ความเจริญของอินเทอร์เน็ตและการแปรรูปสายสัญญาณเพื่อเชื่อมโยงบริการไฮเทครูปแบบต่างๆ เข้าสู่ผู้บริโภค เป็นความท้าทายอย่างหนึ่งที่สะท้อนให้เห็นประสิทธิภาพของ’ช่างเข้าสายสัญญาณ’ แน่นอนว่าบางคนอาจจะมองว่าเป็นเรื่องง่าย ไม่ต้องแยกเป็นอีกหนึ่งอาชีพที่ต้องได้รับการฝึกฝน แต่บ่อยครั้งที่เราเห็นการเดินสายและเข้าหัวสัญญาณแบบผิดวิธี และท้ายที่สุดการเดินสายนั้นก็ไม่สามารถใช้งานได้เต็มประสิทธิภาพ ต้องเดินสายใหม่และหัวเสียกับสัญญาณที่มาไม่เต็มประสิทธิภาพ
‘ช่างเข้าสายสัญญาณ’ จึงเป็นอีกหนึ่งบทบาทที่สำคัญของการใช้งานเทคโนโลยีเครือข่ายในยุคปัจจุบัน แน่นอนว่าผู้นำด้านสายสัญญาณอย่าง บริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) จึงต้องกระโดดเข้ามาจัดการประกวดฝีมือแรงงานด้านสายสัญญาณ เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตะหนักรู้และเพิ่มคุณภาพของการสร้างเครือข่ายสัญญาณที่ถูกวิธี
นายสมบัติ อนันตรัมพร ประธานกรรมการและกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ช่างเข้าสายสัญญาณ ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยลดต้นทุนที่เกิดจากความผิดพลาดของการเดินสายสัญญาณได้อย่างมหาศาล ด้วยวัสดุสิ้นเปลืองที่มีราคาแพง ตลอดจนการเลือกวิธีการที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมาใช้ สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นทักษะที่ละเอียดอ่อนและต้องได้รับการฝึกฝนเป็นอย่างมาก
อินเตอร์ลิ้งค์ เราพร้อมสร้างหลักสูตรเพื่อการศึกษา โดยในปีการศึกษาหน้าจะร่วมมือกับวิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง ในการเปิดหลักสูตรที่บางส่วนจะต้องเข้ามาเรียนที่ อินเตอร์ลิ้งค์แลปส์ พร้อมทั้งได้มีโอกาสร่วมฝึกงานจริงกับบริษัทฯ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการถ่ายทอดองค์ความรู้ที่ถูกต้องของทักษะด้านการเข้าสายสัญญาณแบบมืออาชีพให้กับเยาวชนรุ่นหลัง อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพและจำนวนของฝีมือแรงงานให้กับประเทศไทยไปในตัว
ทั้งนี้การแข่งขัน ‘สุดยอดฝีมือสายสัญญาณ ปี 5’ หรือ Cabling Contest 2017 ที่เปิดโอกาสให้นักเรียนสายอาชีวะและนักศึกษาระดับปริญญาตรี ได้เข้าร่วมแข่งขันการเข้าสายสัญญาณด้วยมาตรฐานช่างฝีมือระดับโลก ซึ่งจัดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 เพื่อคัดเลือกตัวแทนประเทศไทยในการเข้าแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานทั้งในระดับอาเซียนและระดับโลกที่จัดขึ้น ณ ประเทศอาบูดาบีทุก 2 ปี
และนับเป็นอีกหนึ่งเวทีที่ กลุ่มบริษัท อินเตอร์ลิ้งค์ คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ภายใต้ความช่วยเหลือของผลิตภัณฑ์ยี่ห้อ LINK จากสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน เพื่อพัฒนาบุคคลากรทางด้านช่างเข้าสาย ให้ทันความต้องการสร้างเครือข่ายของประเทศไทยในปัจจุบัน ซึ่งปัจจุบันยังถือว่าเป็นอาชีพที่ขาดแคลน ซึ่งหากมีความชำนาญค่าแรงงานของการเข้าสายจะสูงถึงจุดละ 1,000 บาทเลยทีเดียว

ทั้งนี้ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า ช่วงปี 2559 – 2561 จะมีเม็ดเงินลงทุนด้านโครงข่ายใยแก้วนำแสงสำหรับการให้บริการบรอดแบนด์อินเทอร์เน็ตแบบมีสาย รวมทั้งสิ้นราว 173,000 ล้านบาท ซึ่งส่งผลให้ธุรกิจที่เกี่ยวข้องโดยรวมมีอัตราการเติบโตที่รวดเร็วขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ซึ่งสวนทางกับอัตราการพัฒนาของทักษะแรงงานด้านสายสัญญาณ ที่ยังมีความท้าทายของการเพิ่มจำนวนและความสามารถอยู่อีกมาก
ความร่วมมือของภาครัฐและเอกชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการพัฒนาช่างฝีมือด้านสายสัญญาณที่ยั่งยืน เพื่อรองรับการเกิดขึ้นของโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมที่มีประสิทธิภาพ ตอบรับนโยบายดิจิทัล ไทยแลนด์ 4.0 จึงเป็นอีกหนึ่งความต้องการที่จะต้องร่วมกันสร้างให้เกิดขึ้นให้เร็วที่สุดนั่นเอง