สมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย หรือ TMA เปิดเวทีเสวนา STI Forum and Outstanding Technologist Awards 2017 หัวข้อ “Co-Creating the Future” ที่ผ่านมา เผยแนวคิดนวัตกรรมแบบเปิด ดึงกูรูผู้คิดค้นแนวคิดด้านนวัตกรรมแบบเปิด ศ. ดร. เฮนรี่ เชสโบร์ว มานำเสนอแนวคิดและตอบคำถาม โอกาสสำหรับประเทศไทย
เพื่อให้ก้าวผ่านจากกับดักรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) และเปลี่ยนผ่านจากโมเดลธุรกิจที่ลงมือทำมากแต่ได้ผลตอบแทนน้อย เข้าสู่แบบลงมือทำน้อยแต่ได้ผลตอบแทนมาก รวมถึงในงานได้ประกาศผลรางวัลพระราชทาน“นักเทคโนโลยีดีเด่น” และ “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” เพื่อเชิดชูเกียรติ และเป็นขวัญกำลังใจแก่นักเทคโนโลยีไทยที่มีผลงานโดดเด่นด้านการวิจัย
นายกานต์ ตระกูลฮุนในฐานะ Board of Trustee, TMA และหัวหน้าภาคเอกชน คณะทำงานการยกระดับนวัตกรรมและ Digitalization โครงการสานพลังประชารัฐ กล่าวว่า ณ ตอนนี้ประเทศไทยมีนโยบายมุ่งเน้นด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เมื่อเทียบกับเมื่อช่วงหลายสิบปีก่อนที่ประเทศไทยมีการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก คือ 0.2% ของ GDP เท่านั้น
ในขณะที่ประเทศพัฒนาแล้วอย่างเกาหลีใต้มีการลงทุน 3-4% ของ GDP แต่ประเทศไทยก็ได้มีการปรับสัดส่วนการลงทุนด้านนี้ให้สูงขึ้นเรื่อยๆ จนล่าสุดอยู่ที่ 0.6% และคาดว่าจะเพิ่มเป็น 1% ภายในอีกปีหรือสองปีจากนี้ นอกจากนี้ ภาครัฐในไทยเริ่มมีแนวทางการผลักดันนวัตกรรมที่ชัดเจน เน้นให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น เช่น ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีสำหรับบริษัทเอกชนที่ลงทุนด้านวิจัย หรือแม้แต่ให้สิทธิประโยชน์ภาษีรายบุคคล
รวมทั้งเปิดโอกาสให้นักวิจัยในภาครัฐสามารถข้ามไปทำงานในภาคเอกชนทั้งในไทยและต่างประเทศได้ ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศทำอยู่
ก่อนหน้านี้ การทำวิจัยและพัฒนาในประเทศต่างๆ ก็ต่างคนต่างทำ อาจมีความร่วมมือระหว่างภาครัฐและมหาวิทยาลัยบ้าง แต่เอกชนมักไม่ค่อยได้เข้าร่วมด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความรวดเร็วในการดำเนินงานต่างกัน หรือลำดับความสำคัญของการทำงานต่างกัน อาจารย์ก็ต้องมีภาระงานสอนด้วย
แต่ในช่วงสิบปีมานี้ หลายประเทศเริ่มมีการตั้ง Open Innovation Center เพื่อแสดงและเปิดเผยให้คนทั่วไปทราบว่าหน่วยงานนี้มีเทคโนโลยีอะไรบ้าง และมีความต้องการเทคโนโลยีอะไรอีก หรือนักวิจัยคิดค้นงานซึ่งอาจยังไม่ตอบโจทย์ภารกิจใดในองค์กร แต่อาจไปเจอโครงการจากหน่วยงานอื่นมาช่วยสนับสนุนกันได้ก็มี ซึ่งถือเป็นการเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้หรือสร้างความร่วมมือได้มากกว่าเดิม
โดยยกตัวอย่าง SCG ว่าเป็นองค์กรที่เน้นการลงทุนด้านวิจัย โดยเพิ่มงบวิจัยขึ้นทุกปีจนปัจจุบันอยู่ที่ 4,500 ล้านบาท และมีจำนวนนักวิจัยของตัวเองประมาณ 700 คน รวมทั้งมีโครงการร่วมกับมหาวิทยาลัยทั้งไทยและต่างประเทศประมาณ 600 โครงการและเมื่อเดือนมีนาคม 2560 ที่ผ่านมา SCG เพิ่งเปิดศูนย์นวัตกรรมแบบเปิด Open Innovation Center ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ รังสิต
ซึ่งมีพื้นที่ราวหนึ่งพันตารางกิโลเมตร มีผู้เข้าชมตั้งแต่เปิดประมาณ 6,500 คน โดยในจำนวนนี้ 25% เป็นนักวิจัยของ SCGอีก 50% มาจากมหาวิทยาลัยและราชการ อีก 20% จากภาคเอกชน ส่วนที่เหลืออีกราว 700 คนเป็นชาวต่างชาติ Open Innovation Center นี้แสดงเทคโนโลยี สิทธิบัตร และโครงการซึ่งพัฒนาไปถึงระดับใช้งานได้ในเชิงพาณิชย์ (commercialization) ถือเป็นตัวอย่างของการใช้นวัตกรรมขับเคลื่อนเศรฐกิจ โดยนวัตกรรมก็เกิดจากความต้องการของตลาด นอกจากนี้ Open Innovation Center ยังถือเป็นพื้นที่หรือชุมชนของนักวิจัยอย่างแท้จริง
อีกภาคส่วนที่ควรให้ความสำคัญคือ SME และ Startup ซึ่งเป็นแนวโน้มที่กำลังมาแรงในขณะนี้ ปกติแล้ว SME และ Startup จะไม่สามารถลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาได้มากนัก เรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษีก็อาจไม่ใช่สิ่งที่ได้ประโยชน์เต็มที่เมื่อเทียบกับบริษัทใหญ่ ในมุมมองคิดว่า ภาครัฐโดยเฉพาะมหาวิทยาลัยซึ่งมีองค์ความรู้จำนวนมากควรเข้าไปช่วยสนับสนุนการทำวิจัยให้ SME และ Startup
เพราะบางครั้ง มหาวิทยาลัยอาจจะทำวิจัยตามความสนใจส่วนตัว ซึ่งอาจไม่ตอบสนองความต้องการที่แท้จริงของตลาด แต่ตอนนี้ภาครัฐควรตั้งเป้าหมายผลักดันนวัตกรรมที่สามารถใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์ได้จริง
“นวัตกรรมช่วยลดความเหลื่อมล้ำและกระจายความมั่งคั่งได้ จึงอยากฝากให้มหาวิทยาลัยช่วยสนับสนุนSME และ Startup ด้านวิจัยและพัฒนา เพราะ SME และ Startupอาจจะไม่มีงบในการจ้างวิศวกรมาช่วยปรับปรุงการผลิต ซึ่งมหาวิทยาลัยอาจจะส่งนักศึกษาปริญญาโทหรือ ปริญญาเอกให้ไปเยี่ยมโรงงานแล้วดูว่าควรปรับปรุงในส่วนใดบ้างหรือจะช่วยเพิ่มมูลค่าสินค้าอย่างไร ซึ่งเป็นการสร้างความคุ้นเคยและไว้เนื้อเชื่อใจระหว่างกัน ทางนักศึกษาเองก็ได้ความรู้ว่าเรื่องความต้องการของตลาดด้วย”
ทำไมต้องนวัตกรรมแบบเปิด (Why Open Innovation?)
แนวคิด “นวัตกรรมแบบเปิด” เป็นกระบวนทัศน์ใหม่ที่ให้องค์กรเปิดรับและแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ แนวคิดและประสบการณ์จากภายนอกองค์กร หรืออาศัยความร่วมมือเชิงพันธมิตรกับองค์กรที่มีความพร้อมและความเชี่ยวชาญในกลุ่มอุตสาหกรรมมาปรับใช้ในองค์กรเพื่อปรับปรุงนวัตกรรม สร้างมูลค่าเพิ่ม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพดีขึ้น ทำให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขัน
ศ. ดร. เฮนรี่ เชสโบร์ว กรรมการบริหาร – ศูนย์พัฒนานวัตกรรมแบบเปิด สถาบันพัฒนาธุรกิจด้านนวัตกรรม มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ซึ่งเป็นผู้คิดค้นและศึกษาด้านนวัตกรรมแบบเปิดมาตลอด 35 ปีที่ผ่านมา อธิบายว่า แนวคิดหลักของนวัตกรรม คือ ไม่มีองค์กรไหนที่สามารถทำทุกอย่างได้โดยลำพัง องค์กรจะอยู่รอดได้ต้องมีความร่วมมือ แลกเปลี่ยน และยกระดับความสามารถกับองค์กรอื่น
ทำไมถึงต้องนวัตกรรมแบบเปิด ในอดีตเมื่อห้าสิบปีก่อน เฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ เท่านั้นที่มีการทำวิจัยและพัฒนาในห้องแลป แต่ปัจจุบันกลายเป็นมหาวิทยาลัยและ Startup ทำวิจัยมากขึ้น โมเดลธุรกิจใหม่ ๆ ต่างก็ใช้ประโยชน์จากดิจิทัล (digitalization) บริษัทใหญ่เริ่มพัฒนาช้าลง ในขณะที่พวก Startup กลับพัฒนาเร็วขึ้น และยังมีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามามีส่วนขับเคลื่อนประเทศ อย่างมูลนิธิ องค์กรไม่แสวงหากำไร ซึ่งให้บริการด้านสังคม ดังนั้น การแลกเปลี่ยนนวัตกรรมจะช่วยเกื้อหนุนระหว่างธุรกิจและสังคมโดยรวมให้พัฒนาต่อไปได้
ศ. ดร. เฮนรี่ได้เสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า นวัตกรรมแบบเปิดไม่เพียงแต่ช่วยขับเคลื่อนธุรกิจหรือเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ยังสามารถช่วยยกระดับความเป็นอยู่ของผู้คนในชนบท เช่น เปลี่ยนหมู่บ้าน Mori ซึ่งเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ในอ่าวเบงกอล ประเทศอินเดีย ให้กลายเป็นต้นแบบหมู่บ้านอัจฉริยะ (smart village) ที่ทุกครัวเรือนเข้าถึงwifi, เคเบิ้ลทีวี และทำธุรกรรมแบบไร้เงินสด (cashless transaction)
หมู่บ้านในชนบทของไทยก็มีศักยภาพที่จะมีนวัตกรรมเช่นนี้ได้ แม้ว่าจะทำเกษตรพื้นฐาน แต่แน่นอนว่าเกษตรกรต้องมีการซื้อขายผลผลิตทางเกษตรกับภายนอกหมู่บ้าน อาจจะโดยตรงหรือผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งคนเหล่านี้อาจเชื่อมโยงให้ชาวบ้านเข้าถึงอินเตอร์เน็ทได้ โดยผ่านแอปอย่าง Alipay และ WeChat ซึ่งเป็นที่นิยมมากในเอเชีย อย่างประเทศจีนตอนนี้ก็ทำธุรกรรมผ่าน Alipay เกือบทั้งหมด
อย่างไรก็ตาม การทำนวัตกรรมแบบเปิดไม่ใช่จะประสบความสำเร็จเสมอไป ทุกโครงการมีความเสี่ยง และมีหลายโครงการที่ไม่สำเร็จ เพราะการเปลี่ยนแปลงชุดความคิด (mindset) ขององค์กรเพื่อเปิดรับนวัตกรรมและร่วมมือกับคนอื่นไม่ใช่เรื่องง่าย คนในองค์กรจะต้องเปิดใจรับการเติบโต (growth) ในรูปแบบใหม่ ๆ
นวัตกรรมสองทาง Inside Out & Outside In“สิ่งที่ผมอยากจะเน้น คือ การทำนวัตกรรมแบบเปิดต้องเริ่มจากภายใน (internal) ก่อน อย่างที่นายกานต์บอกว่า ก่อนหน้านี้ ประเทศไทยลงทุนด้านวิจัยและพัฒนาน้อยมาก แต่ตอนนี้ก็เพิ่มขึ้นเป็นลำดับ ซึ่งเป็นแนวทางที่ถูกต้อง คุณจำเป็นต้องมีความสามารถหรือนวัตกรรมจากภายในก่อน จะได้มีอะไรดึงดูดคนอื่นให้มาแลกเปลี่ยนกับคุณ หรือ Inside Out เพื่อที่จะนำไปสู่ความร่วมมือกับภายนอก (external) หรือ Outside In”
ข้อเสนอแนะและสิ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กำลังทำอยู่ในฐานะที่เป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย ศ. ดร. เฮนรี่ เสนอให้มหาวิทยาลัยไทยส่งนักศึกษาปริญญาเอกไปแลกเปลี่ยนที่มหาวิทยาลัยในทวีปอเมริกาเหนือ เช่น มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ เพื่อที่นักศึกษาจะได้สร้างคอนเนคชั่นและเรียนรู้แนวคิดใหม่ ๆ ที่ต่างจากไทย ซึ่งเป็นโมเดลที่จีนใช้อยู่ขณะนี้
ศ. ดร. เฮนรี่ เล่าถึงสิ่งที่มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย เบิร์กลีย์ กำลังทำอยู่และเห็นว่าน่าจะมีแนวโน้มที่ดี คือ 1) มีการก่อตั้งสถาบันใหม่ที่มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมสังคม 2) การให้นักศึกษาคณะบริหารธุรกิจช่วยพัฒนาเชิงพาณิชย์ให้กับพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและนำกลับมาใช้ใหม่ (commercialization of green and renewable energy) และ 3) โปรแกรมด้านพัฒนาผู้ประกอบการ (entrepreneurship) เพื่อช่วยสนับสนุนให้ Startup ค้นหาทุนและมีโอกาสทางธุรกิจมากขึ้น
รางวัล “นักเทคโนโลยีดีเด่น” ประจำปี พ. ศ. 2560
ศ. ดร. วิบูลย์ แสงวีระพันธุ์ศิริ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เจ้าของผลงานหุ่นยนต์เพื่อฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง (Exoskeleton for function rehabilitation in stroke patients) กล่าวถึงผลงานว่า การพัฒนาเทคโนโลยีหุ่นยนต์ทางการแพทย์เพื่อการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมองแตก
เป็นการออกแบบและสร้างหุ่นยนต์สำหรับใช้ในกายภาพบำบัดเพื่อฟื้นฟูสมรรถนะผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง ซึ่งมักมีอาการอัมพฤกษ์ อัมพาต ให้ได้ฟื้นตัวให้เร็วที่สุด โดยเฉพาะในช่วงหกเดือนแรกหลังจากมีอาการ เพราะหลังจากนั้น โอกาสที่ผู้ป่วยจะฟื้นฟูสมรรถภาพกล้ามเนื้อจะลดลง
ทั้งนี้ การฟื้นฟูสมรรถภาพที่ดีที่สุด คือ การฝึกกับนักกายภาพบำบัด แต่การต้องทำซ้ำๆ ถ้ามีหุ่นมาช่วยจะง่ายกว่า เพราะถ้าใช้คนจริงๆ ต้องฝึกหลายท่าอาจจะลำบาก หุ่นดังกล่าวเป็นหุ่นที่ช่วยเสริมแรงกล้ามเนื้อ สามารถฝึกการใช้งานซ้ำ ๆ ได้ ทำให้ได้จำนวนครั้งที่มากกว่า ซึ่งทักษะการใช้งานจะผันแปรตามจำนวนครั้งที่ฝึก
อีกทั้งฝึกได้หลากหลายส่วนของกล้ามเนื้อ เช่น ข้อมือ แขน ขา ท่อนบนและล่าง มีระบบเกมและตอบกลับ (feedback) ทำให้การฝึกสนุก น่าสนใจ และท้าทาย ส่งผลให้การฝึกมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น และจากการทดสอบการเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อของผู้ป่วยที่ฝึกได้ 15 วัน ก็มีผลที่ดีขึ้น
ข้อมูลที่ใช้ในการพัฒนาหุ่นยนต์นี้เป็นความร่วมมือระหว่างแพทย์และวิศวกร เพื่อให้สามารถนำไปใช้งานได้จริง และในการทดสอบใช้งานกับมนุษย์ก็เป็นไปตามหลักจริยธรรมทางการแพทย์ ทั้งนี้ มักมีคำถามว่า หุ่นยนต์นี้จะเป็นโมเดลทางธุรกิจที่ยั่งยืนได้อย่างไร ส่วนตัวเชื่อว่าได้ เพราะมีการเก็บข้อมูลตัวเลขอย่างเป็นระบบ อุปกรณ์ทุกชิ้นสามารถถอดเก็บใส่กล่องและนำมาประกอบใหม่ได้
นอกจากนี้ เรายังมีเครือข่ายการพัฒนาที่เป็นหน่วยงานทางการแพทย์ ได้แก่ ภาควิชาเวชศาสตร์ฟื้นฟู คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ศูนย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู สวางคนิวาส ก็เป็นหน่วยงานหลักที่ติดตั้งหุ่นยนต์นี้ และยังมีหน่วยงานอื่นที่ให้ความสนใจ เช่น โรงพยาบาลพระมงกุฏ โรงพยาบาลกลาง เป็นต้น
รางวัล “นักเทคโนโลยีรุ่นใหม่” ประจำปี พ. ศ. 2560
ดร. วิรัลดา ภูตะคาม นักวิจัย หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยจีโนม ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพ (BIOTEC) เจ้าของผลงานการค้นหาจีโนไทป์เครื่องหมายโมเลกุลสนิปแบบทั่วทั้งจีโนมด้วยเทคโนโลยี Genotyping-by-sequencing (GBS) กล่าวถึงผลงานว่า ในปัจจุบัน ความก้าวหน้าของเทคโนโลยีจีโนมิกส์เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันมากขึ้น
ด้านการเกษตร เริ่มใช้เครื่องหมายโมเลกุลเข้ามาช่วยลดระยะเวลา แรงงาน และทรัพยากรที่ใช้ในการปรับปรุงพันธุ์พืช (marker-assisted breeding) เครื่องหมายโมเลกุลที่ได้รับการพัฒนาและใช้งานเป็นหลักในไทยในช่วง 10-15 ปีที่ผ่านมา คือ เครื่องหมายโมเลกุลไมโครแซทเทลไลท์ (microsatellite) ซึ่งมีความถี่ในการเกิดจีโนมพืชไม่สูงมากเมื่อเทียบกับเครื่องหมายโมเลกุลสนิป (single nucleotide polymorphism, SNP)
แต่เนื่องจากการจีโนไทป์แบบไมโครแซทเทลไลท์มีค่าใช้จ่ายสูงและใช้เวลานาน ดร. วิรัลดาจึงมุ่งมันในการพัฒนาเครื่องหมายโมเลกุลสนิปเพื่อใช้ปรับปรุงพันธุ์ในพืช สัตว์ และแม้แต่สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กอย่างแบคทีเรีย รา แทนการใช้เครื่องหมายโมเลกุลไมโครแซทเทลไลท์
ในปี 2554 ดร. วิรัลดาได้เล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถค้นหาเครื่องหมายโมเลกุลสนิปโดยไม่ขึ้นกับข้อมูลฐานลำดับเบสที่มีอยู่ จึงได้ทำการพัฒนาเทคโนโลยี Genotyping-by-sequencing (GBS) ซึ่งสามารถค้นหาสนิปได้เป็นจำนวนมากในเวลาและค่าใช้จ่ายที่ไม่มาก
ทั้งนี้ GBS สามารถใช้ค้นหายีนที่ตรงกับลักษณะพึงประสงค์ เช่น ปริมาณผลผลิตสูง หรือต้านทานโรค สามารถใช้ในการปรับปรุงพันธุ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างพืชที่ได้ใช้ประโยชน์จาก GBS คือ พืชในตระกูลแตง และพริก นอกจากนี้ ยังใช้ในชุดตรวจเอกลักษณ์พันธุ์พืชและความบริสุทธิ์ของเมล็ดพันธุ์ ซึ่งจะประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายมากกว่าส่งไปตรวจที่ต่างประเทศ
ผลงานของนักวิจัยที่ได้รับรางวัลประจำปี 2560 เป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่า นักวิจัยไทยสร้างสรรค์งานโดยเน้นตอบโจทย์จากปัญหาหรือความต้องการของสังคมและภาคธุรกิจ นอกเหนือไปจากการพัฒนาองค์ความรู้ภายในหน่วยงานและเพิ่มโอกาสในการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับองค์กรภายนอกประกอบกับการเปิดกว้างด้านนโยบายและการสนับสนุนที่เพิ่มขึ้นของภาครัฐ นับว่าเป็นส่วนหนึ่งของการเตรียมความพร้อมเพื่อมุ่งสู่ Thailand 4.0