กระทรวงดีอี เดินหน้าความร่วมมือกับประเทศในกลุ่มอาเซียน เริ่มที่ลาวด้วยการจับมือเซ็น MOU กระทรวงกิจการไปรษณีย์ โทรคมนาคม และการสื่อสาร สปป.ลาว บันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ซึ่งการเซ็น MOU ในครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จับมือกันอย่างเป็นทางการ
การเดินทางไปครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีของไทยที่นอกจากจะแลกเปลี่ยนความรู้ที่จะเป็นประโยชน์ระหว่างกันแล้ว ยังเป็นการให้ความช่วยเหลือการพัฒนาบุคลากรทางด้านด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ประเทศไทยมีความถนัดมากกว่า เพื่อกระชับความสัมพันธ์ และทำให้ความร่วมมือทางด้านไซเบอร์ซีเคียวริตี้เป็นไปอย่างสะดวกและรวดเร็วมากขึ้น และที่สำคัญโครงการต่างๆ ของไทยอย่างสายเคเบิลใต้น้ำที่ทางกระทรวงให้แคทดำเนินการอยู่ ก็จะมีลาวเป็นลูกค้าได้ไม่ยาก
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า ความร่วมมือดังกล่าว ทั้ง 2 ฝ่าย เน้นความสำคัญในการพัฒนาการทำงานร่วมกันในด้านต่างๆ อาทิ ด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านรัฐบาลดิจิทัล ด้านการส่งเสริมและพัฒนาอุตสาหกรรมไอซีทีและดิจิทัล
ได้แก่ ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ดิจิทัลคอนเทนต์ (Digital Content) และการบริการที่เกี่ยวข้อง ด้านโครงสร้างพื้นฐานด้านบรอดแบนด์ การพัฒนาการให้บริการ นวัตกรรมไอซีทีและเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น Big Data, Internet of Things (IoT) และ Cloud Computing
รวมไปถึงเป็นการเปิดโอกาสทางเทคโนโลยีดิจิทัล เช่น การรู้เท่าทันเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Literacy) การใช้เทคโนโลยีดิจิทัลส่งเสริมโอกาสและศักยภาพของประชาชน (Digital Inclusion) และการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) ด้านการวิจัยพัฒนา และนวัตกรรมในด้านไปรษณีย์ โทรคมนาคม เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านการแลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์ รวมถึงความร่วมมือและความช่วยเหลือในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง
“ความร่วมมือครั้งนี้เกิดขึ้นหลังจากการประชุมรัฐมนตรีอาเซียนด้านโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ ครั้งที่ 16 (ASEAN TELMIN 16) เมื่อวันที่ 26 ธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งฝ่าย สปป.ลาว ได้เสนอให้มีการจัดทำบันทึกความเข้าใจด้านไอซีทีร่วมกัน จึงได้มีการพิจารณาการจัดทำร่างบันทึกความเข้าใจร่วมกัน
ซึ่งในส่วนของความร่วมมือด้าน ICT มีเรื่องสำคัญๆ อาทิ โครงการทางด่วนสารสนเทศในกลุ่มอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการนำโครงข่ายไปใช้ให้เกิดประโยชน์ในด้านต่างๆ ได้แก่ การลดความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึง ICT (Digital Divide) การรักษาความปลอดภัยในระบบ ICT (Cyber Security) การศึกษา และการพัฒนาบุคลากร เป็นต้น”
ดร.พิเชฐ กล่าวว่า นอกจากเรื่องที่กล่าวมาแล้วยังมี การพัฒนา Digital Tech Startup ในเรื่องของ International Digital Tech Startup โดยทั้ง 2 ฝ่าย ได้ร่วมกันพัฒนา Solution & Platform ด้านการท่องเที่ยว และระบบการขนส่ง (Logistic) โดยมีแนวทางส่งเสริมให้กลุ่ม Startup ไทย และ สปป.ลาว ร่วมกันพัฒนา Application เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวในภูมิภาค เป็นการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาภูมิภาค CLMV
นอกจากนี้ในการเซ็น MOU ครั้งนี้ยังได้พูดถึงความเป็นไปได้ในการสร้างความร่วมมือกันในอนาคต อาทิ ความร่วมมือเรื่องอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ซึ่งลาวมีความสนใจที่จะดำเนินความร่วมมือกับไทยอย่างยิ่ง โดยพยายามจะปรับลักษณะภูมิประเทศจาก Land Lock เป็น Land Link
รวมทั้งมีความประสงค์ศึกษาดูงานเรื่อง Content และศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชนของไทย ซึ่งเห็นว่าเป็นการให้โอกาสทางการศึกษาและลดความยากจนของประเทศ โดย สปป.ลาว มีการจัดตั้งศูนย์ ICT ชุมชนเช่นกัน ภายใต้การดูแลของรัฐบาล นโยบาย 3 แคว้นยุทธศาสตร์เมืองเข้มแข็ง ซึ่งเป็นการทดลองพัฒนาในแต่ละด้าน โดยเฉพาะการแก้ปัญหาความยากจน
“ความร่วมมือด้านวิชาการ ICT ที่ผ่านมากระทรวงดิจิทัลฯ และกรมความร่วมมือระหว่างประเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ได้จัดทำความร่วมมือทางวิชาการภายใต้โครงการฝึกอบรมเพื่อส่งเสริมการพัฒนาความร่วมมือไทย-ลาว โดยได้จัดการฝึกอบรมหลักสูตรต่างๆ ให้แก่เจ้าหน้าที่ของ สปป.ลาว
เพื่อพัฒนาความรู้และเพิ่มทักษะด้านอินเทอร์เน็ต การออกแบบและการพัฒนาเว็บไซต์ โดยใช้เครื่องมือ อาทิ หลักสูตร Advanced Internet and Web Application หลักสูตร Introduction to Basic Information Technology World Wide Web การอบรม/ดูงาน หลักสูตร International Computer และการใช้ประโยชน์จากสังคมออนไลน์ เป็นต้น”