แคสเปอร์สกี้ แลป ยื่นคำร้องเพื่อล้มคำสั่งของกระทรวงความมั่นคงสหรัฐฯ

แคสเปอร์สกี้ แลป ยื่นคำร้องเพื่อล้มคำสั่งของกระทรวงความมั่นคงสหรัฐฯ

แคสเปอร์สกี้ แลป ประกาศยื่นอุทธรณ์ต่อศาลรัฐบาลกลางต่อการตัดสินใจของกระทรวงความมั่นคงแห่งมาตุภูมิของสหรัฐฯ เรื่องการยกเลิกการใช้ผลิตภัณฑ์ของแคสเปอร์สกี้ แลป ในหน่วยงานของรัฐ

แคสเปอร์สกี้ ได้ยื่นอุทธรณ์ภายใต้พระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง หรือ Administrative Procedure Act เพื่อเรียกร้องสิทธิตามรัฐธรรมนูญ และต่อคำสั่ง Binding Operational Directive ที่ห้ามหน่วยงานรัฐใช้ผลิตภัณฑ์ของแคสเปอร์สกี้ แลป

โดยบริษัทได้ยืนยันว่า การตัดสินใจของกระทรวงความมั่นคงฯ นั้นขัดต่อรัฐธรรมนูญ และเป็นข้อกล่าวหาที่ไม่มีแหล่งข้อมูลทางเทคนิค มีเพียงข่าวลือ คำกล่าวอ้าง และรายงานซึ่งไม่เป็นที่ยอมรับ ยิ่งไปกว่านั้น กระทรวงความมั่นคงฯ ไม่ได้ให้เวลาแก่บริษัทเพียงพอเพื่อแก้ข้อกล่าวหานี้ รวมถึงไม่ได้แสดงหลักฐานการกระทำความผิดตามที่กล่าวอ้างอีกด้วย

ทั้งนี้ แคสเปอร์สกี้ มุ่งมั่นในการพัฒนาเทคโนโลยีและเซอร์วิสอย่างโปร่งใสและเชื่อถือได้มาอย่างยาวนาน และความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐบาลและบริษัทความปลอดภัยไอทีทั่วโลกในการต่อสู้กับภัยคุกคามไซเบอร์ ทั้งนี้ บริษัทมีหลักฐานที่แสดงความตั้งใจที่จะให้ร่วมมือในการตรวจสอบเต็มที่ต่อกระทรวงความมั่นคงฯ โดยได้ติดต่อไปยังกระทรวงกลางเดือนกรกฎาคม

เพื่อเสนอที่จะให้ข้อมูลบริษัท การดำเนินงาน และผลิตภัณฑ์ ต่อมาเมื่อกลางเดือนสิงหาคม กระทรวงได้ยืนยันการรับจดหมาย ระบุว่าซาบซึ้งกับข้อเสนอที่จะให้ข้อมูลและแสดงความสนใจที่จะติดต่อกับแคสเปอร์สกี้ แลป เพิ่มเติมในอนาคต อย่างไรก็ตาม วันที่ 13 กันยายน บริษัทก็ได้รับแจ้งเรื่องการออกคำสั่ง Binding Operational Directive 17-01

การกระทำของกระทรวงความมั่นคงฯ ได้สร้างความเสียหายแก่ชื่อเสียงของบริษัทในวงการความปลอดภัยไอทีรวมถึงยอดขายในสหรัฐอเมริกา ทำให้เกิดคำถามถึงหลักการทำงานของแคสเปอร์สกี้ แลป ในการปกป้องลูกค้าและต่อกรกับภัยคุกคามไซเบอร์ ในการยื่นอุทธรณ์ครั้งนี้ แคสเปอร์สกี้ แลป หวังว่าจะสามารถรักษาสิทธิภายใต้รัฐธรรมนูญสหรัฐและกฎหมายกลาง และซ่อมแซมความเสียหายที่เกิดขึ้นต่อการดำเนินธุรกิจ พนักงานของบริษัทที่ทำงานในสหรัฐ และคู่ค้าของแคสเปอร์สกี้ แลป

ยูจีน แคสเปอร์สกี้ ซีอีโอของแคสเปอร์สกี้ แลป กล่าวว่า “แคสเปอร์สกี้ แลป ไม่ได้รับโอกาสที่เป็นธรรมต่อข้อกล่าวหาและไม่มีหลักฐานทางเทคนิคประกอบการตัดสินใจของกระทรวงความมั่นคงฯ บริษัทจึงต้องปกป้องตัวเอง แต่ถึงอย่างไรก็ตาม เราก็จะดำเนินงานเช่นเดิมอย่างต่อเนื่อง นั่นคือ การสร้างโลกที่ปลอดภัยมากขึ้นให้พ้นจากอาชญากรรมไซเบอร์”

โดยที่ผ่านมา แคสเปอร์สกี้ ได้เปิดตัว “Global Transparency Initiative” โครงการที่แสดงถึงความโปรงใสและความน่าเชื่อถือของแคสเปอร์สกี้ แลป ตั้งเป้าภายในปี 2020 บริษัทจะเปิดศูนย์ Transparency Center สามแห่งในทวีปเอเชีย ยุโรป และสหรัฐอเมริกา เพื่อเปิดให้ตรวจสอบซอร์สโค้ด ซอฟแวร์อัพเดท ข้อกำหนดการตรวจจับภัยคุกคาม

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มรางวัล Bug Bounty ในการค้นหาช่องโหว่ของผลิตภัณฑ์แคสเปอร์สกี้ แลป เป็นเงิน 1 แสนเหรียญสหรัฐอีกด้วย

Related Posts