ฝนหลวง ก้าวแรกของการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยี 4.0

ฝนหลวง ก้าวแรกของการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยี 4.0
ฝนตกไม่ทั่วฟ้า เป็นคำเปรียบเทียบอุปมาอุปมัยที่ยังคงใช้ได้จริงในสังคมปัจจุบัน แต่สำหรับประชาชนของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช แล้ว คำนี้คงใช้ไม่ได้ เพราะโครงการพระราชดำริ ฝนหลวง เกิดขึ้นจากพระราชดำริส่วนพระองค์
เมื่อคราวเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรในพื้นที่แห้งแล้งทุรกันดาร 15 จังหวัด ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือในปี พ.ศ.2498 ได้ทรงรับทราบถึงความเดือดร้อน ทุกข์ยากของราษฎร และเกษตรกรที่ขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภค และการเกษตร
จากนั้นเป็นต้นมา ทรงศึกษาค้นคว้าและวิจัยทางเอกสาร ถึง 14 ปี ทั้งด้านวิชาการอุตุนิยมวิทยาและการดัดแปรสภาพอากาศ ซึ่งทรงรอบรู้ และเชี่ยวชาญ เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ ในการวิเคราะห์วิจัย
จนทรงมั่นพระทัย จึงพระราชทานแนวคิดนี้แก่ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล ผู้เชี่ยวชาญในการวิจัยประดิษฐ์ทางด้านเกษตรวิศวกรรม ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ขณะนั้
และในปีถัดมาและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้หาลู่ทางที่จะทำให้เกิดการทดลองปฏิบัติการในท้องฟ้าให้เป็นไปได้
การทดลองปฏิบัติการจริงในท้องฟ้าเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1-2 กรกฎาคม 2512 โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์แต่งตั้งให้ หม่อมราชวงศ์เทพฤทธิ์ เทวกุล เป็นผู้อำนวยการโครงการ เลือกพื้นที่วนอุทยานเขาใหญ่เป็นพื้นที่ทดลองเป็นแห่งแรก
ซึ่งหลังจากปฏิบัติการแล้วเสร็จได้ทำการสำรวจทางภาคพื้นดิน และได้รับรายงานยืนยันด้วยวาจาจากราษฎรว่า เกิดฝนตกลงสู่พื้นที่ทดลองวนอุทยานเขาใหญ่ในที่สุด นับเป็นนิมิตหมายบ่งชี้ให้เห็นว่า การบังคับเมฆให้เกิดฝนเป็นสิ่งที่เป็นไปได้ ประเทศไทยจึงได้ใช้ “ฝนหลวง”
นอกจากจะประสบความสำเร็จและช่วยเหลือเกษตรในครั้งต่อมาแล้ว ยังโปรดเกล้า ฯ ให้มีการพัฒนาเทคโนโลยีและเทคนิคควบคู่กันไปด้วย ทรงสามารถพัฒนากรรมวิธีการทำฝนหลวงให้ก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง
ด้วยพระปรีชาสามารถ ทรงพัฒนาเทคนิคขึ้นมาเป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุดว่า SUPER SANDWICH TECHNIC ทรงสรุปขั้นตอนกรรมวิธีโดยทรงประดิษฐ์ขึ้นเป็นแผนภาพการ์ตูนโดยคอมพิวเตอร์ด้วยพระองค์เอง พระราชทานให้ใช้เป็น ตำราฝนหลวง เพื่อให้เป็นแบบอย่างใช้ในการปฏิบัติการฝนหลวงให้เป็นไปในทางเดียวกัน
ล่าสุด Thereporter.asia มีโอกาสได้ติดตามการดำเนินงานทำฝนหลวง กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เตรียมปฏิบัติการเติมน้ำให้เขื่อนลำตะคอง จ.นครราชสีมา เพิ่มอีก เนื่องจากยังคงมีปริมาณน้ำเก็บกักน้อย ต่ำกว่า 30%
ทั้งนี้ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอต่อการอุปโภค บริโภค และน้ำใช้การเพื่อการเกษตรในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ที่ยังมีปริมาณน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ จึงมอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เร่งเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ประชาชนมีน้ำใช้เพียงพอในช่วงฤดูแล้งที่จะมาถึง
ซึ่งการดำเนินงานดังกล่าวจะมีความสอดคล้องกับแผนการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง
ทั้งนี้ภาพรวมสถานการณ์น้ำในปี 2560 มีฝนตกมากกว่าปีก่อนๆ แต่ยังคงมีบางพื้นที่ยังมีปริมาณฝนไม่มากนัก และมีเขื่อนที่มีปริมาณน้ำเก็บกักในระดับที่น้อยมาก อย่างเช่นเขื่อนลำตะคอง
ซึ่งแม้ว่าที่ผ่านมาจะมีฝนตกลงมาบ้าง แต่โดยรวมก็มีน้ำไหลเข้าเขื่อนน้อยมาก กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงได้เตรียมความพร้อมด้วยการให้ปรับแผนปฏิบัติการฝนหลวงเร่งเติมน้ำในเขื่อนลำตะคองเพิ่มเติม เพื่อลดความเสี่ยงต่อการเกิดภัยแล้งเฉพาะพื้นที่ที่จะเกิดขึ้น
“ทุกวันนี้ต้นทุนค่าแรงสูง เราต้องหาวิธีการเพิ่มผลผลิต และลดต้นทุน ต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาดำเนินการตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปลายทาง โดยกระทรวงเกษตรฯ เตรียมหาพื้นที่ทำเกษตรนำร่องแบบ 4.0″
ฝนหลวง
“โดยจะนำเทคโนโลยีเข้ามาปรับใช้ตั้งแต่เริ่มต้น เช่น การให้น้ำด้วยระบบอัตโนมัติและสัมพันธ์กับสภาพอากาศ การใช้โดรน การใช้เครื่องมือพยากรณ์ เพื่อให้เห็นว่าการทำเกษตรด้วยเทคโนโลยีจะช่วยให้ผลผลิตมีประสิทธิภาพมากขึ้น”
นอกจากนี้ยังต้องทำความเข้าในกับเกษตรกรในพื้นที่ด้วยว่า ถ้ามีน้ำน้อยก็อาจจะไม่เพียงพอที่จะทำการเกษตรอย่างเต็มรูปแบบ อาจจะต้องปรับเปลี่ยนการปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อย แบ่งเขตการปลูกชัดเจน หรือถ้าทำไม่ได้ก็ต้องสร้างรายได้เสริมจ้างงาน เอาปศุสัตว์ไปช่วย
ทั้งนี้การสร้างความเข้าใจดังกล่าวจะต้องจับมือกับผู้ว่าราชการในการทำ เพราะถ้าให้กระทรวงเกษตรทำอย่างเดียวอาจจะไม่สำเร็จ ไม่ได้รับความร่วมมือจากเกษตรกร
พลเอกฉัตรชัย กล่าวว่า เราต้องเข้าถึงเกษตรกร เพราะถ้าเราทำงานแบบบูรณาการจะช่วยให้เกษตรกรเดือดร้อนน้อยที่สุด การปรับเปลี่ยนพืชที่ปลูกพืชไม่ได้ทำแค่ช่วงน้ำน้อย แต่ต้องทำเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้ด้วย ต้นทุนที่พอดี ผลผลิตดี โดยต้องพยายามชี้ข้อดีให้เขาเห็นเพราะเขาอาจจะไม่สนใจหากไม่มีแรงจูงใจที่ดีพอ
นอกจากนี้ในการทำเกษตรนำร่องแบบ 4.0 นั้น ในปี 61 จะเป็นเรื่องของการบริหารจัดการให้เกษตรกรเป็นผู้ประกอบการด้านการเกษตร ไม่ใช่เป็นแค่เกษตรกรที่แค่ปลูกแล้วขาย แต่ต้องคิดเรื่องต้นทุน กำไร และตลาดด้วย
สำหรับแนวทางในการดำเนินงานบริหารจัดการน้ำ กระทรวงเกษตรฯ ได้กำหนดนโยบายการดำเนินการช่วยเหลือทั้งในระยะสั้น และระยะยาว โดยมีเป้าหมายบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอตามลำดับความเร่งด่วนในการอุปโภคบริโภค การรักษาระบบนิเวศน์ การเกษตรต่อเนื่อง การเริ่มต้นเพาะปลูกในฤดูกาลหน้
โดยจะมีคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ อาทิ กรมชลประทาน กรมฝนหลวงฯ การไฟฟ้าฝ่ายผลิต ผู้ใช้น้ำและหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องร่วมกันบริหารจัดการ
ด้านสุรสีห์ กิตติมณฑล อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร กล่าวว่า เขื่อนลำตะคอง เป็นหนึ่งในจำนวน 10 เขื่อน ที่มีความจำเป็นจะต้องเร่งปฏิบัติการฝนหลวงเติมน้ำในเขื่อนเพิ่มขึ้นอีก แม้ว่าที่ผ่านมาจะได้ดำเนินการไปแล้ว แต่ปริมาณน้ำก็ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ
กรมฝนหลวงและการบินเกษตร  จึงได้มอบหมายให้ศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวงภาคตะวันออกเฉียงเหนือและศูนย์ปฏิบัติการ ฝนหลวงภาคกลางร่วมกันดูแลในพื้นที่และวางแผนปฏิบัติการฝนหลวงอย่างเร่งด่วน เพื่อให้พร้อมสำหรับสถานการณ์การใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งที่กำลังจะมาถึง
ทั้งนี้การทำฝนหลวงนั้นจะทำฝนหลวงทำได้ภายในเดือนตุลาคมเท่านั้น เพราะฤดูหนาวมาก็ทำไม่ได้แล้ว ความชื้นสัมพัทธ์ไม่เพียงพอ ดังนั้นต้องรีบทำให้ได้มากที่สุด เพื่อให้มีน้ำใช้ไปถึงเดือนมิถุนายนปี 2561
ดังนั้นจึงต้องนำศาสตร์พระราชามาใช้ วางแผนการจัดการน้ำให้ดี และต้องแก้ปัญหาระยะยาว ไม่เช่นนั้นก็จะมีผลกระทบเรื่อยๆ
ขณะนี้จึงต้องเร่งระดมสรรพกำลัง เติมเต็มน้ำในเขื่อน โดยเราจะเติมให้ได้ไม่น้อยกว่า 15 ล้าน.ลบ.ม เราก็ได้มีการบูรณาการใช้หน่วยที่ลพบุรีและนครราชสีมามาช่วยเพิ่มปริมาณน้ำ นำเมฆทุกก้อนที่ผ่านเขื่อนให้กลายเป็นฝนหลวง โดยจะพิจารณาถึงความถี่ในการดำเนินการให้มากขึ้น
“เรามีวิดีโอคอนเฟอร์เรนซ์คุยระหว่างส่วนกลางและในหน่วยที่อยู่ เพื่อรายงานผลอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงรับฟังคำสั่งจากผู้บริหารจากส่วนกลาง ทำการวิจัยสารฝนหลวงทางเลือก”
“ซึ่งขณะนี้เราใช้ความชื้นสัมพัทธ์มากกว่า 60% ขึ้นไปจึงจะทำฝนหลวงได้ แต่หลังจากนี้เราจะทดลองนำสารฝนหลวงมาผสมกันเพื่อให้สามารถทำฝนหลวงได้หากมีความชื้นสัมพัทธ์ต่ำกว่า 60% เพื่อให้สามารถทำนอกฤดูฝนได้ โดยในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคมจะเริ่มทดลองใช้ ซึ่งอาจจะมีงานวิจัยเพิ่มเติมต่อยอดอีก”
สำหรับการทำฝนหลวงหลังเดือนตุลาคมนั้นทางกรมจะมีหน่วยเคลื่อนที่เร็วเพื่อตรวจสอบสภาพอากาศว่าพร้อมที่จะทำฝนหลวงช่วงไหน และในปี 2561 ปฏิบัติการศูนย์เพิ่มอีก 2 ศูนย์คือพิษณุโลกและบุรีรัมย์ คาดว่าสิ้นปีหน้าอาคารจะเสร็จ ตอนนี้ก็จะมีเจ้าหน้าที่ไปประจำชั่วคราว
อธิบดีกรมฝนหลวงฯ กล่าวว่า นอกจากนี้ยังมีโครงการนำน้ำจากเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มาพักไว้ที่มวกเหล็กก่อน แล้วค่อยใช้เครื่องสูบน้ำสูบเข้ามาที่เขื่อนลำตะคอง โดยกระทรวงเกษตรฯ กำลังให้กรมชลประทานศึกษาซึ่งคาดว่าจะทำได้ต้องใช้กระบวนการใน 2 ปี แต่ก็ขอให้เร่งดำเนินการ คาดว่าใช้งบทั้งสิ้น 3,900 ล้านบาท
สถานการณ์น้ำในเขื่อนลำตะคอง ณ วันที่ 20 กันยายน 2560 มีน้ำ 111 ล้าน ลบ.ม. เป็นน้ำใช้การได้ 88 ล้าน ลบ.ม. โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาลำตะคอง มีพื้นที่ชลประทานที่ต้องดูแล จำนวน 154,195 ไร่ มีการเพาะปลูกรวม 120,599 ไร่ ซึ่งจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในต้นเดือนธันวาคม 2560 คาดว่า ณ วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 เขื่อนลำตะคองจะมีน้ำใช้การได้ 114 ล้าน ลบ.ม. ซึ่งน้อยกว่าเขื่อนอื่นๆ
สำหรับผลการปฏิบัติการฝนหลวงประจำปี 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตรเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม ถึง 18 กันยายน 2560 มีการขึ้นบินปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 182 วันมีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็น ร้อยละ 97.2 ปฏิบัติการฝนหลวงจำนวน 3,049 เที่ยวบิน (4,412:32 ชั่วโมงบิน) มีรายงานฝนตกรวม 56 จังหวัด
ส่วนการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำในเขื่อนลำตะคองที่ผ่านมา ตั้งแต่วันที่ 3 มีนาคม – 18 กันยายน 2560 กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงในพื้นที่ลุ่มรับน้ำเขื่อนลำตะคองไปแล้วทั้งสิ้นจำนวน 102 วัน
มีฝนตกจากการปฏิบัติการฝนหลวงคิดเป็นร้อยละ 93 จำนวน 331 เที่ยวบิน จำนวนสารฝนหลวง แต่ยังมีปริมาณน้ำไหลเข้าเขื่อนที่ไม่เพียงพอต่อการใช้ในฤดูแล้ง
ทั้งนี้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้ดำเนินการปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำกักเก็บให้กับเขื่อนต่างๆ ทั่วประเทศจำนวน 10 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนภูมิพล เขื่อนแม่กวงอุดมธารา เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนศรีนครินทร์ เขื่อนวชิราลงกรณ์ เขื่อนคลองสียัด เขื่อนพระปรง เขื่อนแก่งกระจาน เขื่อนปราณบุรี และเขื่อนลำตะคอง
“ฝนหลวง” นับเป็นศาสตร์พระราชาของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ยังคงนำมาเป็นแนวในการปฏิบัติได้อย่างต่อเนื่อง และสามารถต่อยอดเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดได้อีก
และถือเป็นแนวทางการพัฒนาด้านการเกษตรที่สามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานต่อยอดได้ไม่มีที่สิ้นสุด ขอเพียงแต่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมกันทำหน้าที่อย่างเต็มความสามารถด้วยความสุจริต จริงจังและตั้งใจก็พอ

Related Posts