ของขึ้น! JWT ปลุกกระแส ‘บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย’ วอนยุติความรุนแรงต่อสตรี

ของขึ้น! JWT ปลุกกระแส ‘บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย’ วอนยุติความรุนแรงต่อสตรี

เจ. วอลเตอร์ ธอมสัน กรุงเทพฯ หรือ JWT ปลุกกระแสโลกออนไลน์ จับมือมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล เปิดแคมเปญ ‘บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย’ รณรงค์ยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง ชูมายด์เซ็ต “กระสอบทราย” เชื่อมโยงเวทีมวย ปลุกระดมชูป้ายแคมเปญในโลกโซเชียลมีเดีย ประเดิมให้เหยื่อชูป้ายเดินรอบสนามมวย หวังกระตุ้นการรับรู้เพื่อยุติความรุนแรงและเสนอทางออกให้สตรีหากเกิดปัญหาขึ้น พร้อมสร้างความเข้าใจใหม่ให้ผู้คนรอบข้างอย่านิ่งเฉยอีกต่อไป

ปรัตถจริยา ชลายนเดชะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เจ.วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย เปิดเผยกับ TheReporter.asia ถึงที่มาที่ไปของแคมเปญนี้ว่า จุดเริ่มต้นของแคมเปญนี้เกิดจากการที่ทีมงานได้เห็นความรุนแรงในสังคมที่เกิดขึ้น จึงอยากสร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคม แม้ว่าจะเป็นส่วนเล็กๆจุดหนึ่ง แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่เราสามารถเริ่มได้ที่ตัวเราเอง

จากปัญหานั้นเองทีมงานจึงได้เริ่มตามหาความจริงของการเกิดความรุนแรงขึ้นในสังคม และได้รับทราบข้อมูลจาก มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล จึงเสนอตัวเป็นผู้ร่วมสนับสนุนกิจกรรมของมูลนิธิในส่วนของการสื่อสารและประชาสัมพันธ์ ซึ่งเป็นส่วนที่บริษัทถนัดตลอดไปให้กับมูลนิธิ โดยแคมเปญเริ่มต้นมีชื่อว่า ‘บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย’ เพื่อรณรงค์ให้ยุติความรุนแรงกับสตรีในครอบครัว

ซึ่งหากจะมองย้อนกลับไปที่ต้นเหตุของความรุนแรง สิ่งที่เราพบนั่นคือ ‘เหล้า’ มีส่วนกระตุ้นในจิตใจด้านความรุนแรงออกมา แต่ท้ายที่สุดแล้ว นิสัยที่ชื่อชอบความรุนแรงที่หล่อหลอมอยู่ในจิตใจของผู้ชาย กลับเป็นสารตั้งต้นที่แพร่ระบาดอยู่ทั่วไปในสังคมไทย จนวันนี้ประเทศไทยผงาดขึ้นเป็นอันดับ 2 ของโลกด้านการใช้ความรุนแรงในครอบครัว

บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย

ด้านนายทสร บุณยเนตร ผู้อำนวยการฝ่ายสร้างสรรค์ บริษัท เจ.วอลเตอร์ ธอมสัน ประเทศไทย เปิดเผยถึงแนวทางการสร้างสรรค์ว่า เป็นความท้าทายที่ต้องหาจุดที่ผู้คนจะรับรู้ได้ถึงความรู้สึกของการถูกกระทำรุนแรงภายในครอบครัว โดยเราเริ่มจากการสืบหาผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในครอบครัว สอบถามความรู้สึก จนมีอารรมณ์ร่วมไปกับผู้ที่ถูกกระทำ และรับรู้ความรู้สึกบางอย่างได้

“ถูกซ้อมยังกับกระสอบทราย” เป็นประโยคหนึ่งที่เราได้ยินจากปากของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง จากประโยคนี้ทำให้เราคิดว่าต้องทำอะไรกับกิจกรรมมวยสักอย่าง เนื่องจากเป็นคคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของผู้คน และคิดว่าน่าจะกระตุ้นความรู้สึกของผู้คนได้จากประโยคนี้ แคมเปญที่เกี่ยวข้องกับเวทีมวยจึงได้เกิดขึ้น เพื่อสื่อความหมายตามประโยคนี้อย่างเรียบง่ายให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้

เราจึงเลือกใช้กลยุทธ์ “Hijack” สอดแทรกคอนเทนท์ให้มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์จริง ซึ่งเราได้ไปถ่ายทำวิดีโอรณรงค์ในสถานที่จริงและสถานการณ์จริง โดยมีเป้าหมายต่อต้านการใช้ความรุนแรงให้ผู้ชายได้ฉุกคิด ณ ช่วงเวลาที่อะดรีนาลีนกำลังสูบฉีดในขณะที่กำลังเชียร์มวยอยู่รอบสังเวียนระหว่างการแข่งขันมวย

ขณะที่การเปิดตัวแคมเปญให้แตกต่าง ทำให้เราเลือกใช้ผู้ที่ถูกกระทำจริงๆมานำเสนอเรื่องราวของความทุกข์ทรมานที่เกิดขึ้น โดยมูลนิธิเป็นผู้คัดเลือกและได้รับความยินยอมจากตัวผู้ถูกกระทำเองที่ต้องการถ่ายทอดเรื่องราวเป็นอุทาหรณ์กับผู้คนในสังคมต่อไป ขณะที่การเลือกสถานที่นั้นสามารถประสานกับเวทีมวยอ้อมน้อยเพื่อให้ผู้ถูกกระทำเดินชูป้ายรอบเวที ซึ่งก็เป็นที่น่าประทับใจเหนือความคาดหมาย ที่ได้รับการปรบมือจากผู้คนทั่วเวทีมวยอย่างล้นหลาม

นาทีนั้น เรารับรู้ได้เลยว่า ข้อความที่เราจะส่งไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้มาถูกทางแล้ว ซึ่งผู้ที่ชูป้ายก็เดินกลับมาด้วยน้ำตานองหน้า ด้วยความปิติที่สามารถสื่อสารให้กลุ่มเป้าหมายได้ด้วยความประทับใจ และสามารถถ่ายทอดเรื่องราวของตนเองให้ผู้พบเห็นเข้าใจบริบทของความรุนแรงมากขึ้น

ทั้งนี้ความรุนแรงที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ไม่ได้แบ่งเพศของการตกเป็นเหยื่อ และไม่แบ่งอายุของการถูกกระทำ ความรุนแรงของครอบครัวเป็นจุดเริ่มต้นขอปัญสังคมที่จะเกิดขึ้นทั่วโลก ซึ่งข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวหน้าระบุว่า ประเทศไทยเป็นอันดับ 2 ของโลกด้านการใช้ความรุนแรง ขณะที่การรณรงค์เพื่อยุติความรุนแรงยังเป็นเพียงโครงการเล็กๆที่มีเพียงมูลนิธิหรือเอกชนบางรายเท่านั้นที่ร่วมรณรงค์

บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย

“เราหวังว่าโครงการนี้จะเป็นแคมเปญจุดประกายให้เกิดการรับรู้ ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวว่ามีอยู่จริง และจะทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น หากเราไม่ช่วยกันเริ่มต้นหยุดมัน อย่ารอเพียงการแก้ปัญหาของหน่วยงานรัฐขององค์กรใดองค์กรหนึ่ง แต่ควรเริ่มต้นที่ตนเอง เริ่มต้นที่เรา การไม่เมินเฉยต่อเหตุการณ์ที่พบเห็น การไม่ให้อารมณ์อยู่เหนือการควบคุม ตลอดจนการเปลี่ยนทัศนคติ ที่คิดว่า “ผู้ชายเป็นใหญ่” ออกเสีย”

ขณะที่การกระทำรุนแรงกับภรรยา นับเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นภายในครอบครัว ผู้คนในสังคมบางส่วนไม่กล้ายุ่งเกี่ยว เนื่องจากความเข้าใจที่ผิดๆ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้ผู้กระทำการย่ามใจ และทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ จนเหยื่อผู้ถูกกระทำบางรายถึงขั้นเสียชีวิตเลยก็มี เพราะฉนั้น การเพิกเฉยต่อการกระทำความรุนแรง จึงมีความผิดตามพระราชบัญญัติ คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. ๒๕๕๐

โดยมาตรา 4 ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว หรือผู้ที่พบเห็นหรือทราบการกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว มีหน้าที่แจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้ การแจ้งต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวรรคหนึ่ง เมื่อได้กระทำโดยสุจริต ย่อมได้รับความคุ้มครองและไม่ต้องรับผิดทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง

จะเห็นได้ว่า การเพิกเฉยต่อการกระทำความรุนแรงในครอบครัว นับเป็นความผิดตามกฏหมาย แต่กระนั้นการดำเนินการของเจ้าหน้าที่ซึ่งมีหน้าที่ตามกฏหมายโดยตรง ก็ยังทำงานอย่างไม่เต็มที่ เห็นได้การดำเนินการแจ้งความของผู้ถูกกระทำบางรายที่ถุกละเลยและไม่ดำเนินคดี ทำให้สังคมหรือผู้พบเห็นเหตุการณ์ต่างเอือมละอาต่อการแจ้งเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง และท้ายที่สุดก็จะไม่มีการแจ้งเตือนด้วยความคิดที่ว่า “แจ้งไปแล้วก็งั้นๆ ไม่เกิดอะไรขึ้น”

การรณรงค์ให้ชูป้าย “บ้าน… ไม่ใช่เวทีมวย #ผู้ชายไม่ทำร้ายผู้หญิง ปรึกษามูลนิธิหญิงชายก้าวไกล โทร 02-513-2889” บนโลกโซเชียลมีเดีย เพื่อแสดงตัวว่าเป็นหนึ่งในผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงในครอบครัว และเผยแพร่ทางออกที่ผู้ตกเป็นเหยื่อจะสามารถติดต่อเข้าไปหามูลนิธิได้ จึงเป็นอีกหนึ่งแคมเปญที่น่าจะทำให้เกิดการตื่นตัวของสังคมอีกครั้งในมุมของการยุติความรุนแรงในครอบครัว

ขณะที่ความต่อเนื่องจากแคมเปญนี้ กำลังคุยกันเรื่องการใช้ความรุนแรงกับเพศที่สามอย่าง ‘ทอม’ หญิงที่มีใจเป็นชาย ซึ่งถูกล่วงละเมิดทางเพศและกระทำการรุนแรงจากเพศชาย ด้วยทัศนะคติที่ผิดๆ ของผู้ชายบางกลุ่มในสังคมที่เกิดขึ้น

Related Posts