การประกาศเปิดตัวแพลตฟอร์ม IoT ของ เอไอเอส ไม่ได้เป็นเรื่องใหม่แต่อย่างใดเมื่อเทียบกับการใช้งาน IoT ในเมืองไทยที่มีการเริ่มต้นกันอย่างจริงจังแล้วในหลายจังหวัด มีการใช้งานในหลายภาคส่วนจากการพัฒนาของทั้งภาครัฐและเอกชนบางราย แต่การเปิดตัวที่จะพัฒนาแพลตฟอร์มตัวนี้จะกลายเป็นแรงผลักดันที่จะทำให้ IoT ในเมืองไทยไปได้เร็วกว่าเดิม เพราะเป็นแรงสนับสนุนที่มีความพร้อมค่อนข้างมาก
หลายครั้งที่นโยบายภาครัฐได้ปูทางมาระดับหนึ่งแล้วค่อยเดินหน้าอย่างช้าๆ แต่เมื่อมีเอกชนเข้ามาก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนที่สำคัญทำให้สิ่งที่วางไว้ก้าวหน้าไปมาก เช่นเดียวกับที่ในปัจจุบันความแพร่หลายของ 4G ได้กระจายตัวอย่างรวดเร็ว ด้วยการขับเคลื่อนของโอเปอเรเตอร์ทั้ง 3 ราย ซึ่งหากย้อนไปดูก่อนหน้านี้ไม่กี่ปีบรรดานักวิเคราะห์ด้วยปากทั้งหลายก็เคยปรามาสประเทศตัวเองเรื่องเครือข่ายมือถือว่าไม่น่าจะไปถึงไหน
แต่ท้ายที่สุดไทยก็เป็นประเทศที่สามารถวางโครงข่ายได้อย่างครอบคลุมรวดเร็วเมื่อเทียบกับประเทศอื่นๆ และนี่จะเป็นอีกครั้งที่ IoT จะดำเนินรอยตามรูปแบบนั้นเช่นกัน โดยเฉพาะแรงผลักดันจากยักษ์ใหญ่นามว่าเอไอเอส
เอไอเอสมั่นใจว่า IoT จะเป็นเทคโนโลยีสำคัญที่พลิกโฉมการใช้ชีวิต ตลอดจนรูปแบบการให้บริการ การบริหารจัดการองค์กรจากทั้งภาครัฐและเอกชนไปอีกขั้น จึงได้เริ่มเตรียม 2 เครือข่ายเพื่อ IoT โดยเฉพาะคือ Narrow Band IoT และ eMTC – Enhance Machine Type Communication เริ่มต้นในพื้นที่กรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ 9 จังหวัด รวมไปถึงยกระดับเครือข่าย Data ทั่วประเทศสู่ Next G Network ที่รองรับการใช้งานระดับ 1 GB
นายสมชัย เลิศสุทธิวงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส กล่าวว่า การผลักดันด้าน IoT นี้จะเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะทำให้เทคโนโลยีดิจิทัลได้รับการพัฒนาอย่างเป็นรูปธรรม ตอบสนองความต้องการพฤติกรรมผู้บริโภคที่จะนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์การใช้ชีวิต
เพราะการเติบโตเพียงอุตสาหกรรมสื่อสาร ไม่อาจช่วยยกระดับประเทศให้แข็งแกร่งได้อย่างยั่งยืน ดังนั้นจึงต้องเชื่อมต่อทุกกลุ่มที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกันในลักษณะของ Ecosystem เพื่อขยายขีดความสามารถในหลายส่วนผ่านดิจิทัลเพื่อสร้างการเติบโตสู่ทุกภาคส่วนของประเทศ
เอไอเอสได้สร้างแพลตฟอร์ม AIS IoT Alliance Program – AIAP ซึ่งเป็นโครงการความร่วมมือของสมาชิก 70 รายจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี IoT ไม่ว่าจะเป็นองค์กรหน่วยงาน ทั้งภาครัฐ มหาวิทยาลัย ผู้ผลิตเทคโนโลยี นักพัฒนาอุปกรณ์และซอฟท์แวร์ ทั้งในและต่างประเทศ
ที่ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการแลกเปลี่ยนความรู้ความสามารถในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ บริการหรือโซลูชัน เพื่อให้เกิดการพัฒนา IoT Solution/Business Model ร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรม ขยายประโยชน์สู่ภาคประชาชนและเสริมการบริหารจัดการในทุกภาคส่วนของประเทศ
ทั้งนี้สำหรับเครือข่าย eMTC – enhanced Machine-Type Communication นั้น จะเป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีเครือข่ายมาตรฐานที่ควบคู่กับเทคโนโลยี NB-IoT โดยมีคุณสมบัติเสริมซึ่งกันและกัน อาทิ eMTC สามารถสนับสนุนการใช้งาน IoT แบบเคลื่อนที่ เช่น Connected Car รวมถึงสามารถรับ/ส่ง ข้อความเสียงในอุปกรณ์ IoT ยุคใหม่ๆ ได้อีกด้วย
ในขณะที่ NB-IoT จะเน้นเรื่องการประหยัดพลังงานของอุปกรณ์และสามารถสื่อสารได้ในระยะไกล อย่างไรก็ตามด้วยมาตรฐาน 3GPP ได้ออกแบบให้ eMTC และ NB-IoT สามารถใช้งานร่วมกับ 5G ในอนาคตด้วย จึงมั่นใจได้ว่า จะเป็นเทคโนโลยีที่สามารถใช้งานได้ในระยะยาวและน่าจะเป็นก้าวต่อไปของการพัฒนาดิจิทัลผ่านเทคโนโลยีที่ว่านี้
“IoT เป็นส่วนหนึ่งด้วย 3 แพลตฟอร์มสำคัญที่เอไอเอสตั้งเป้าที่จะเป็น Digital Platform for Thais ซึ่งประกอบไปด้วย 1. AIS IoT Alliance Program (AIAP) 2. VDO Platform “Play 365”แพลตฟอร์มที่เปิดโอกาสให้ศิลปิน สื่อมวลชน นักสร้างสรรค์ Content ทุกวงการสามารถนำเสนอผลงานที่สร้างสรรค์ขึ้น สร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคชาวไทยทุกคน พร้อมโครงสร้างรายได้และโมเดลที่เหมาะสม
3. VR Content Platform แพลตฟอร์มที่จะเปิดโอกาสให้นักพัฒนา VR Content สามารถเรียนรู้จากผู้ผลิต VR อันดับหนึ่งของโลกอย่าง IMAX พร้อมโครงการ VR Content Creator Program ที่เอไอเอสได้สร้างขึ้นเพื่อเป็นเวทีของการสร้าง Content VR ให้กับอุตสาหกรรม”
นายสมชัย กล่าวว่า ทั้ง 3 แพลตฟอร์มจะเป็นการสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลภาพรวมได้อย่างแข็งแกร่งยิ่งขึ้น และเป็นทางสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน สามารถช่วยสนับสนุนเป้าหมายของภาครัฐในการนำพาประเทศไทยสู่ ไทยแลนด์ 4.0 พร้อมขีดความสามารถทางการแข่งขันที่มีเทคโนโลยีดิจิทัลเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ที่ผ่านมาเอไอเอสได้พัฒนาเครือข่ายและบริการเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
โดยได้เตรียมงบลงทุนด้านเครือข่ายกว่า 35,000 – 38,000 ล้านบาท เพื่อขยายเครือข่ายมือถือสู่ Next Generation ที่รองรับความเร็วถึง 1 GB, การขยายเครือข่าย NB-IoT และ eMTC เพื่อรองรับ IoT และเอไอเอส ไฟเบอร์ รวมถึงการนำ VDO Content ใหม่ๆ ทั้งจากระดับโลก อย่างซีเอ็นเอ็น และการ์ตูนเน็ตเวิร์ค
รวมไปถึงจากสุดยอดผู้ผลิต Content ของไทยเช่นกัน ตลอดจนการเข้าไปซื้อหุ้นซีเอสล็อกซ์อินโฟ ก็จะเป็นการเสริมความแข็งแกร่งในการให้บริการกลุ่มลูกค้าองค์กรให้มากยิ่งขึ้นอีกด้วย
การขยับตัวเรื่อง IoT ของเอไอเอสครั้งนี้จึงถือเป็นแรงกระตุ้นที่สำคัญที่จะนำเทคโนโลยีที่กำลังจะเป็นเทรนด์ในอนาคตได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนดิจิทัลของไทยให้ไปไกลและเร็วกว่าเดิม และยังเป็นการช่วยเสริมกับสิ่งที่รัฐบาลและเอกชนอีกหลายๆ รายกำลังทำอยู่ เมื่อเทคโนโลยีพร้อม รัฐพร้อม เอกชนพร้อม การเดินหน้าไปสู่เศรษฐกิดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ไม่ยาก