Flip It Challenge การสร้างคนดิจิทัลของดีแทค เพื่อรับธุรกิจใหม่

Flip It Challenge การสร้างคนดิจิทัลของดีแทค เพื่อรับธุรกิจใหม่
การปรับตัวของโลกธุรกิจไม่ว่าจะเป็นไปในแนวทางใด บุคลากรนับความเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดที่จะทำให้องค์กรสามารถก้าวผ่านไปสู่ธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงได้
ดังนั้นการเตรียมกลยุทธ์ทางด้านธุรกิจจึงต้องไปพร้อมๆ กับการพัฒนาบุคลากรให้มีความพร้อมอยู่เสมอ
ดีแทค คือองค์กรหนึ่งเชื่อว่าดิจิทัลจะทำให้ธุรกิจโทรคมนาคมเปลี่ยนแปลงรูปแบบไป รูปแบบของโมเดลธุรกิจนับจากนี้อาจจะเปลี่ยนไปจนกลายเป็นธุรกิจใหม่ ที่ไม่ใช่โทรคมนาคมเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นดีแทคจึงได้เริ่มการพัฒนาคนให้เป็นดิจิทัลเพื่อให้พร้อมรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ด้วยการปรับวัฒนธรรมองค์กรตั้งแต่ในระดับผู้บริหาร ไปจนถึงการมุ่งหากิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างคนดิจิทัลให้เกิดขึ้นมาได้
อย่างเช่นล่าสุดได้จัดการประกวด Flip It Challenge แคมเปญเพื่อหาไอเดียดิจิทัลของพนักงานดีแทค
นาฏฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า เป้าหมายหลักของดีแทคคือการเป็นผู้นำองค์กรดิจิทัลในประเทศไทย ปี 2020 จึงต้องเริ่มต้นในการพาทั้งองค์กรไปสู่ดิจิทัล และต่อยอดไปสู่ธุรกิจใหม่ที่ไม่ใช่แค่โทรคมนาคม
ดังนั้นจึงต้องเริ่มด้วยการสร้างประสบการณ์ดิจิทัลแก่พนักงาน เพื่อสร้างค่านิยมและความคิดต่อการขับเคลื่อนสู่ดิจิทัล
โดยกระตุ้นให้พนักงานทำเรื่องดำเนินการต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล ไม่ว่าจะเพื่อการดำเนินงานด้านธุรกิจหรือการพัฒนาความรู้และทักษะ ล้วนเป็นแนวคิดเพื่อกระตุ้นให้พนักงานมี digital mindset ด้วยการพัฒนาทั้ง hard skill และ soft skill
รวมถึงโปรแกรมหลักสูตรออนไลน์ เพื่อให้พนักงานได้เรียนรู้ด้วยตนเองผ่านแพลตฟอร์ม dtac academy นำเสนอเทรนนิ่งโปรแกรมและคอร์สอบรมออนไลน์ 24 ชั่วโมง
โดยได้มหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกอย่าง INSEAD และ LBS มาออกแบบหลักสูตร ซึ่งครอบคลุมตั้งแต่การวิเคราะห์ข้อมูลไปจนถึงการทำนายพฤติกรรมผู้บริโภค
ล่าสุดได้จัดประกวด Flip It Challenge แคมเปญจากไอเดียดิจิทัลของพนักงานดีแทค โดยได้ทีม dtac One เป็นผู้ชนะเลิศ ซึ่ง dtac One เป็นแอปพลิเคชัน เพื่อให้ร้านค้าของดีแทคสามารถทำการขายสินค้าได้รวดเร็วและถูกต้องมากขึ้น
ซึ่งมีฟังก์ชันการใช้งานมากมาย เช่น การโอนย้ายเบอร์ข้ามเครือข่าย การเปลี่ยนจากการใช้บริการแบบเติมเงินเป็นแบบรายเดือน หรือบริการเติมเงิน เป็นต้น
โดยขณะนี้พนักงานดีแทคทุกคนก็สามารถใช้งาน dtac ONE ได้ พร้อมๆกับช่วยทำหน้าที่เป็นตัวแทนของบริษัทในการให้บริการต่างๆ ให้แก่ครอบครัวและเพื่อนๆ ของพวกเขา นับเป็นก้าวหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงองค์กรเป็นดิจิทัล ที่ดีแทคได้เริ่มต้นผลักดันให้เกิดขึ้นจากภายในองค์กร
นาฏฤดี กล่าวว่า นอกจากนี้เพื่อเป็นการตอบสนองการขับเคลื่อนองค์กรสู่ดิจิทัลอย่างยั่งยืน กลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล จึงได้วางกลยุทธ์ผ่าน 4 ข้อ ประกอบด้วย 1. โครงสร้างองค์กร ได้มีการปรับรูปแบบโครงสร้างให้มีความคล่องตัวมากขึ้น ลดขั้นตอนและลำดับชั้น เพื่อให้มีการตัดสินใจได้รวดเร็วมากขึ้น
สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมและการปรับตัวทางธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเปิดโอกาสให้เกิดการโอนย้ายกับทำงานระหว่างหน่วยธุรกิจภายใต้เทเลนอร์ เพื่อเพิ่มศักยภาพและการเรียนรู้การทำงานในระดับสากล
2. เน้นการรักษาบุคลากรด้วย “วัฒนธรรมองค์กร” ซึ่งที่ดีแทคมีลักษณะการทำงานที่เน้นการสร้างผลงานเป็นสำคัญ (project-driven culture) มากกว่าการทำงานแบบกิจวัตร ทำให้งานประสบความสำเร็จตามเป้าหมายได้รวดเร็ว ปราศจากความล่าช้าของระบบที่มีขั้นตอนหลายระดับ
ด้วยแนวคิดความเสมอภาคของพนักงานในองค์กร ทุกคนมีสิทธิแสดงความคิดเห็นไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดก็ตาม ซึ่งถือเป็นดีเอ็นเอของบริษัทที่ว่า คิดต่าง (Think different) ทำเร็ว (Act fast) กล้าทำ (To be daring) และมุ่งมั่นที่จะชนะ (Passion to win)
3. ส่งเสริมให้มีทักษะที่เหมาะสมกับการทำงานยุคดิจิทัล ทั้งทักษะความรู้ (Hard skill) และทักษะเชิงอารมณ์ (Soft kill) โดยทักษะด้านความรู้ที่จำเป็นต่อยุคดิจิทัล เช่น การเขียนโค้ด (Coding) การวิเคราะห์บิ๊กดาต้า (Big data analytics)
การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ (New product launch) อย่างไรก็ตาม ทักษะเชิงอารมณ์ที่สำคัญต่อยุคดิจิทัลได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์และการทำงานเป็นทีม
และ 4. เส้นทางพนักงานดิจิทัล มุ่งเสริมสร้างประสบการณ์ดิจิทัลแก่พนักงาน เพื่อสร้างค่านิยมและความคิดต่อการขับเคลื่อนสู่ดิจิทัล
โดยกระตุ้นให้พนักงานทำเรื่องดำเนินการต่างๆ ผ่านช่องทางดิจิทัล
“การจ้างงานในปัจจุบันมีความท้าทายมากขึ้นและแตกต่างจากแนวคิดการจ้างงานแบบดั้งเดิม โดยคนดิจิทัลมีความคาดหวังในวัฒนธรรมการทำงานที่เน้นการสร้างผลงานเป็นสำคัญ (project-driven culture) มากกว่าพิจารณาจากชื่อเสียงองค์กร” นาฏฤดี กล่าว

Related Posts