กลุ่ม’สามารถ’ มองปี 2018 เป็นโอกาส หลังจากบาดเจ็บจากธุรกิจไอโมบายจนต้องปรับธุรกิจใหม่ก้าวสู่สายดิจิทัลที่กว้างขึ้น เพราะจะช่วยสร้างรายได้ให้มากกว่า เช่นเดียวกับที่บริษัทแม่พร้อมปรับรูปแบบจากเดิมเป็นบริษัทโฮลดิงก้าวสู่การเป็นโอเปอเรติงคอมปานี
Samart Next Forum ที่จะไม่รอเฉพาะรายได้จากบริษัทลูกเท่านั้น แต่จะมีการสร้างโอกาสใหม่ๆ เพื่อค้นหาธุรกิจและพร้อมลงทุนกับกลุ่ม Start up ที่น่าสนใจ เพื่อสร้างสมดุลในการลงทุน เพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันในโลกดิจิทัลและสร้างรายได้อย่างยั่งยืน มั่นใจว่าปีนี้รายได้จะต้องทะลุ 20,000 ล้านบาท
2017 ถือเป็นปีที่หลายธุรกิจต่างอยู่ในสภาวะทีเงียบงัน เช่นเดียวกับกลุ่มสามารถที่ได้รับผลกระทบจากการที่ยักษ์ใหญ่ 3 ค่ายมือถือฟาดฟันกันในตลาดมือถือ จนทำให้ธุรกิจไอโมบายต้องโบกมือลาจากตลาด และจะจากนี้กลุ่มสามารถจะไม่นับญาติกับธุรกิจที่ต้องมีสินค้าคงคลังเป็นจำนวนมากอีกต่อไป ดังนั้นในปีนี้ด้วยปัจจัยบวกในหลายด้าน
ทั้งนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการเติบโตของโลกดิจิทัล กลุ่มสามารถจึงพร้อมที่จะพลิกฟื้นและเติบโตจากธุรกิจใหม่ๆ ที่มุ่งเจาะตลาดเฉพาะกลุ่ม เพื่อสร้างรายได้ประจำอย่างต่อเนื่อง
นายวัฒน์ชัย วิไลลักษณ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สามารถคอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมาถือเป็นการปรับเปลี่ยนธุรกิจหลังจากที่สายธุรกิจไอโมบายได้รับผลกระทบและจำเป็นต้องตัดธุรกิจมือถือออกไป ซึ่งแม้จะกระทบกับภาพลักษณ์ขององค์กรอยู่บ้าง แต่ก็ดีกว่าปล่อยไว้
ส่วนในปีนี้จะเป็นปีที่ท้าทายพอสมควร ท้าทายความสามารถและความรู้ที่่มีอยู่และเป็นปีแห่งโอกาส เพราะไม่ว่าจะเป็นโครงการต่างๆ ของภาครัฐที่กำหนดให้ทุกสิ่งต้องเข้าสู่ดิจิทัล การเปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งจะก่อให้เกิดแพลตฟอร์มดิจิทัลต่างๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย และกลุ่มสามารถกำลังเข้าไปศึกษาและดูถึงโอกาสที่จะเข้าไปสร้างรายได้จากการนโยบายเหล่านี้
“นโยบายดิจิทัลต่างๆ ของภาครัฐทำให้เราเริ่มมองเห็นลู่ทางในการทำธุรกิจในปีนี้ หลังจากที่ดาวน์ไซส์ซิงธุรกิจมือถือลง ปัจจุบันลูกค้าคอปอเรตและราชการยังเป็นรายได้หลักของเรา เรามามองลูกค้ากลุ่มนี้มากขึ้น เริ่มหันมาทำแพลตฟอร์มของรัฐบาลที่จะมาให้บริการกับประชาชน มองถึงโครงการขนาดใหญ่ต่างๆ ที่จะสามารถจับมือกับพันธมิตรเข้าไปร่วมกันทำงานได้
โดยจะเน้นกลยุทธ์ SAMART 4 Excellence ซึ่งประกอบไปด้วย 1.Digital Solutions Excellence การพัฒนาสินค้าและบริการที่เป็น Digital มากขึ้น 2.Service Excellence การพัฒนาบริการ 3.Operation Excellence การนำเทคโนโลยีมาใช้ในขบวนการทำงานอย่างเต็มที่ และ 4.Offering Excellence การส่งมอบสิ่งที่ดีที่สุดแก่ลูกค้าและผู้ใช้บริการ ทั้งนี้ บริษัทฯ ตั้งเป้ารายได้รวมปี 2561 จำนวน 20,000 ล้านบาท”
สำหรับธุรกิจที่เปลี่ยนจากสามารถไอโมบายมาเป็น SAMART Digital นั้นจะเน้นการเปลี่ยนแปลงเพื่อสร้างธุรกิจ หลังการเปลี่ยนแปลงธุรกิจครั้งใหญ่ในปีที่ผ่านมาในปีนี้ ธุรกิจใหม่ที่เกิดขึ้นแล้วคือ Digital Trunked Radio ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ ทั้งจากการจำหน่ายเครื่องลูกข่ายวิทยุคมนาคมระบบดิจิทัล และรายได้จากค่าใช้บริการรายเดือนๆ ละ 800 บาทต่อเครื่อง
ซึ่งภายในปีนี้คาดว่าจะติดตั้งโครงข่ายสถานีฐานได้ประมาณ 1,000 แห่งและตั้งเป้าจำหน่ายเครื่องลูกข่ายจำนวน 50,000-100,000 เครื่อง ส่วนใน 3 ปีข้างหน้าคาดว่าจะมีลูกค้า 400,000 ราย
นอกจากนี้บริษัทยังเริ่มต้นธุรกิจ Co-Tower โดยได้รับสัญญาสัมปทานในการติดตั้งเสาโทรคมนาคม ในกรมอุทยานแห่งชาติ เพื่อให้ Mobile Operator เช่าใช้ ภายในระยะเวลา 10 ปี ในปีนี้จะติดตั้งเสา Co-Tower ให้ได้ 250-300 ต้น จากปัจจุบันที่ติดไปแล้วประมาณ 60-70 ต้น
ส่วนบริการ Content ทั้ง BUG และ EDT ได้มีการปรับปรุงใหม่เน้นการให้บริการข้อมูลด้วยการนำดิจิทัลเทคโนโลยีมาใช้ในการให้บริการมากขึ้น โดยมุ่งเน้นไปที่ตลาดท่องเที่ยวซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการเติบโตไม่จำกัด ทั้งนี้ จะมีการเปิดตัวบริการใหม่ภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐ ในเร็วๆนี้
กลุ่มธุรกิจดิจิทัลนี้ยังประกอบไปด้วย ดิจิทัล คอนเทนต์ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของดิจิทัลพลับบลิคเซอร์วิส กับคอนเทนต์โซลูชัน รวมไปถึงเรื่องบิ๊กดาต้า และบริษัทใหม่อย่าง ซีแอสเซส Zazzet ที่ตั้งขึ้นมาเพื่อทำธุรกิจขายฝากอสังหาริมทรัพย์ในรูปแบบออนไลน์
ซึ่งตามปกติแล้วตลาดอสังหาริมทรัพย์จะมีมูลค่ารวมทั้งสิ้น 4 แสนล้าน เป็นในส่วนขายฝาก 23,000 ล้าน เราเลยมองเห็นว่าน่าจะสร้างโอกาสเพราะที่ผ่านมาการขายฝากมักจะถูกเอารัดเอาเปรียบ เราจึงตั้งบริษัทนี้ขึ้นมาเป็นทางเลือกที่เน้นออนไลน์ เป็นบริษัทพร้อมเพอตี้ที่นำเทคโนโลยีขึ้นมาใช้สร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า
นายวัฒน์ชัย กล่าวว่า ในส่วนธุรกิจหลักที่สามารถสร้างรายได้ให้กลุ่มสามารถได้มากที่สุดอย่าง SAMART Telcoms นั้น ในปีนี้จะเน้นการทำสถิติสูงสุดทั้งมูลค่าสัญญาที่เซ็นได้และการเติบโตของรายได้ประจำ ด้วยปัจจัยหนุนมากมายโดยเฉพาะการผลักดันของภาครัฐต่อการพัฒนาประเทศ 4.0 ประกอบกับความตื่นตัวของภาคเอกชน
ซึ่งคาดว่าในช่วง 3 ปีนี้ จะมีการลงทุนด้านไอทีภายในประเทศมากถึง 5 แสนล้านบาท บริษัทฯจึงตั้งเป้าเพิ่มโครงการในมือ ( Backlog ) ให้ได้ถึง 20,000 ล้านบาท ด้วยการเน้นการเพิ่มรายได้ประจำให้สูงขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน
นอกเหนือจากบริการด้านไอซีทีแล้ว ยังจะมีการเปิดตัวบริการ Cyber Security Solution ที่สอดคล้องกับโลกดิจิทัล ภายใต้ชื่อบริษัท SAMART SecureInfo ให้บริการป้องกันความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลระดับสูงสุด ดังนั้นในปี 2561 คาดว่ากลุ่มนี้จะมีรายได้ทะลุ 1 หมื่นล้านบาท
สายธุรกิจ ICT Solutions ภายใต้การบริหารของสามารถเทลคอม ยังมีผลการดำเนินงานที่น่าพอใจ สามารถเซ็นต์สัญญาได้ 80 โครงการ รวมมูลค่า 6,000 ล้านบาท ส่งผลให้มีงานในมือมูลค่าเกือบ 1 หมื่นล้านบาทในปัจจุบัน อาทิ โครงการจัดซื้อและว่าจ้างบํารุงรักษาระบบ Core Banking ธนาคารอาคารสงเคราะห์ โครงการซื้อขายพร้อมติดตั้งระบบเครือข่ายโทรคมนาคมทหาร กองบัญชาการกองทัพไทย เป็นต้น
ด้านสายธุรกิจ U-trans ก็ประสบความสำเร็จในการขยายอายุสัมปทานการให้บริการควบคุมการจราจรทางอากาศ ในประเทศกัมพูชา โดยบริษัท แคมโบเดีย แอร์ทราฟฟิค เซอร์วิส จำกัด (CATS) ได้ต่อสัญญาเพิ่มอีก 7 ปี จากเดิม 32 ปี เป็น 39 ปี เริ่มตั้งแต่ปี 2544-2583
นอกจากนี้ บริษัท เทด้า ก็สร้างรายได้จากการบริหารงานก่อสร้างโครงการสายส่งสถานีไฟฟ้าแรงสูง โดยมีงานในมือแล้วกว่า 2,000 ล้านบาท และอีกหนึ่งธุรกิจที่มีการเติบโตโดดเด่น คือ ธุรกิจกล้องวงจรปิด ของบริษัท วิชั่น แอนด์ ซิเคียวริตี้ ซิสเต็ม ทำรายได้สูงสุดและมีกำไรพุ่งขึ้นเกือบ 500 เปอร์เซ็นต์ ในปีที่ผ่านมา
สำหรับ SAMART U-trans ในปีนี้จะเป็นปีแห่งการขยายธุรกิจและการลงทุน และโดยได้มีการจัดตั้งบริษัทใหม่ SAMART Transolutions เพื่อบริหารธุรกิจด้านคมนาคมอย่างชัดเจน โดยมี Cambodia Air Traffic Services เป็นหัวหอกสำคัญ และคาดว่าจะนำบริษัท SAMART Transolutions เข้าจดทะเบียนในตลท.ภายในปลายปีนี้
ส่วนบริษัท เทด้า ก็มีโอกาสในการเพิ่มรายได้จากงบประมาณโครงการสายไฟฟ้าใต้ดินของการไฟฟ้านครหลวงอีกหลายพันล้านบาท ซึ่งทั้งหมดจึงเป็นธุรกิจที่สามารถมองว่าจะสามารถสร้างรายได้ให้เติบโตไปถึงที่ตั้งไว้