ดีอีเคาะราคา เน็ตประชารัฐ ชี้อยากให้จ่ายเพื่อเห็นค่าไม่ใช่รอแต่ของฟรี

ดีอีเคาะราคา เน็ตประชารัฐ ชี้อยากให้จ่ายเพื่อเห็นค่าไม่ใช่รอแต่ของฟรี

เน็ตประชารัฐ ใกล้ติดตั้งตามเป้าหมาย 24,700 หมู่บ้าน พร้อมตั้งราคาเริ่มต้นที่ 349 บาทต่อเดือนด้วยความเร็วรับ/ส่ง 30 Mbps/10 Mbps ด้านรัฐมนตรีดีอีเผยต้องใช้ราคาตามกลไกตลาด อยากให้ประชาชนได้เห็นคุณค่าเพราะต้องเสียเงิน ไม่ใช่เห็นแก่ของฟรี ส่วนปีหน้าจะโหมเรื่องอีคอมเมิร์ซ และจะจับมาชนกับเน็ตประชารัฐ

ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ในปีหน้ากระทรวงดีอีเตรียมสนับสนุนเรื่องอีคอมเมิร์ซให้กับชุมชนต่างๆ ถือเป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการยกระดับโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศหรือโครงการเน็ตประชารัฐ

ซึ่งขณะนี้ทีโอทีได้ดำเนินการไปแล้วจำนวน 23,214 หมู่บ้าน (ณ 10 ธันวาคม) หรือกว่า 90% เหลือ 1,486 หมู่บ้าน จากจำนวนเป้าหมาย 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศภายในปี 2560

“การติดตั้งดังกล่าวนี้จะจัดให้มีจุดให้บริการอินเทอร์เน็ตแบบไร้สายให้สามารถเข้าถึงได้อย่างเหมาะสมหมู่บ้านละ 1 จุด ที่ระดับความเร็วรับ/ส่ง 30 Mbps/10 Mbps โดยจะคิดราคาประมาณ 349 หรือ 399 ต่อเดือน ซึ่งการตั้งราคาต้องดูกลไกตลาดให้เหมาะสม

แต่การตั้งราคานี้เป็นนโยบายกลางๆ ไม่ได้บังคับ ใครจะคิดราคาเท่าไรก็ได้ เพื่อให้เกิดเป็นราคาที่ให้ชาวบ้านได้ใช้งานจริงๆ และเห็นถึงคุณค่า อย่าให้ชาวบ้านเห็นแก่ของฟรีอยู่ตลอดเวลา เพื่อให้การกระจายความเจริญเกิดขึ้นจริง”

ทั้งนี้ บมจ.ทีโอทีทำระบบการให้บริการเน็ตประชารัฐแบบเปิด หรือ โอเพ่นแอคแซ็ส โดยมี 3 ช่วงของพื้นที่ให้บริการ คือ 1.ลาสไมล์ หรือจุดเชื่อมต่อปลายทางที่เข้าถึงหมู่บ้าน 2.จากพื้นที่หมู่บ้านไปจนถึงจุดเชื่อมต่อของทีโอทีเน็ตประชารัฐ

และ 3.จุดเชื่อมต่อทีโอทีที่จะให้เครือข่ายต่างๆ เข้ามาเชื่อมต่อขยายการให้บริการ โดยพื้นที่นี้หากเครือข่ายใดสนใจก็เข้าเชื่อมต่อเพื่อเปิดบริการในราคาแพ็คเกจดังกล่าวได้ ซึ่งทีโอทีเองก็มีสิทธิ์เข้ามาเปิดให้บริการได้เช่นกัน

ดร.พิเชฐ กล่าวว่า สำหรับในปีหน้าจะโหมเรื่องอีคอมเมิร์ซและจะจับมาชนกับเน็ตประชารัฐ ซึ่งขณะนี้จากเดิมที่เรามีศูนย์ไอซีทีชุมชนที่ได้ดำเนินการไปแล้วประมาณ 2,000 แห่ง แต่จากที่สำรวจล่าสุดพบว่ามีความพร้อมประมาณ 1,000 แห่ง จึงได้มอบหมายให้ปลัดกระทรวงดีอีเริ่มสร้างความรู้และพัฒนามาสเตอร์เทรนเนอร์

โดยในปีนี้จะเริ่มสร้างกลุ่มแรก 100 คนเพื่อให้เกิดการใช้งานไอซีทีเพื่อสนับสนุนธุรกิจชุมชน และให้คนกลุ่มนี้ไปดึงหัวกะทิในแต่ละชุมชนเข้ามาเรียนรู้ร่วมกันเพื่อเป็นการขยาย โดยมีเป้าหมายสุดท้าย 100,000 คน ในปีหน้า

Related Posts