สินค้าชุมชน ได้รับการผลักดันมาแล้วจากหลายรัฐบาล และใช้ชื่อแตกต่างกันไปตามแต่จะสร้างชื่อกันขึ้นมา เพื่อภาพอันสวยหรูของนโยบาย แต่ยังคงไม่มีใครทำให้ชุมชนเหล่านั้นสามารถเลี้ยงตัวเองได้อย่างแท้จริง เพราะที่ผ่านมามีแต่นโยบายการโปรยเงินให้ชาวบ้านไปซื้อรถจักรยานยนต์ขี่ ไปทำพื้นที่ให้สวยงามแต่ก็ไม่มีใครเอาของไปขาย เพราะยังคงไม่มีการต่อยอดทางด้านการตลาดที่ชัดเจน มีแต่ลมปากไปพูดแต่ไม่เคยทำให้เห็นจริงจัง
“ไปรษณีย์ไทยเพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง” เป็นองค์ประกอบหนึ่งในโครงการดิจิทัลชุมชนด้านอีคอมเมิร์ซ ตามนโยบายของกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โครงการต้นแบบล่าสุดที่คาดหวังว่าจะช่วยขยายช่องทางการขาย สินค้าชุมชน ให้สามารถทำตลาดได้
เพราะโครงการนี้จะใช้ที่ทำการไปรษณีย์เป็นศูนย์กลาง ทำทุกอย่างให้แบบวันสต๊อปเซอร์วิส เพียงแค่ชาวบ้านนำสินค้าเข้ามาให้เท่านั้น ไม่ต้องทำตลาดเอง ไม่ต้องแพ็คสินค้าเอง มีคนจัดการให้เสร็จสรรพ รอเพียงแค่รับเงินและคอยส่งสินค้าเพิ่มให้เท่านั้น
ในโครงการนี้ไปรษณีย์ไทยใช้การพัฒนาท้องถิ่นด้วยแนวคิด บ้าน-วัด-โรงเรียน เสริมความแข็งแกร่งให้ชุมชนเติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ภายใต้แผน “ไปรษณีย์ไทย 4.0” หนึ่งในโครงการดิจิทัลชุมชนด้านอีคอมเมิร์ซ เดินหน้าพัฒนายกระดับผู้ประกอบการชุมชนและเศรษฐกิจท้องถิ่นให้สามารถใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อเพิ่มมูลค่าเชิงธุรกิจ
โดยใช้ประโยชน์จากช่องทางการจำหน่ายสินค้า ณ ที่ทำการไปรษณีย์ จำหน่ายผ่านแคตตาล็อก และผ่านระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ ด้วยระบบ Prompt Post และเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสมาร์ท (www.thailandpostmart.com)
นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) กล่าวว่า การสนับสนุน สินค้าชุมชน ดังกล่าว ไปรษณีย์ไทยได้ดำเนินการติดตั้งระบบบริหาร ณ จุดขาย หรือ พีโอเอส (POS: Point of Sale) ในพื้นที่ต้นแบบของโครงการ “ไปรษณีย์ไทยเพื่อแผ่นดินธรรม แผ่นดินทอง”
โดยเริ่มต้นในพื้นที่ 20 จุดในพื้นที่ชุมชนท้องถิ่นจังหวัดน่าน อาทิ ที่ทำการไปรษณีย์อนุญาต น่าน 103 (กองควาย) และร้านค้าชุมชนพันดวง โดยไปรษณีย์ไทยมีเป้าหมายในการติดตั้งระบบพีโอเอสจำนวนทั้งสิ้น 200 จุดในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนภายในสิ้นปีนี้
ส่วนหลังจากนี้ไปรษณีย์ไทยจะดำเนินงานเชื่อมโยงระบบพร้อมโพสต์และเว็บไซต์ไทยแลนด์โพสมาร์ท รวมไปถึงกระจายและติดตั้งระบบพีโอเอส รวมกว่า 10,000 จุดทั่วประเทศและมีสินค้าเข้าระบบจำนวนกว่า 50,000 รายการ เพื่อเป็นช่องทางการให้บริการผ่านระบบที่ได้มาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศภายในสิ้นปี 2561
“โครงการที่ไปรษณีย์ไทยนี้จะช่วยให้ชาวบ้านขายสินค้าชุมชนได้ ด้วยเครื่องมือ 3 ชุดแบบวันสต๊อปเซอร์วิส เช่นเดียวกับระบบโอนเงินก็ทำไว้แล้ว ไปรษณีย์เป็นสื่อกลางในการนำสินค้ามาชายโดยไม่ต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง โดยออเดอร์ถูกสั่งจากออนไลน์มา ศูนย์ไปรษณีย์ก็จะเรียกให้ชาวบ้านนำของมา แล้วก็จะมีบาร์โค้ดที่เชื่องโยงกับระบบทำให้ตรวจสอบได้
มีการขึ้นทะเบียนสมาชิกที่จะเก็บข้อมูลว่าสมาชิกนำสินค้ามาชายกี่ชิ้น รายละเอียดสินค้า ราคา แก้ไขได้ และระบบจะเชื่อมไปสู่เว็บไซต์ที่เป็นออนไลน์ เป็นพลับบลิคเข้าถึงได้ ตรวจสอบได้”
นางสมร กล่าวว่า ต่อไปก็จะฝึกอบรมให้ชาวบ้านเขียนเรื่องราวที่น่าสนใจ เขียนตำนานที่มา เพื่อให้สินค้าน่าสนใจมากขึ้น ในอนาคตจะมีภาษาอังกฤษ รูดบัตรเครดิตได้ เลือกเก็บเงินปลายทางได้ เพราะไปรษณีย์ก็มีบริการนี้เช่นกัน ส่วนในอนาคตจะมีแอปพลิเคชันในการให้ชาวบ้านรู้ด้วยว่ามียอดสั่งสินค้าไปพร้อมกับไปรษณีย์ ไปรษณีย์เตรียมออกอีวอลเล็ต เพื่อส่งเงินถึงตัวผู้ผลิตได้เลย
ไปรษณีย์ก็จะสามารถขายของออนไลน์ได้มีส่วนแบ่งจากการช่วยขายสินค้า เป็นผู้อำนวยความสะดวก เช่นเดียวกับชาวบ้านที่มาสั่งซื้อที่ไปรษณีย์และรับของที่นี่ได้เลย ต่อไปพอสินค้าขายได้ดีขึ้น ชาวบ้านก็อยากจะหามาตรฐานและคุณภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ชาวบ้านที่ไม่เคยรู้การขายของออนลน์ก็จะเรียนรู้ได้เลยจากที่นี่
รวมไปถึงชาวบ้านก็มีลูกหลานเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยให้ขายของได้ด้วย ต่อไปจะมีการเปิดช่องทางให้แชต มีปัญหาหรือข้อสงสัยก็จะสามารถสอบถามได้ทันที
“ไปรษณีย์ไทยพร้อมที่จะนำเครือข่ายของที่ทำการไปรษณีย์ทั่วประเทศเป็นช่องทางการจำหน่ายสินค้า จัดทำระบบซื้อขายสินค้าออนไลน์ และกระจายสินค้านำส่งไปยังผู้ซื้อทั่วประเทศ ผ่านระบบของไปรษณีย์ไทย
ซึ่งคาดว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยประชาชน ชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชนและร้านโชห่วย ใช้ในการบริหารจัดการการขายสินค้า สำหรับชุมชนที่พร้อมที่จะทำระบบนี้ ก็ทำในลักษณะเดียวกับไปรษณีย์ได้ถ้ามีสินค้าที่จะขายที่น่าสนใจเพียงพอ ลงทุนเบื้องต้นเริ่มที่ 10,000 -50,000 บาท แล้วทำระบบลิงค์กับไปรษณีย์”
เป้าหมายของโครงการ คือ มีร้านค้าชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน กลุ่มสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการไม่ต่ำกว่าร้อยละ 10 ของจำนวนหมู่บ้านที่มีการติดตั้งโครงข่ายอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงภายในปี 2561 หรือไม่ต่ำกว่า 2,470 กลุ่ม และแต่ละกลุ่มมีสินค้าหรือบริการไม่ต่ำกว่า 10 รายการ รวมเป็นสินค้า 24,700 รายการ
และมีผู้เข้าเยี่ยมชมสินค้าและบริการผ่านเว็บไซต์ (Visitor) ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 2 ล้านคน (Unique User) และมีอัตราการเปลี่ยนเป็นผู้ซื้อ (Sale) ร้อยละ 1 หรือ คิดเป็นเดือนละ 100,000 รายการสั่งซื้อ ราคาเฉลี่ยสินค้า 250 บาท/รายการสั่งซื้อ คิดเป็นมูลค่า 25 ล้านบาท/เดือน
นางสมร กล่าวว่า สิ่งที่ไปรษณีย์ไทยกำลังทั้งหมดนี้มีหน้าที่ขับเคลื่อนโครงการ e-Commerce ชุมชนระดับประเทศ รองรับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และไปรษณีย์ไทย 4.0 ซึ่งจะเห็นผลภายในปี 2562 โดยมีการดำเนินการ แบ่งเป็น 3 ส่วนหลักๆ ประกอบด้วย e-Marketplace & Platform พัฒนารูปแบบการจำหน่ายสินค้าชุมชนไปยังตลาดภายนอกผ่านระบบร้านค้าออนไลน์
โดยการจำหน่ายสินค้าจะดำเนินการผ่านแอปพลิเคชันระบบบริหารงาน ณ จุดขาย ที่ติดตั้งแอปพลิเคชันสำหรับร้านค้าสมาชิก มีระบบการชำระเงินและการขนส่งตามโครงการให้แก่ร้านค้าชุมชนที่มีความเหมาะสมและผ่านการคัดเลือกจากคณะทำงานให้เป็นจุดติดตั้งระบบงานและอุปกรณ์ POS เพื่อให้บริการแก่สมาชิกชุมชน
e-Payment สำหรับโครงการจะพัฒนาระบบการชำระเงินให้ครอบคลุมทุกความต้องการในการชำระเงิน ได้แก่ การชำระเงินผ่านร้านค้าออนไลน์ได้ทั้งบัตรเดบิต เครดิต กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ หักผ่านบัญชีธนาคาร เครื่อง ATM
รวมทั้งการชำระเงินในขั้นตอนการส่งมอบสินค้า ณ ที่อยู่ผู้รับด้วยเงินสดบัตรเดบิต/เครดิต เงินอิเล็กทรอนิกส์โดยร้านค้าชุมชนหรือผู้ผลิตสินค้าจะได้รับเงินผ่านระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ตามโครงการนี้ทันทีเมื่อส่งมอบสินค้าให้แก่ผู้ซื้อและไม่มีการส่งคืนสินค้า
e-Logistics เมื่อกลุ่มวิสาหกิจชุมชน ผู้ผลิตสินค้า กลุ่มเกษตรกร ประชาชนในชุมชนที่ผลิตสินค้าหรือบริการได้รับคำสั่งซื้อ จะนำสินค้าบรรจุกล่องแล้วนำไปส่งมอบให้แก่ร้านค้าชุมชน เพื่อดำเนินการจัดทำฉลากจ่าหน้า ผนึกบนห่อซองและทำการจัดส่งเข้าสู่ระบบงานขนส่ง
ซึ่งการพิมพ์ขั้นตอนการพิมพ์ฉลากจ่าหน้าจะได้รับเลขที่สิ่งของในการจัดส่งโดยอัตโนมัติ จะทำให้ผู้ซื้อสินค้าได้ทราบสถานะการดำเนินการและเลขที่สิ่งของเพื่อใช้ในการติดตามตรวจสอบมายังระบบการจัดส่งสินค้าได้ด้วยตนเอง
สำหรับการนำสินค้ามาฝากส่งเข้าสู่เส้นทางไปรษณีย์จะมีการประสานงานกับร้านค้าชุมชนในการให้บริการรับฝาก เช่น กำหนดสถานที่ในการจัดส่ง กำหนดวิธีการรับสินค้าว่าจะให้เดินทางมาส่ง ณ จุดใด หรือให้เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ออกไปรับฝากนอกสถานที่ในกรณีที่มีปริมาณงานจำนวนมาก ซึ่งจะดำเนินการด้านการเตรียมการจัดส่งและการแสดงสถานะสิ่งของจะดำเนินการผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
ทั้งหมดที่ไปรษณีย์ไทยได้ดำเนินการนี้ เรียกได้ว่าแทบจะทำทุกอย่างให้เธอแล้ว เพียงแต่ชุมชนเองต้องมีการพัฒนาตัวเอง พัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพ และรักษาคุณภาพไว้ให้ดี เพราะมีตัวช่วยจนแทบจะประเคนเงินให้ถึงกระเป๋าขนาดนี้ ถ้ายังไม่รู้จักทำอะไรเอง รอแต่ให้ภาครัฐช่วยตลอดเวลา สุดท้ายก็คงย่ำอยู่กับที่เหมือนเดิม