ถ้า “เกม” ทำให้มีรายได้ 2 หมื่นบาทต่อวัน คุณยังจะเรียกเขาว่า “เด็กติดเกม” อยู่หรือ?

ถ้า “เกม” ทำให้มีรายได้ 2 หมื่นบาทต่อวัน คุณยังจะเรียกเขาว่า “เด็กติดเกม” อยู่หรือ?

ความหลงใหลในเกมมักถูกสังคมตราหน้าว่าเป็น “เด็กติดเกม” ทั้งที่ความจริงแล้ว เกมก็เป็นหนึ่งในกิจกรรมที่เป็นงานอดิเรกได้กับทุกวัย ไม่ต่างจากการเล่นกีฬา การสะสมรถยนต์ของคนรวย การชื่นชอบดนตรีของศิลปิน การสะสมแสตมป์หรือแม้กระทั่งการชอบอ่านหนังสือของหนอนหนังสือ และอีกหลากหลายงานอดิเรกที่ผู้คนหลงใหล

แต่ใครจะรู้บ้างว่างเด็กหนุ่มอายุ 30 ปีในวันนี้ สามารถสร้างอาชีพที่ทำเงินได้วันละ 1.5 – 2 หมื่นบาทจากความหลงใหลในเกม ด้วยการเป็นแคสเตอร์ หรือนักพากษ์เกมนั่นเอง

Thereporter.asia ได้มีโอกาสสัมภาษย์น้องแชมป์ หรือ นายตรีภพ เที่ยงตรง นักพากษ์เกมมืออาชีพ หรือ แคสเตอร์ อายุ 30 ปี ภายใต้โค้ดเนมว่า “xyclopz” ภายในงานแถลงข่าว Acer Predator League ซึ่งมีดีกรีเป็นถึงนักพากษ์เกมด้วยภาษาอังกฤษ 1 ใน 3 คนของภูมิภาคเอเชียที่เป็นชาวเอเชีย ด้วยราคาค่าตัวการทำงานต่อวันสูงถึง 1.5-2 หมื่นบาทเลยทีเดียว

แน่นอนว่าใน 1 ทัวร์นาเมนต์ การแข่งขันมักกินเวลาไม่น้อยกว่า 4-5 วัน ทำให้น้องแชมป์สร้างรายได้ได้อย่างงดงาม ซึ่งหากมองไปในระดับโลกแล้ว มีข้อมูลว่าตลอดปี 2014 นักพากษ์เกมชาวสหรัฐบางรายมีรายได้สูงถึง 240 ล้านบาทเลยทีเดียว

แต่ความสำเร็จไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะจุดเริ่มต้นของการเป็นนักพากษ์เกมด้วยเหตุการณ์บังคับ การเตรียมความพร้อมจึงไม่มีเลย น้องแชมป์เล่าว่าครั้งแรกของการพากษ์นั้นเป็นเหตุการณ์ที่ต้องการส่งเกมเข้าแข่งขันในระดับสากล

พยายามมองหานักพากษ์เกมเพื่อให้ครบองค์ประกอบของกติกาและเกิดความสนุก ภายใต้เงื่อนไขว่าจะต้องเป็นภาษาอังกฤษ แต่หาเท่าไรก็ไม่มี จึงจำเป็นต้องพากษ์เอง แต่ด้วยพื้นฐานทางภาษาอังกฤษที่ไม่ดีนัก การพากษ์ครั้งนั้นจึงทำได้เพียงแค่พูดคำอุทานเป็นคำๆออกไปเท่านั้น น้องแชมป์หัวเราะ

วันแรกของการพากษ์ พูดอะไรไม่ได้เลยได้แค่คำอุทาน แล้วพอวันที่สอง ที่สาม ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็ทำให้เรารู้สึกชอบ หลังจากนั้นก็เริ่มพากษ์มาเรื่อยๆ ซึ่งก็มีข้อผิดพลาดที่เราต้องแก้ไข และมีการเตรียมตัวที่เราต้องทำอย่างหนักอยู่ตลอดเวลา

เริ่มพากษ์เป็นภาษาอังกฤษ จากคนที่ไม่เก่งอังกฤษเลย

น้องแชมป์เล่าว่า เขาเริ่มต้นจากการพากษ์เกมเป็นภาษาอังกฤษ โดยที่ตัวเองนั้นก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย ทำให้เขาต้องขวนขวายอย่างหนัก เพื่อที่จะสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษให้คล่องแคล่วได้อย่างเร็วที่สุด แต่เพราะใจรักในเกม การทำความเข้าใจในสิ่งที่ตนเองรัก เพียงแปลเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษก็ไม่ใช่เรื่องหนักหนาเกินไป แม้ว่ามันจะต้องใช้ความพยายามมากกว่าปกติหลายเท่าตัวก็ตาม

การฝึกฝนตัวเองเพื่อให้เข้าใจในภาษาอังกฤษด้วยการอ่านหนังสือ การฟัง การดู ตลอดตนการหัดพากษ์เป็นระยะเวลาหลายปี ช่วยให้เกิดทักษะทางการสื่อสารที่คล่องแคล่ว วันนี้น้องแชมป์ ได้ก้าวขึ้นสู่นักพากษ์เกมแถวหน้าของระดับเอเชียที่เป็นชาวเอเชีย ซึ่งใช้ภาษาอังกฤษในการพากษ์ และต้องเดินทางไปพากษ์ตามการจัดทัวร์นาเมนต์ของประเทศต่างๆทั่วโลก ด้วยค่าตัวไม่น้อยกว่า 1.5 – 2 หมื่นบาทต่อวัน ตลอดทัวร์นาเมนต์ก็จะจัดอยู่ที่ราว 4-5 วัน

แน่นอนว่านอกจากโอกาสของการเดินทางไปทั่วโลก ในฐานะแคสเตอร์ที่โด่งดังแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เข้าถึงเกมที่ตนเองชื่นชอบได้อย่างเต็มที่ พร้อมๆกับรายได้ที่มากกว่าการเป็นพนักงานบริษัท ซึ่งก็นับว่าเป็นการทำงานบนความหลงใหลที่น่าอิจฉาเป็นอย่างยิ่ง

เด็กติดเกม
แชมป์ หรือ นายตรีภพ เที่ยงตรง นักพากษ์เกมมืออาชีพ ภายใต้โค้ดเนมว่า “xyclopz”
ความกดดันจากต่างชาติมีมากมายมหาศาล

หากแต่ความสวยหรูด้านบนไม่ได้มาอย่างโดดเดี่ยว แต่กลับพ่วงความกดดันที่ต้องเปิดรับความคิดเห็นของต่างชาติที่มีเข้ามาจากทั่วโลกด้วยเช่นกัน ซึ่งแต่ละความคิดเห็นมักเป็นเชิงลบเมื่อได้รู้ว่าคนพากษ์เป็นคนเอเชียพูดภาษาอังกฤษ

น้องแชมป์เล่าว่าเป็นความกดดันที่เกิดขึ้นแบบทันทีทันใดระหว่างที่พูด ฝรั่งบางคนพอรู้ว่าเราเป็นคนเอเชียก็มองเราติดลบก่อนเลย บางรายเขียนคำหยาบคายกลับมาทันที การควบคุมอารณ์เพื่อให้อยู่ในภาวะพร้อมทำงานพากษ์จึงเป็นเรื่องที่ยากมาก แต่ก็ต้องทำให้ได้

การเป็นนักพากษ์เกมภาษาอังกฤษของผม ต้องทนกับการดูถูก ดูหมิ่น เหยียดหยาม ถึงขึ้นเหยียดผิดก็มี ในแต่ละวันจะต้องเจอแบบนี้นับพันครั้ง ซ้ำไป ซ้ำมา ซึ่งเป็นเรื่องยากมากที่เราจะต้องทำใจ และมีสมาธิอยู่กับเกมที่เราจะต้องพากษ์ในขณะนั้น

และเทคนิคของการข่มใจ น้องแชมป์พูดอย่างมั่นใจว่า ผมใช้ธรรมะในการข่มและสะกดไม่ให้อารมณ์ออกนอกลู่นอกทาง ทำให้ผมสามารถพากษ์เกมได้ตลอดรอดฝั่งและสร้างความสนุกให้กับผู้ชมได้อย่างดีเยี่ยม

น้องแชมป์ยังบอกอีกด้วยว่า ทุกความเห็นทั้งดีและไม่ดี เราอ่านหมด เพื่อนำส่วนที่ไม่ดีมาพิจารณาและปรับปรุงให้ตนเองมีความสามารถมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม ในส่วนที่ดีก็เป็นกำลังใจให้เราได้ทำงานตรงนี้ต่อไป แม้ว่าบางครั้งจะรู้สึกท้อกับความคิดเห็นเชิงลบที่เกิดขึ้นไม่ต่างจากการเหยียดผิวในต่างประเทศก็ตาม

หากฝันสู่เส้นทางสายแคสเตอร์ ต้องเริ่มฝึกฝน

การเดินทางตามฝันแบบน้องแชมป์ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากจนเกินไป ซึ่งน้องแชมป์ฝากบอกน้องๆที่อยากเป็น “แคสเตอร์” เวอร์ชั่นภาษาอังกฤษว่า ให้ตั้งความหวังได้เลย แล้วเริ่มลงมือฝึกฝน เพราะวันนี้งานที่มีติดต่อเข้ามาล้นมือเป็นอย่างมาก และทั้งภูมิภาคมีเพียงนักพากษ์ 3 คนเท่านั้นที่เป็นแคสเตอร์มืออาชีพเวอร์ชั่นภาษาอังกฤษ โดย 1 คนอยู่ที่ประเทศไทยซึ่งก็คือผมเอง ส่วนอีก 2 คนอยู่ที่ประเทศสิงคโปร์ ซึ่งมีพื้นฐานของการใช้ภาษาที่ดีกว่า

ในขณะที่สถานการณ์การแข่งขันเกมเป็นกีฬามีการพัฒนาไปอย่างมาก ซึ่งมูลค่าโดยรวมของอุตสหกรรมการแข่งขันเกมทั่วโลกปีที่ผ่านมามีกว่า 1,500 ล้านเหรียญ และเชื่อว่าตลอดปี 2017 จะมีมูลค่ารวมกว่า 3,000 ล้านเหรียญ โดยอาชีพแคสเตอร์ก็เป็นหนึ่งในอุตสหกรรมนี้เช่นกัน

น้องแชมป์แนะนำว่า การเริ่มต้นเป็นแคสเตอร์ ควรเริ่มที่การทดลองและฝึกฝนอย่างจริงจังในเกมที่ตนเองชื่นชอบก่อน เพื่อจะได้รู้จักในเกมที่ตนเองจะพากษ์ นอกจากนั้นการอ่านและการหมั่นหาความรู้เพื่อจะได้เข้าใจเนื้อหาเกมได้อย่างลึกซึ้ง ก็จะช่วยให้เราสามารถพากษ์เกมที่ดีได้อย่างราบลื่นและเป็นธรรมชาติมากยิ่งขึ้น

และที่สำคัญการสร้างองค์ความรู้ด้านภาษาให้เกิดความชำนาญแบบที่ไม่ต่างจากเจ้าของภาษาก็เป็นอีกหนึ่งความสำคัญที่จะทำให้ “อาชีพแคสเตอร์” ออกสู่ตลาดสากลได้อย่างง่ายดาย และแน่นอนว่าการสั่งสมประสบการณ์ เพื่อเปิดตัวเองว่าเป็นแคสเตอร์จนสามารถสร้างรายได้อย่างที่หวังนั้น จะต้องใช้เวลาและความสามารถทั้งหมดที่มีเพื่อสร้างสายสัมพันธ์ที่ดีกับอุตสากรรมเกมให้ได้จึงจะมีคนมั่นใจจ้างทำงาน

จะเห็นได้ว่าความสำเร็จของน้องแชมป์ มีจุดเริ่มต้นจาก “ความหลงใหล” ในการเล่นเกม และต่อยอดมาสู่การพากษ์เกมเป็นภาษาอังกฤษ จวบจนสามารถสร้างรายได้ได้อย่างมหาศาลเพื่อเลี้ยงตัว และมีโอกาสท่องเที่ยวไปทั่วโลกด้วยอาชีพที่ตนเองรัก ซึ่งแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องง่ายนักสำหรับเด็กที่อ่อนภาษาอังกฤษแต่ต้องมาพากษ์สิ่งที่เองรักเป็นภาษาอังกฤษให้ดูเป็นมืออาชีพมากที่สุด แต่น้องแชมป์ก็ผ่านมาได้อย่างสวยงาม

เห็นอย่างนี้แล้ว สังคมยังมองว่าความหลงใหลในเกมเป็นเพียงแค่ “สิ่งเสพติด” ที่เอาไว้ให้ “เด็กติดเกม” ไปวันวันหรือไม่ หรือควรเปลี่ยนความคิดเป็นส่งเสริมให้เด็กเล่นเกมได้อย่างถูกวิธี มีวินัยและอยู่ในกฏระเบียบในการเล่น มากกว่าตราหน้า “เกมทุกชนิด” ว่าเป็นภัยร้ายต่อการเลี้ยงดูบุตรหลานอย่างเช่นทุกวันนี้

ซึ่ง Thereporter.asia ก็ขอแนะนำว่าลองเปลี่ยนจากคำว่า “เด็กติดเกม” เป็นคำว่า “เด็กหลงใหลในเกม” บางทีอาจจะช่วยให้เด็กเหล่านั้นสร้างรายได้เป็นกอบเป็นกำได้ในอนาคต เหมือนอย่างน้องแชมป์ในวันนี้ก็เป็นได้

ขอบคุณภาพจากเฟซบุ๊ก Xyclopz

https://www.facebook.com/Xyclopzdota/

Related Posts