ลื่นไปอีกคนสำหรับ สิทธิโชค นพชินบุตร รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มการตลาด ที่ล่าสุดได้ทำการลาออกไปจาก ดีแทค เรียบร้อย เป็นไปตามคาดที่ Thereporter.asia ก็ไม่ได้คิดว่าสิทธิโชคจะอยู่ในตำแหน่งนี้ในดีแทคนานนัก เพราะตั้งแต่เข้ามารับหน้าที่ดูเหมือนว่าบทบาทที่มีจะน้อยเหลือเกิน
สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนของการทำงานในรูปแบบของสิทธิโชคคือ การจ้างดารามาเป็นพรีเซนต์เตอร์ให้กับแบรนด์ดีแทค จนมีคำที่คิดว่าน่าจะติดหูอย่างคำว่า “ลื่น” ซึ่งจะได้ผลมากน้อยแค่ไหนนั้นก็ต้องถามใจเธอดู
สิ่งที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือการนำเสนอการตลาดในรูปแบบที่น่าสนใจอย่างการเริ่มต้นแพ็คเกจแพ็กเกจโก โน ลิมิต ที่ลดความวิตกกังวลเรื่องการใช้งานอินเทอร์เน็ตของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ การให้ความสำคัญกับ แพ็กเกจเบอร์มงคล ที่โหมหนักมากขึ้น
และขาดเสียไม่ได้คือการทำให้โปรแกรมดีแทค รีวอร์ด มีความชัดเจนและสร้างความประทับใจให้กับลูกค้าได้เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด จับต้องได้ เช่นเดียวกับที่ ซัมซุงมีแกแล็กซี่ กิ๊ฟ มีให้
นับจากนี้คงต้องมาจับตากันให้ดีว่าดีแทคจะดำเนินกลยุทธ์อะไรภายใต้ภาวะกดดันต่างๆ ที่เพิ่มมากขึ้น เพราะในปีที่ผ่านมาดูเหมือนจะเป็นปีชงของดีแทคค่อนข้างจะหนักไปสักหน่อย ไม่ว่าการหล่นลงมาเป็นเบอร์ 3 ในตลาด การถูกสกัดดาวรุ่งในเรื่องคลื่น 2300 MHz ที่ยังคงโดนดองและยืดระยะเวลาไปมา จนสุดท้ายอาจจะต้องรอไปจนถึงการประมูลคลื่นรอบใหม่ เพราะทีนี่เมืองไทย Good Governance ในแบบที่ดีแทคทำอยู่นั้น มันเข้ากันไม่ได้
นายลาร์ส นอร์ลิ่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค กล่าวว่า ก้าวต่อไปนับจากนี้จะรุกงานด้านดิจิทัลมากขึ้น โดยได้ดึง นายแอนดริว กวาลเซท รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานดิจิทัล จะเข้าดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มการตลาด แทนนายสิทธิโชค
ทำการรวมการทำงานของกลุ่มดิจิทัลและกลุ่มการตลาดเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการนำเสนอบริการดิจิทัลด้วยระบบการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ตรงกับความต้องการในรายบุคคลและในช่วงเวลาที่ต้องการได้ทันที
นอกจากนี้ยังมอบให้ นายปัญญา เวชบรรยงรัตน์ ดำรงตำแหน่งรองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานพาณิชย์ โดยได้เสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มงานพาณิชย์ ด้วยการรวมสายงานบริหาร ผลิตภัณฑ์การตลาด ทั้งดีแทคเติมเงินและดีแทครายเดือน เข้ากับช่องทางการจัดจำหน่าย ซึ่งจะทำให้กลุ่มงานพาณิชย์ สามารถบริหารงานการสร้างรายได้ครบวงจร ตั้งแต่เริ่มจนถึงจบกระบวนการขาย
การปรับโครงสร้างดังกล่าวจะสร้างความแข็งแกร่งในการพัฒนาสินค้าและบริการด้านดิจิทัลแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น สามารถวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ที่สามารถตอบสนองลูกค้าได้ตรงกับความต้องการในรายบุคคล และในช่วงเวลาที่ต้องการได้ทันที ซึ่งถือเป็นการทำตลาดรูปใหม่ที่มุ่งเน้นด้านดิจิทัลมากยิ่งขึ้น สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของลูกค้าในปัจจุบัน
โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะช่วยเสริมศักยภาพให้ดีแทคสามารถพัฒนาสินค้าและบริการอย่างตรงจุด ตลอดจนบริการหลังการขายและการดูแลลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นต่อไป
ในการดำเนินการดังกล่าวนี้ดีแทคได้เตรียมเพิ่มตำแหน่งงานด้านดิจิทัลเพิ่มอีกมากกว่า 200 ตำแหน่ง ในปี 2563 ขณะเดียวกันยังได้วางแผนที่จะปรับเพิ่มและลดการลงทุนในหลายด้าน ปรับรูปแบบการจัดการในองค์กร และลดความยุ่งยากซับซ้อนในกระบวนการการทำงาน เพื่อให้องค์กรขับเคลื่อนได้อย่างคล่องตัวและพนักงานมีศักยภาพในการทำงานมากขึ้น โดยดีแทคตั้งเป้าหมายการบริหารขนาดขององค์กรให้มีตำแหน่งงานประจำไว้ไม่เกิน 4,000 คนในปี 2563
นายลาร์ส กล่าวว่า ดีแทคมุ่งปรับตัวเองมุ่งสู่การเป็นแบรนด์ดิจิทัลที่ลูกค้าชื่นชอบภายในปี 2563 โดยดีแทคตั้งเป้าหมายในการสร้างรายได้จากช่องทางดิจิทัลถึง 35% จากปัจจุบันที่มีสัดส่วนเลขหลักเดียว โดยงบการตลาดจะถูกโยกไปยังช่องทางดิจิทัลถึง 65% หรือมากกว่าปัจจุบันกว่า 3 เท่าเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
เช่นเดียวกับงานบริการลูกค้าผ่านช่องทางดิจิทัลถึง 95% เพิ่มขึ้นจากปัจจุบันเท่าตัว ส่วนการทำการตลาดออนไลน์ผ่านนวัตกรรมดิจิทัล พัฒนาการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ตลอดจนกระตุ้นการใช้งานและบริการให้ดีขึ้น ทั้งทางเว็บไซต์และแอปพลิเคชัน ทำให้ปีที่ผ่านมาการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันดีแทคเพิ่มขึ้นเท่าตัว ในขณะที่การเพิ่มยอดขาย (upselling) จากแอปดีแทคมีสัดส่วนที่ 60%
“ปี 2561 จะเป็นปีที่สำคัญมากสำหรับดีแทค เนื่องจากสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่จะสิ้นสุดลง ดีแทคมุ่งมั่นที่จะจัดหาคลื่นความถี่เพิ่มเติม เพื่อเพิ่มศักยภาพของโครงข่ายในการให้บริการดิจิทัลที่ดีที่สุดให้กับลูกค้า ดีแทคพร้อมลงทุนในโครงข่ายอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับการเติบโตอย่างรวดเร็วของบริการข้อมูล คาดว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนในปี 2561 จะอยู่ที่ระดับ 15,000 -18,000 ล้านบาท”
สิ้นปี 2560 ดีแทคมีฐานลูกค้าอยู่ที่ 22.7 ล้านราย โดย 98% ลงทะเบียนอยู่ภายใต้บริษัทดีแทค ไตรเน็ต จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทในเครือดีแทค และถือใบอนุญาตใช้คลื่น 2100 MHz จาก กสทช. จำนวนผู้ใช้บริการ 4G เพิ่มขึ้นเป็น 7.2 ล้านราย ส่วนอัตราการใช้งานอุปกรณ์โทรศัพท์ที่รองรับเทคโนโลยี 4G เพิ่มขึ้นเป็น 51%
ดีแทคยังคงลงทุนอย่างต่อเนื่องในการขยายโครงข่าย โดยเพิ่มจำนวนสถานีฐานภายใต้ระบบใบอนุญาตขึ้น 32% ในปี 2560 ครอบคลุม 94% ของจำนวนประชากรทั้งหมด นอกจากนี้ ดีแทคกำลังรอการอนุมัติเพื่อเปิดให้บริการไร้สายความเร็วสูงบนคลื่นความถี่ 2300 MHz ภายใต้ความร่วมมือกับบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) เพื่อเพิ่มจำนวนแบนด์วิดท์สำหรับบริการ 4G
ในระหว่างนี้คงต้องให้เวลาดีแทคบริหารจัดการภายในใหม่ เพื่อก้าวสู่ความเป็นเบอร์ 1 ด้านดิจิทัลตามที่ตั้งใจไว้ ระหว่างรอการอนุมัติคลื่น 2300 MHz และการประมูลคลื่นสัมปทานรอบใหม่ เรียกได้ว่างานนี้ดีแทคยังคงต้องเหนื่อยสักระยะหนึ่งไปก่อน แต่ฟ้าหลังฝนก็มักจะสวยงามเสมอ