TMB Analytics แนะ SMEs และภาคเกษตร ใช้นวัตกรรมยกระดับสินค้า ดิ้นหนีเศรษฐกิจทรงตัว

TMB Analytics แนะ SMEs และภาคเกษตร ใช้นวัตกรรมยกระดับสินค้า ดิ้นหนีเศรษฐกิจทรงตัว

ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีเอ็มบี หรือ TMB Analytics คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนปี 2561 จะมีแนวโน้มทรงตัว โดยขยายตัวได้ 3.2% เนื่องจากปัจจัยหนุนการบริโภคที่ไม่ได้ปรับดีขึ้นจากปีนี้มากนัก

และถึงแม้ว่าการส่งออกจะมีการขยายตัวดี แต่มูลค่าที่เพิ่มขึ้นส่วนมากมาจากบริษัทขนาดใหญ่ ซึ่งมีสัดส่วนการจ้างงานน้อย ทำให้การจ้างงานที่เพิ่มขึ้นยังอยู่ในวงจำกัด

อีกทั้ง ราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะทรงตัวในปีหน้า ซึ่งนับเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ทำให้การขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชน ในปีหน้าจะใกล้เคียงกับในปีนี้ เนื่องจากแรงงานกว่า 32% ในประเทศไทยอยู่ในภาคเกษตร กำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มนี้จึงขึ้นอยู่กับราคาสินค้าเกษตรเป็นหลัก

ขณะที่พืชเศรษฐกิจของไทย เช่น ข้าว อ้อย ยางพารา และมันสำปะหลัง กลับมีปัญหาการกระจุกตัวของตลาดส่งออก ทำให้ราคามีความอ่อนไหวต่อปัจจัยภายนอก ยกตัวอย่างเช่น มันสำปะหลัง ที่เคยส่งออกไปจีนกว่า 70% แต่ความต้องการจากจีนชะลอตัวลดลง

เป็นผลมาจากการเปลี่ยนนโยบายบริหารราคาสินค้าเกษตรตั้งแต่ปลายปี 2558 ทำให้ราคาลดลงจาก 2.1 บาทต่อกิโลกรัมนับตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2558 เหลือเพียง 1.3 บาทต่อกิโลกรัมในปัจจุบัน

โดย ศูนย์วิเคราะห์ฯTMB คาดว่าในปี 2561 ราคาสินค้าเกษตรหลักในปีหน้าจะไม่เปลี่ยนแปลงจากปีนี้มากนัก ถึงแม้ราคายางพาราและปาล์มจะมีแนวโน้มสูงขึ้นเล็กน้อย แต่ราคาอ้อยคาดว่าจะลดลง ในขณะที่ข้าวและมันสำปะหลังมีแนวโน้มทรงตัว

ทั้งนี้เศรษฐกิจที่ขยายตัวดีแบบกระจุกตัวอยู่ที่บริษัทใหญ่ ซึ่งจ้างแรงงานไม่มาก ประกอบกับราคาสินค้าเกษตรที่ยังมีแนวโน้มทรงตัว ทำให้คาดว่าการบริโภคภาคเอกชนในปี 2561 จะขยายตัวที่ 3.2% ซึ่งใกล้เคียงกับปี 2560 ที่ประเมินมาณไว้ที่ 3.1%

รวมทั้งการกระจายตลาดส่งออก เพื่อไม่ให้ราคาสินค้าเกษตรถูกกระทบจากปัจจัยภายนอกได้ง่าย จึงเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนการขยายตัวของการบริโภคภาคเอกชนในระยะยาว

ขณะที่ภาพรวมของการส่งออกที่เติบโตดีต่อเนื่อง จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าที่ขยายตัวดี โดย 9 เดือนที่ผ่านมาขยายตัวรวมกว่า 9.3% และคาดว่าจะขยายตัวได้รวม 6-8% ในปีนี้ ถือเป็นการขยายตัวสูงที่สุดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการส่งออกเกือบ 90% มาจากบริษัทใหญ่ ซึ่งมีเพียง 10% เท่านั้นที่มาจาก SMEs

แต่หากพิจารณาสัดส่วนการจ้างงาน จะพบว่าบริษัทใหญ่มีสัดส่วนการจ้างงานเพียง 13% ของทั้งระบบ ทำให้แรงงานส่วนใหญ่ยังไม่ได้รับประโยชน์อย่างเต็มที่จากการส่งออกที่ขยายตัวดี เนื่องจากแรงงานส่วนใหญ่อยู่ใน SMEs และภาคเกษตร ซึ่งมีสัดส่วน 55% และ 32% ตามลำดับ

ขณะที่ความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพการผลิต(Productivity) ผลผลิตของ SMEs ไทยยังด้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ค่อนข้างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับ SMEs ในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ประเทศอังกฤษ ที่มีสัดส่วนการจ้างงานโดย SMEs ใกล้เคียงกับประเทศไทย ประมาณ 53% ของการจ้างงานทั้งหมด

แต่ประเทศอังกฤษมีผลผลิตคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 51% ของผลผลิตทั้งหมดของประเทศ ในขณะที่ SMEs ไทย กลับมีสัดส่วนผลผลิตเพียง 36-37% ของผลผลิตรวมเท่านั้น

ดังนั้น จึงควรการเร่งพัฒนาบุคคลากรและแรงงานเพื่อช่วยยกระดับค่าจ้างแรงงาน และเพิ่มกำลังซื้อในระยะยาว ตลอดจนการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ และใช้นวัตกรรมเพื่อเพิ่มมูลค่าสินค้าของผู้ประกอบการ SMEs และภาคเกษตร เพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขันและเพิ่มโอกาสการเติบโตทางธุรกิจให้มากขึ้น

Related Posts