เอไอเอส ข้องใจประมูลคลื่นรอบใหม่ทำไม “แจส โมบาย” ยังมีสิทธิ์

เอไอเอส ข้องใจประมูลคลื่นรอบใหม่ทำไม “แจส โมบาย” ยังมีสิทธิ์
เอไอเอส สะกิดเตือนกสทช.ให้ทบทวนเรื่องที่จะใช้ “แจส โมบาย” ที่เคยทำเรื่องงามหน้าไว้ในการประมูลครั้งที่แล้ว ให้เข้ามาประมูลรอบใหม่ เพราะเป็นที่คาใจของนักลงทุนต่างชาติเป็นอย่างมาก
ส่วนเอไอเอสยังพร้อมที่จะเข้าประมูลทุกเมื่อแต่ต้องดูเงื่อนไขการประมูลที่ชัดเจนก่อน ว่าคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่ว่าจะเดินตามรอยหรือจะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร เพราะโดยส่วนตัวยังมีคลื่นเพียงพอ
สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การที่สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช.
เปิดโอกาสให้ แจส โมบาย สามารถเข้ามาประมูลครั้งใหม่คลื่นความถี่ 900 MHz (890-895 MHz/935-940 MHz) และคลื่น 1800 MHz (1740-1785 MHz/1835-1880 MHz) ที่กำหนดให้มีการเปิดให้มีการประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2561
ก่อนจะออกใบอนุญาตได้ในเดือน มิ.ย. 2561 นั้น สร้างความสงสัยให้กับนักลงทุนทั้งไทยและต่างชาติเป็นอย่างมาก
โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติ ที่ตั้งคำถามว่าทำไมกสทช.ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น สิ่งนี้กลับส่งผลต่อธรรมาภิบาลของประเทศในภาพรวมด้วย เพราะหากมองดูแล้วกรณีแจส โมบาย
นั้นอาจจะไม่กล้าเรียกได้ว่าเป็นเคสเดียวในโลกที่ทำแบบนี้ แต่เท่าที่เคยประสบมาก็ไม่เคยมีใครทำแบบนี้มาก่อน นักลงทุนหลายคนจึงสงสัยว่ามันเกิดอะไรขึ้นกันแน่
แต่การประมูลครั้งนี้ เอไอเอสยังไม่เชื่อว่าจะมีผู้ให้บริการต่างชาติเข้ามาประมูล เพราะบ้านเราไม่มีระบบอินฟราสตัคเจอร์แชร์ริ่ง แบบชัดเจน หากเขาเข้ามาลงทุนเขาต้องเริ่มปูพรมเน็ตเวิร์กใหม่หมด ต้นทุนสูง และไม่สามารถแข่งขันกับรายเดิมได้ จึงเชื่อว่าน่าจะมีแค่ 3 ค่าย คือ เอไอเอส ดีแทค และทรู
ดีแทค อาจจะเป็นค่ายที่ต้องการมากที่สุดเพราะสัญญาสัมปทานกำลังจะหมดลงแต่อย่างไรก็ตาม ก็ยังเชื่อว่าการประมูลครั้งนี้ก็ต้องมีผู้ประมูล แม้จะแพงแต่ก็เป็นการประมูลที่ผู้ให้บริการก็จำเป็นต้องหวานอมขมกลืน และที่สำคัญหากเงื่อนไขการประมูลยังคงเริ่มที่ราคาสูงแบบนี้
การแข่งขันในการประมูลก็คงไม่ดุเดือด เพราะสภาพตลาดโดยรวมทั้ง เอไอเอส ดีแทค และทรู มีคลื่นรวมกันอยู่ที่ 55 MHz หรือ 100 MHz เมื่อนำมาคูณ 2 ก็ยังนับว่าเพียงพออยู่ในขณะนี้
สมชัย กล่าวว่า เอไอเอสสนใจที่จะประมูลแต่การจะเข้าร่วมประมูลหรือไม่ยังต้องขอดูเงื่อนไขการประมูลที่ชัดเจนในคณะกรรมการกสทช.ชุดใหม่ก่อนว่าจะเดินตามรูปแบบเดิมที่รักษาการกสทช.ร่างไว้
หรือ จะมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงอย่างไร โดยในเรื่องแรกนั้นเอไอเอสจะพิจารณาจากความต้องการคลื่นความถี่ เนื่องจากการประมูลครั้งนี้นับว่ามีความจำเป็นน้อยกว่า เพราะคลื่นที่เอไอเอสมีอยู่ยังคงเพียงพอในการให้บริการ แตกต่างจากการประมูลในครั้งที่ผ่านมาที่คลื่นประมูลไปล้วนแต่เป็นคลื่นที่ต้องการทั้งสิ้น
“เอไอเอสมองว่าการนำราคาครั้งที่แล้วมาเป็นตัวตั้งไม่ใช่คำตอบของราคาเริ่มต้นที่ถูกต้อง เพราะราคาครั้งที่แล้วเป็นราคาที่ผิดปกติ แพงเกินไปจากการที่มีบางรายต้องการคลื่นแต่สุดท้ายไม่มีเงินจ่าย
และส่วนสุดท้ายคือ สภาพการแข่งขัน หากต้องประมูลด้วยราคาที่สูง การแข่งขันจะไม่สามารถแข่งได้ สุดท้ายผู้บริโภคจะถูกผลักภาระให้ใช้บริการที่แพงขึ้น เพราะต้นทุนที่สูงนั่นเอง ซึ่งแม้เอไอเอสจะพร้อมที่จะประมูลแต่ก็ต้องนำหลายสิ่งมาประกอบเข้าด้วยกัน”
อยากให้กสทช.ชุดใหม่เป็น กสทช.ที่เข้าใจอุตสาหกรรม เข้าใจบริบทการกำกับดูแล ที่ต้องสนับสนุนมากกว่าการกำกับ และต้องสนับสนุนอย่างเท่าเทียมทั้งภาคเอกชน รัฐบาล และประชาชน
แต่ที่ผ่านมาโชคดีที่ผู้ให้บริการทั้ง 3 รายแข็งแรงมาก ทำให้การลงทุนขยายเน็ตเวิร์กเป็นไปได้เร็วกว่าเป้าหมายที่กสทช.วางไว้ ทำให้รัฐไม่ต้องเสียเงินลงทุนผ่านรัฐวิสาหกิจ

Related Posts