ในแวดวง’โทรคมนาคม’ ไทยในปีนี้กลายเป็นอีกปีที่น่าจดจำในหลายเรื่อง ทั้งที่เป็นเรื่องที่น่าสนใจจนต้องกด “ว๊าว” หรือเรื่องราวที่ดูๆ แล้วน่าจะมีอะไรเป็นเงื่อนงำและแอบแฝงกันอยู่ แม้จะดูเหมือนไม่ค่อยมีอะไรน่าตื่นเต้น แต่ในความเป็นคลื่นใต้น้ำนั้น มีอะไรมากกว่าที่ตามองเห็น แต่จะไม่กด “ว๊าว” ให้ก็ไม่ได้ เพราะไม่มีตัวเลือกใดที่เหมาะสม ถือเป็นการกดเพื่อมารยาทภายใต้ข้อสงสัยบางอย่าง
1.ดีแทค “ลื่น” จนเกือบจะยืนไม่อยู่
ปีนี้ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่น่าจดจำของดีแทคเลยทีเดียว เรียกได้ว่าเป็นปีที่ค่อนข้างเหนื่อย และหลายครั้งที่ก็ลื่นเสียจนเบรคไม่อยู่ เริ่มจากลื่นแรก ในปีนี้ได้หลุดออกจากตำแหน่งผู้ให้บริการเบอร์ 2 ของวงการโทรคมนาคมไทยเรียบร้อยแล้ว โดนอดีตเบอร์ 3 เสียบขึ้นมาเบาๆ ด้วยลูกค้าไม่ห่างกันมากนัก แต่เรื่องแค่นี้ก็กลายเป็นการบลัฟกันไปมาของค่ายคู่แข่งได้แบบภูมิอกภูมิใจ
และแม้ว่าในปีนี้ดีแทคจะมีการเพิ่มสิทธิประโยชน์และบริการต่างๆ เสริมขึ้นมาค่อนข้างมาก แต่ก็ยังมิอาจทนกระแสลดแลกแจกแถมของค่ายคู่แข่งที่มีความคอนเวอร์เจนต์สูงกว่าได้ ก็ต้องรอดูกันในปีหน้าว่าดีแทคจะคว้ากลยุทธ์ใดขึ้นมาอีกบ้าง และจะกู้คืนลูกค้ากลับคืนมาได้มากน้อยแค่ไหน
ความถี่ 2300 MHz เป็นความหวังใหม่ทางธุรกิจในการจะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มและบริการใหม่ๆ ที่ดีแทคและทีโอทีประกาศพร้อมกันแล้วว่าจะทำธุรกิจร่วมกัน แต่หลังจากที่เปิดตัวให้ได้รับรู้กันในเดือนพฤษภาคมก็มีกระแสจากหลายกูรูฟันธงว่า ดีแทคจะยังไม่ได้ใช้คลื่นนี้ภายในปีนี้
แล้วคำทำนายก็กลายเป็นจริง เพราะแม้ล่าสุดทางกสทช.ผู้ที่ยื้อทุกวิถีทางจะออกมาประกาศแล้วว่าหากอัยการสูงสุดตอบหนังสือกลับมาว่าทำได้ ก็เดินหน้าได้ทันที ซึ่งก็ต้องรอดูกันต่อไปว่าจะเริ่มดำเนินการได้จริงเมื่อไร หรือจะมีใครผลักให้ลื่นจนยืนเซไปเซมาอีกหรือเปล่า
มองโลกในแง่ร้ายหน่อยเรื่องนี้ก็เป็นการหักใบพัดสีฟ้าให้หมุนไม่ได้ด้วยกลยุทธ์ทุกวิธีทาง ผ่านตัวกลางที่มีอำนาจในการกำหนดว่าให้ทำหรือไม่ให้ทำ เพราะคำว่า Good Governance น่าจะใช้ได้กับการแข่งขันกันระหว่างบริษัทฝรั่งเท่านั้น ยังไม่เหมาะกับการแข่งขันไทยกับไทยหรือไทยกับฝรั่งแต่อย่างใด เพราะเป็นที่รู้กันดีอยู่ว่าหากดีแทคได้ ความถี่ 2300 MHz ซึ่งเป็นคลื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าคลื่นที่มีใช้กันอยู่ในขณะนี้ ก็น่าจะสร้างความแข็งแกร่งในตลาดได้อีกมาก
ดังนั้นการเดินหน้าขัดขาไม่ให้ได้มาทุกวิถีทางจงเป็นเรื่องที่ต้องทำ ถือเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับดีแทคที่จะสัมปทานจะสิ้นสุดในเดือนก.ย.61 ให้มากขึ้นไปอีก เพราะความถี่ในระบบใบอนุญาตมีเพียง 15 MHz อาจจะไม่เพียงพอที่จะสร้างความได้เปรียบ
ไม่ใช่เรื่องแรกที่การดำเนินธุรกิจของดีแทคจะไม่ค่อยราบรื่น แต่ลื่นอยู่ตลอด เพราะแม้จะมีบริษัทลูกอย่างเช่นไลน์โมบาย ที่ในช่วงเปิดตัวจะยังไม่บอกว่าเป็นอีกบริษัทที่ตั้งขึ้นมาแล้วใช้คลื่นความถี่เดียวกัน แต่ด้วยความฮือฮาน่าตื่นเต้นจนอาจจะสร้างความเสียขวัญสั่นประสาทให้กับคู่แข่งอยู่ไม่น้อย
การดำเนินการฟ้องร้องแบบเด็กๆ จึงเกิดขึ้น จนต้องมีการแถลงกันอีกยกใหญ่กว่าจะเคลียร์ หรือแม้แต่เรื่องล่าสุดอย่างการผิดพลาดของระบบบิลลิง ที่เหมือนจะถูกปั้นให้กลายเป็นเรื่องราวใหญ่โต ก็ผลักให้ดีแทคลื่นจนเซไปอีก ทั้งที่ความผิดพลาดก็ได้รับการแก้ไขไปแล้ว งานนี้ต้องฝากไปยัง ลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ดีแทคให้ลองบูชาราหูดูบ้างเผื่ออะไรจะดีขึ้น หรือไม่ก็รออีกนิด เพราะพอราหูย้ายออกจากเรือน เรื่องดีๆ ก็น่าจะตามมา
2.ทีโอที หมากเกมนี้ยังต้องเดินแบบคิดให้รอบด้าน
การเดินหน้าธุรกิจของทีโอทีในปีนี้ ต้องต้องบอกเลยว่าเหนื่อยไม่แพ้กัน โดยเฉพาะเรื่องการเป็นพันธมิตรกับดีแทคในคลื่น 2300 MHz ที่ต้องวิ่งไปวิ่งมาระหว่างแจ้งวัฒนะกับซอยสายลมเป็นว่าเล่น เพื่อดำเนินการให้ข้อมูลในสิ่งที่ยังขาดตกบกพร่อง หรือจริงๆ แล้วเป็นข้อมูลที่ค่อนข้างละเอียดและดีพอแล้ว แต่ยังไม่พอใจ
ซึ่งคลื่นนี้ไม่ใช่เฉพาะดีแทคเท่านั้นที่อยากได้ แต่ทีโอทีก็ต้องการให้เช่นกัน เพราะหากเซ็นสัญญากับดีแทคได้ภายในต้นปีหน้า ทีโอทีจะเริ่มได้รับรายได้จากสัญญาดังกล่าวภายในสิ้นไตรมาสแรกของปี หรือหลังจากที่เซ็นสัญญา 3 เดือน โดยรายได้ที่จะได้รับในปีหน้าอยู่ที่ประมาณ 8,000-9,000 ล้านบาท
หากเป็นไปตามคาดหวังในปี 2561 ทีโอทีจะกลับมามีกำไรสุทธิประมาณ 2,000 ล้านบาท จากในปีนี้ที่ยังขาดทุนอยู่ โดยผลประกอบการ 11 เดือน ทีโอที มีรายได้อยู่ที่ 32,000 ล้านบาท ต่ำกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ คือ 34,000 ล้านบาท และเมื่อนำค่าใช้จ่ายอีก 1 เดือนที่เหลือ และหักค่าเสื่อม คาดว่า ทีโอทียังขาดทุนอยู่เหมือนเดิม แต่ก็ถือว่าผลประกอบการดังกล่าวเป็นผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทีโอที ขาดทุนลดลง 55% โดยมาจากการประหยัดค่าใช้จ่ายภายในองค์กร เช่น การจัดซื้อในราคาถูกลง เป็นต้น
ทั้งนี้นอกจากรายได้ที่จะได้จากการทำธุรกิจร่วมกับดีแทคแล้ว ในปีหน้าทีโอทีจะมีมีรายได้ที่แน่นอนเดือนละ 325 ล้านบาท จากการเซ็นสัญญากับเอไอเอส ในคลื่น 2100 MHz นอกจากนี้จากการที่ทีโอที ได้ติดตั้งโครงการเน็ตประชารัฐครบทั้ง 24,700 หมู่บ้านแล้วในวันที่ 20 ธ.ค. ที่ผ่านมา
จะทำให้ทีโอทีมีรายได้จากการบำรุงรักษาโครงข่ายหลังจากติดตั้งโครงข่ายครบ 1 ปี รวมไปถึงรายได้จากการที่ทีโอทีจะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้จากบริการไซเบอร์ซีเคียวริตี รวมถึงแอปพลิเคชันบนโครงข่ายเน็ตประชารัฐได้ ยังไม่นับรวมว่าจะเข้าไปเป็นหนึ่งในผู้เข้าร่วมการให้บริการสู่ครัวเรือนประชาชนด้วยหรือไม่
เพราะราคายังต้องตกลงกันอีกที แต่หากเข้าร่วมทีโอทีก็จะมีรายได้ในส่วนนี้เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นเมื่อรวมหลายๆ เรื่องในปีแล้ว คาดว่าฟ้าหลังในของทีโอทีในปีหน้าน่าจะมีเรื่องดีๆ เกิดขึ้น
3.CAT กับการขยายธุรกิจเข้าสู่โลกของ IoT ก่อนใคร
ภาพของ บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) อาจจะวนเวียนอยู่ในเรื่องของการสื่อสารระหว่างประเทศ และการเป็นธุรกิจ MVNO แต่ในปีหน้านี้ ธุรกิจใหม่ที่น่าจับตาและเป็นธุรกิจที่เรียกได้ว่าใครทำก่อนย่อมได้เปรียบ อย่างโครงข่าย LoRaWAN ที่เชื่อมต่อกับอุปกรณ์ IoT (Internet of Things) จะกลายเป็นสิ่งที่ทำให้ CAT ดูล้ำยุคขึ้นมาได้แบบไม่น่าเชื่อ
แม้ทางผู้บริหารจะบอกว่าเป็นธุรกิจที่ยังสร้างรายได้ไม่มากนัก แต่ก็ถือว่าเป็นอีกธุรกิจที่น่าจับตาไม่น้อยเลย และที่ผ่านมา CAT ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง เห็นได้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมแบบไม่น่าเชื่อ
โครงข่าย LoRa (Long Range Wide Area Network) ซึ่งเป็นโครงข่ายสื่อสารไร้สายเพื่ออุปกรณ์ IoT โดยเฉพาะ ซึ่ง CAT ได้ติดตั้งโครงข่าย LoRa ให้บริการ IoT อย่างสมบูรณ์แล้วในจังหวัดภูเก็ตซึ่งถือเป็นจังหวัดต้นแบบเมืองอัจฉริยะแห่งแรกของประเทศไทย มีการใช้งาน IoT กันอย่างแพร่หลายทั้งคนในพื้นที่และนักท่องเที่ยว
โดยปี 2560 CAT ได้ทดลองให้บริการ IoT ผ่านโครงข่าย LoRa และได้ผลตอบรับในการทดสอบการใช้งานดีเป็นที่น่าพอใจ อาทิ ระบบ Tracking System เพื่อติดตามตัวบุคคล ระบบ Smart Logistic ในการติดตามและตรวจสอบตำแหน่งรถต่างๆ ในเมืองภูเก็ต เป็นต้น และเตรียมที่จะขยายไปสู่พื้นที่เมืองใหญ่ที่มีความต้องการใช้บริการมาก เช่น จังหวัดเชียงใหม่ และจังหวัดขอนแก่น เป็นต้น
นายณัฏฐวิทย์ สุฤทธิกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานสื่อสารไร้สาย บมจ.กสท โทรคมนาคม (CAT) หัวเรือใหญ่ของการดูแลธุรกิจในส่วนนี้ กล่าวว่า สำหรับการขยายพื้นที่ให้บริการ LoRa IoT by CAT ได้ตั้งเป้าหมายขยายสู่ทุกพื้นที่ทั่วประเทศเช่นเดียวกับพื้นที่ให้บริการโครงข่ายเซลลูล่าที่มีอยู่แล้ว โดย CAT มีศักยภาพและความพร้อมในการขยายโครงข่าย LoRa ได้อย่างรวดเร็ว
เนื่องจากสามารถดำเนินการติดตั้งโครงข่าย LoRa บนโครงสร้างพื้นฐานเดิมของโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ CAT ให้บริการอยู่แล้ว จึงสามารถติดตั้งได้อย่างรวดเร็วและใช้งบประมาณที่ไม่มากและช่วยให้ผู้บริโภคได้ใช้ประโยชน์จากการใช้งาน IoT ในราคาที่ต่ำ
นอกจากนี้ยังจะเปิดให้นักพัฒนาบริการ IoT ในภาคส่วนต่าง ๆ ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย เอกชน และประชาชนที่สนใจในเทคโนโลยีดังกล่าวสามารถเข้าร่วมเป็นพันธมิตร ในการสร้างบริการหรือนวัตกรรมด้าน IoT ร่วมกันบนโครงข่าย LoRa IoT ของ CAT ที่มีแผนจะขยายโครงข่ายLoRa เพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ ในช่วงต้นปี 2561
โดย CATจะเป็นผู้ให้บริการโครงข่าย LoRaระบบ IoT Service Platform รวมถึงการร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อคิดค้นและผลิตนวัตกรรมใหม่ๆ ป้อนให้กับผู้ใช้งานโดยตรง
“การก้าวสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 จะเกิดอุปกรณ์ต่างๆที่จะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ต หรือ IoT (Internet of Things) ปริมาณมาก โดยคาดว่าจะเพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็วถึง 270 ล้านอุปกรณ์ภายใน 5 ปีและจะมีผู้ใช้งานอุปกรณ์ IoT ในประเทศกว่า 1,080 ล้านชิ้น CAT จึงได้เตรียมความพร้อมในการสร้างโครงข่ายรองรับอุปกรณ์เหล่านี้ด้วย
ทั้งนี้ได้เร่งดำเนินการขยายโครงข่ายดังกล่าวให้ครอบคลุมพื้นที่ที่มีความต้องการพร้อมกับเตรียมเปิดให้บริการในเชิงพาณิชย์ ในช่วงต้นปี 2561 ภายใต้ชื่อ “LoRa IoT by CAT”
นอกจาก CAT จะเดินหน้าในการวางโครงข่ายแล้ว ยังได้ทำการสนับสนุนกิจกรรมที่ช่วยให้เกิดนักพัฒนารุ่นใหม่มากขึ้นโดยเฉพาะทางด้านสมองกลฝังตัว เพื่อเพิ่มโอกาสให้เยาวชนได้สร้างสรรค์เทคโนโลยีสำหรับใช้งานในประเทศไทย
เป็นการลดการพึ่งพาเทคโนโลยีจากต่างชาติ และยังมองถึงช่องทางต่อยอดให้ผลงานเหล่านี้ได้ขยายผลในเชิงพาณิชย์ได้ในอนาคต ซึ่งโครงการที่ CAT กำลังดำเนินอยู่นี้ Thereporter.asia ขอลุกขึ้นปรบมือ
4.กสทช.เปิดรับฟังความคิดเห็นการประมูลคลื่นใหม่ แต่ไม่สนใจเสียงใคร
อาจจะดูเป็นหน่วยงานที่ค่อนข้างจะมองเห็นความคิดของตัวเองเป็นใหญ่ เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีหลายเสียงคัดค้านความคิดที่จะใช้ราคาประมูลครั้งสุดท้ายมาเป็นจุดเริ่มต้นของการประมูลคลื่นความย่าน 900 MHz และ 1800 MHz ที่คาดว่าจะเปิดให้มีการประมูลได้ในเดือน พ.ค. 2561 และจะสามารถออกใบอนุญาตได้ในเดือน มิ.ย. 2561
โดยกสทช.ยังคงที่จะให้ราคาประมูลเริ่มต้นอยู่ที่อยู่ที่ 37,988 ล้านบาท สำหรับคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ที่กำหนดให้มีการประมูล 1 ชุดคลื่นความถี่ ( 1 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ 5 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี
ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 1800 MHz นั้นได้กำหนดหลักเกณฑ์กำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่จำนวน 45 MHz โดยแบ่งเป็น 3 ชุดคลื่นความถี่ (3 ใบอนุญาต) ขนาดคลื่นความถี่ชุดละ15 MHz มีอายุใบอนุญาต 15 ปี โดยราคาขั้นต่ำของการประมูลครั้งนี้อยู่ที่ 37,457 ล้านบาท
โดยราคาตั้งต้นดังกล่าว นาย สมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เคยให้ความเห็นว่า การนำราคาครั้งที่แล้วมาเป็นตัวตั้งไม่ใช่คำตอบของราคาเริ่มต้นที่ถูกต้อง เพราะราคาครั้งที่แล้วเป็นราคาที่ผิดปกติ แพงเกินไป และหากต้องประมูลด้วยราคาที่สูง การแข่งขันจะไม่สามารถแข่งได้ สุดท้ายผู้บริโภคจะถูกผลักภาระให้ใช้บริการที่แพงขึ้น เพราะต้นทุนที่สูงนั่นเอง
เช่นเดียวกับนายนฤพนธ์ รัตนสมาหาร ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานรัฐกิจสัมพันธ์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค ที่ให้ความเห็นว่า กำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในระดับที่จูงใจ และให้กลไกการแข่งขันเสนอราคาเป็นตัวกำหนดราคาคลื่นความถี่ที่เหมาะสม
ไม่ควรนำราคาชนะการประมูลในปี 2558 ที่สูงผิดปกติมาเป็นเกณฑ์ในการกำหนดราคาเริ่มต้นการประมูลในครั้งนี้ ราคาที่สูงเกินควรจะมีความเสี่ยงที่ กสทช.ไม่สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้ทั้งหมด หรือ หากจัดสรรได้ก็จะเป็นภาระต้นทุนของผู้ชนะการประมูลในการลงทุนขยายโครงข่ายและลดความสามารถในการแข่งขันด้านราคาที่จะกระทบต่อผู้บริโภคอีกทอดหนึ่งต่อไป
นอกจากนี้ยังควรกำหนดเพดานการถือครองคลื่นสูงสุดให้เหมาะสมเปิดโอกาสให้ผู้เข้าประมูลทุกรายสามารถแข่งขันในการประมูลเพื่อถือครองคลื่นสูงสุดได้โดยไม่จำเป็นต้องกำหนดเงื่อนไข N-1ที่อาจจะเป็นกลไกการสร้างความขาดแคลนคลื่นความถี่เทียม (Artificial Spectrum Scarcity) ที่จะส่งผลด้านลบมากกว่าผลดี
แต่ดูเหมือนว่าเรื่องที่ทำเป็นการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จะกลายเป็นแค่การทำตามข้อกำหนดกฏหมายที่ต้องมีการทำประชาพิจารณ์ เพราะในท้ายที่สุดทางกสทช.ก็ยังออกมายืนยันว่าสิ่งที่ตนเองคิดมานั้นดีและเหมาะสมอยู่แล้ว ส่วนทางด้านราคาประมูลหากตั้งต่ำกว่าครั้งที่แล้วอาจจะทำให้ผู้ที่ประมูลไปครั้งก่อนกลับมาฟ้องร้องได้
โดยลืมดูความเป็นจริงว่าล่าสุดที่ 2 บริษัท คือ บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด (เอดับบลิวเอ็น) และ บริษัท ทรู มูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด (ทียูซี) ผู้ชนะการประมูลเมื่อเดือนธ.ค.2558 ได้ขอให้คสช.พิจารณาขยายระยะเวลาในการชำระเงินออกไปอีก 7 งวด โดยไม่จ่ายดอกเบี้ยนั้น น่าจะเป็นการยืนยันถึงราคาที่แพงเกินไปของใบอนุญาตได้เป็นอย่างดี
งานนี้ยังต้องติดตามดูกันต่อไปว่าระยะเวลาที่เหลือก่อนการประมูลคลื่นใหม่จะมีอะไรที่ปรับเปลี่ยนไปตามเสียงเรียกร้องของผู้ที่จะเข้าร่วมประมูลและใช้งานได้จริง หรือจะยังยืนยันว่าจะต้องเป็นไปตามนโยบายที่เขียนไว้แบบที่อาจจะมีเบื้องลึกเบื้องหลังอะไรแอบแฝงไว้หรือเปล่า
5.AIS Contact Center @ โคราช มากกว่าการอัปเกรดบุคลากร
การลงทุน 873 ล้านบาทในการสร้าง “AIS Contact Center Development & Training Arena” ศูนย์กลางการพัฒนาบุคลากร ด้านงานบริการ และศูนย์ Contact Center ใจกลางภาคอีสาน ในจังหวัดนครราชสีมาถือว่าเป็นเรื่องที่น่าจับตาไม่แพ้กัน เพราะการใช้เงินลงทุนสร้างสิ่งปลูกสร้าง ที่มีพื้นที่มากกว่า 18,000 ตารางเมตรนี้ หากจะทำเพื่อพัฒนาในส่วนของตัว Contact Center ที่รองรับได้ 1,700 ที่นั่งเพียงอย่างเดียว ดูเหมือนจะไม่สมเหตุสมผล น่าจะมีอะไรที่มากกว่านั้น
การรักษาสถานะเบอร์ 1 ของวงการโทรคมนาคมของไทยนอกจากการวางเครือข่ายแล้ว คนยังเป็นสิ่งสำคัญที่เอไอเอสต้องการสร้างและสร้างมูลค่าเพิ่มของทรัพยากรบุคคล และเพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้กับองค์กร ซึ่งในศูนย์นี้ยังประกอบไปด้วยศูนย์ฝึกอบรม Development & Training center ถึง 19 ห้อง รองรับปริมาณผู้ฝึกอบรม ทั้งพนักงานของเอไอเอส ร้านเทเลวิซ และพาร์ทเนอร์ ที่หมุนเวียนเข้ามา มากกว่า 500 คน/วัน
อีกปัจจัยที่น่าจับตามมองในการมาเปิดศูนย์แห่งนี้ที่นี่เพราะเอไอเอสต้องการเปิดโอกาสและสร้างงาน ให้ชาวโคราชและชาวภาคอีสาน มาร่วมเป็นสมาชิกครอบครัวเอไอเอสได้ง่ายขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปยังกรุงเทพ เป็นการกระจายองค์ความรู้จากส่วนกลางไปสู่ระดับภูมิภาค สร้างความเสมอภาค จุดประกายให้คนรุ่นใหม่ที่กำลังศึกษาอยู่ในพื้นที่ภาคอีสาน หรือศึกษาที่กรุงเทพฯ ตัดสินใจกลับมาทำงานที่มั่นคงในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเองไม่ต้องทิ้งถิ่นฐาน และที่สำคัญสามารถนำองค์ความรู้มาพัฒนาบ้านเกิดเพิ่มมากขึ้น
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่างานบริการเป็นสายงานที่ทุกอุตสาหกรรมมีความต้องการเป็นอย่างยิ่งในยุคนี้ การสร้าง AIS Contact Center Development & Training Arena จึงเป็นความตั้งใจที่ต้องการจะร่วมสร้าง “ทรัพยากรบุคคล” ในสายงานนี้ให้มีความพร้อมในปริมาณที่มากขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาและภาคอีสาน
โดยในส่วนของจังหวัดนครราชสีมาเองนั้นก็กำลังมีการลงทุนครั้งใหญ่ในส่วนของโครงการด้านคมนาคม ขนส่ง อย่าง มอเตอร์เวย์ หรือ รถไฟรางคู่ รวมไปถึงภาคเอกชน เช่น การเปิดตัวของห้างสรรพสินค้าครบทุกห้างดัง ซึ่งทำให้ภาพรวมของตลาดแรงงาน มีความต้องการบุคลากรด้านงานบริการสูงมาก
การที่เอไอเอสเข้ามาอยู่ที่โคราชถือเป็นการรองรับและช่วยสร้างงาน สร้างศักยภาพของทรัพยากรบุคคลที่มีคุณภาพออกสู่ตลาดแรงงานต่อไป เรียกได้ว่า AIS Contact Center นี้เป็นมากกว่าสถาบันที่จะพัฒนาบุคลากร แต่เป็นเสมือนโรงเรียนที่พร้อมจะสร้างคนบริการขึ้นมาให้ทันกับโลกยุคใหม่ที่มีดิจิทัลเป็นตัวขับเคลื่อน