กสิกรไทย เพิ่ม 4 ฟังก์ชันใหม่ให้ K PLUS หวังตอบสนองความต้องการลูกค้าให้ตรงใจและใช้งานได้รอบด้านตามไลฟ์สไตล์มากขึ้น พร้อมเชื่อมเข้ากับ K PLUS SHOP หวังสร้างโอกาสทางการขายให้กับลูกค้ารายย่อยของแบงค์มากขึ้น มั่นใจจะสามารถเพิ่มผู้ใช้งาน K PLUS เป็น 10.8 ล้านราย และมีร้านค้าใน K PLUS SHOP เพิ่มเป็น 1 ล้านร้านค้าภายในสิ้นปีนี้
จากปัจจุบัน K PLUS มียอดทำธุรกรรม 3 พันล้านรายการต่อปี มีปริมาณธุรกรรม 6.3 ล้านล้านบาท จากฐานลูกค้า 7.5 ล้านราย และเป็นผู้เข้าใช้งานเป็นประจำ 80%
นายพัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า กสิกรไทยได้เพิ่ม 4 ฟังก์ชันใหม่ให้กับแอปพลิเคชัน K PLUS ที่นอกจากจะช่วยให้ลูกค้าสามารถใช้งานได้รอบด้านมากขึ้นแล้ว ยังจะยังก้าวสู่การเป็น “ไลฟ์สไตล์ แพลตฟอร์ม” (Lifestyle Platform)
ตอบโจทย์ทุกการใช้ชีวิตเพื่อสร้างความสะดวกสบายให้มากขึ้น และยังได้ทำการเชื่อมโยงกับ K PLUS SHOP ที่จะช่วยให้เจ้าของร้านค้าสามารถขายสินค้าได้ง่ายขึ้น ถือเป็นการสร้างประสบการณ์การใช้บริการของลูกค้าอย่างไร้รอยต่อ ทั้งลูกค้าบุคคลและลูกค้าที่เป็นเจ้าของร้านค้ารายย่อย
“ที่ผ่านมาธนาคารได้นำเทคโนโลยีดิจิทัลทางด้าน Big Data ด้วยการนำข้อมูลของลูกค้ามาวิเคราะห์เพื่อตอบโจทย์ธุรกิจและปรับใช้กับกระบวนการหลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูล การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารความเสี่ยง การให้บริการสินเชื่อส่วนบุคคลและธุรกิจ ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการกับลูกค้าได้ดียิ่งขึ้น และทำให้การให้บริการผ่านแอปฯ K PLUS เข้าถึงความต้องการลูกค้าเฉพาะกลุ่มได้ดียิ่งขึ้น”
โดยฟังก์ชันใหม่ที่เพิ่มขึ้นมาอีก 4 ฟังก์ชัน ประกอบด้วย 1.ฟังก์ชัน Quick Pay ลูกค้าสามารถจ่ายให้เงินกับร้านค้าได้รวดเร็วมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องล็อกอินเข้าระบบ แค่สแกนคิวอาร์โค้ดของร้านค้าที่ใช้ K PLUS SHOP สามารถจ่ายเงินได้ทันที ปัจจุบันมีลูกค้าใช้จ่ายด้วย QR Code ผ่าน K PLUS จำนวน 1.3 ล้านรายการ มีมูลค่าการทำธุรกรรม 811 ล้านบาท
2.ช้อปสินค้าบนแอปฯ K PLUS ซึ่งจะเปิดให้บริการในเดือนมีนาคมนี้ เป็นตลาดนัดออนไลน์ที่ลูกค้าสามารถเลือกซื้อสินค้าหลากหลายประเภทได้บน K PLUS เป็นครั้งแรก เช่น ร้านค้าสินค้าเกษตรกรคุณภาพจากโครงการพรวนฝันและกลุ่มเกษตรกรจากจังหวัดต่าง ๆ สินค้าจากผู้ประกอบการรายย่อยและกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
รวมถึงสินค้าจากพันธมิตรทางธุรกิจของธนาคาร ทั้งบริการข่าวสารในรูปแบบดิจิทัล (Digital Content) และสินค้าอุปโภคบริโภค ตั้งเป้าหมายส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้ากว่า 30 ล้านรายการภายในปีนี้ และมียอดการซื้อขายผ่านระบบอีมาร์เก็ตเพลสกว่า 600 ล้านบาทในระยะเวลา 1 ปีหลังจากเปิดให้บริการ
3.บริการสินเชื่อบุคคลบน K PLUS ธนาคารใช้ระบบคำนวณอัตราดอกเบี้ย โดยพิจารณาจากความเสี่ยงของลูกค้าแต่ละราย ทำให้ธนาคารนำเสนอสินเชื่อส่วนบุคคล (K-Personal Loan) ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าผ่านแอปฯ K PLUS ในช่วงนี้ได้เริ่มทดลองกับกลุ่มลูกค้าที่ได้ตรวจสอบล่วงหน้า (Pre-Qualify) ว่ามีเครดิตที่ดีในการทำธุรกรรมการเงิน
โดยลูกค้าสามารถกดเข้าไปเลือกวงเงินที่ต้องการกู้ ระบบจะแสดงวงเงินกู้สูงสุดที่ลูกค้าสามารถกู้ได้ กดรับสินเชื่อได้ วงเงินกู้จะเข้าในบัญชีทันที
และ 4.ในฝั่งของร้านค้า มีร้านค้าใช้แอปฯ K PLUS SHOP จำนวน 800,000 ร้านค้า มีจำนวนธุรกรรม 1.4 ล้านรายการ และมีมูลค่าการทำธุรกรรมรวม 1,100 ล้านบาท และตั้งเป้าเพิ่มเป็น 1 ล้านร้านค้าภายในสิ้นปีนี้ มุ่งเน้นให้ลูกค้าใช้คุ้นเคยกับการชำระเงินด้วยคิวอาร์โค้ด จึงได้ขยายฐานร้านค้าไปยังกลุ่มธุรกิจรายย่อยที่ขายสินค้าหรือบริการที่จำเป็นในชีวิตประจำวัน
เช่น ร้านอาหาร ร้านเสื้อผ้า การเดินทาง ล่าสุดได้พัฒนาฟังก์ชัน “ขายและเรียกเก็บเงินผ่านโซเชียลมีเดีย” (Social Payment) ให้ผู้ขายรับเงินจากลูกค้าผ่านทางโซเชียลมีเดีย เช่น เฟซบุ๊ก เมสเสนเจอร์ อินสตาแกรม ไลน์ วอทแอพ ได้ทันที เพียงแค่ส่งบิลที่อยู่ในรูปแบบคิวอาร์โค้ดที่เป็นของร้านค้า ให้ลูกค้าสามารถชำระเงินผ่าน K PLUS หรือโมบายแบงกิงของทุกธนาคาร เพื่อซื้อสินค้าและบริการได้ทันที