ ไก่ดำ และวัวเนื้อทาจิมะ รวมถึงการทำเกษตรแบบผสมผสาน
โดยสิ่งที่ตนได้มาเห็นและได้เรียนรู้จากศูนย์ฯ ภูพานแห่งนี้ เป็นเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น ที่พระองค์ท่านได้ทำเพื่อประชาชนคนไทยจากทั้งหมดกว่า 4,000 โครงการ ก็ยิ่งทำให้ตนรู้สึกว่า สิ่งที่ท่านทำไว้ยิ่งใหญ่เกินคนหนึ่งคนจะทำได้ และยิ่งไม่แปลกใจเลยว่าทำไมปู่และย่าของตนถึงยกมือไหว้กรอบรูปที่ผนังบ้านทุกครั้งก่อนออกไปทำนา
นอกจากนี้หลังจากได้เห็นแสตมป์ชุด “ฉลองสิริราชสมบัติครบ 70 ปี” ที่พี่ๆ ไปรษณีย์ไทยได้ให้ไว้เพื่อเป็นที่ระลึก จึงทำให้รู้ว่า ยังมีศูนย์ศึกษาการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อีก 5 แห่งที่พระองค์ได้จัดตั้งขึ้น เพื่อเป็นตัวอย่างการพัฒนาการเกษตรแบบครบวงจรกระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทยอีกด้วย ก็ยิ่งทำให้ตนรู้สึกภูมิใจที่ได้รับคัดเลือกมาเรียนรู้หลักคิดตามรอยในหลวง รัชกาลที่ 9 ในครั้งนี้ พร้อมทั้งตั้งใจว่า เมื่อโตขึ้นจะลองออกเดินทางไปเรียนรู้ที่ศูนย์ต่างๆ เพื่อนำมาปรับใช้กับที่บ้านอีกด้วย
เช่นเดียวกับเด็กหญิงจิตภินันท์ โพธิ์อ่อนจรุญ นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนเซนต์แมรี่ จังหวัดอุดรธานี ตัวแทนเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมตะลุยโลกแสตมป์ เล่าว่า หลังจากที่รู้ว่าไปรษณีย์ไทยมีการจัดกิจกรรมตะลุยโลกแสตมป์จากเพื่อนที่โรงเรียน ก็รีบไปบอกกับครอบครัวว่าขอเข้าร่วมกิจกรรมและเขียนเรียงความเพื่อส่งไปคัดเลือกทันที
เนื่องจากทราบมาว่าเป็นโครงการที่ให้ความรู้มากมาย รวมไปถึงยังมีกิจกรรมสนุกให้ได้ทดลองทำอีก และที่สำคัญได้มีการพาไปดูห้องทำงานจริงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ จ.สกลนคร ซึ่งนอกจากจะแหล่งเรียนรู้ด้านการเกษตรแล้ว ยังมีด้านงานฝีมืออีกด้วย
“การเข้าร่วมกิจกรรมนี้รู้สึกสนุกและตื่นเต้นมาก เพราะคุณครูได้เปิดโอกาสให้ได้ลองทำด้วยตนเอง เช่น การสาวไหมจากรังไหม เพื่อนำเส้นไหมที่ได้มาถักทอเป็นผ้าผืนใหญ่ และการทำผ้ามัดย้อม เพื่อทำให้ผ้าผืนมีลวดลายและสีที่สวยงามจากน้ำครามที่หมักเอง ฯลฯ ทั้งนี้ ในอนาคต ตนตั้งใจว่าหากไปรษณีย์ไทย มีกิจกรรมแบบนี้อีก ก็อยากมาเข้าร่วมอีกครั้ง เพราะนอกจากจะได้รับความรู้ผ่านการทำกิจกรรมต่างๆ แล้ว ยังได้เจอเพื่อนใหม่จากต่างโรงเรียนอีกด้วย”
นี่เป็นเพียงเสียงเล็กๆ ของ 2 เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการของไปรษณีย์ไทย ภายใต้แนวคิด “ยิ่งเรียนรู้ ยิ่งรอบรู้” ที่แม้จะเป็น หนึ่งในยุทธศาสตร์ด้าน CSR ของไปรษณีย์ไทย ในการสร้างความรอบรู้ผ่านดวงแสตมป์ ควบคู่ไปกับการปลูกฝังให้เยาวชนเห็นคุณค่า และใส่ใจความเป็นอยู่ของสังคมและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนรู้จักสร้างความสัมพันธ์ระหว่างผู้อื่น แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการปลูกฝังที่ดี ในการนำแนวพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาให้พวกเขาได้เรียนรู้จริง
เพราะแม้ว่าจะมีโครงการพระราชดำริที่ดีเลิศแค่ไหน แต่ถ้าคนในพื้นที่ไม่นำมาปรับใช้ก็ไม่เป็นผล จึงได้แต่หวังว่านี่จะเป็นจุดเริ่มต้นหนึ่งที่จะทำให้เยาวชนรุ่นใหม่ได้มองเห็นสิ่งที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 ได้ทรงสร้างขึ้นและสำเร็จได้จริง สามารถนำมายกระดับความเป็นอยู่ในชุมชนของตนเองให้ดีขึ้นด้วยความพอเพียง ไม่ใช่มีแต่ความละโมบโลภมากและรอเพียงความช่วยเหลือจากภาครัฐเหมือนคนรุ่นก่อนหน้า ที่ดีแต่ร้องขอ แต่ไม่เคยคิดที่จะช่วยเหลือตัวเองก่อน ทั้งที่มีตัวอย่างที่ดีอยู่ใกล้ตัว