หัวเว่ย เปิดผลวิจัยประสิทธิภาพการทำงานเทคโนโลยีออลแฟลช สตอเรจ ‘OceanStor Dorado V3’ จาก ESG Lab ชี้ชัดการติดตั้ง OceanStor Dorado5000 V3 ดีกว่าระบบไฮบริด 73% พร้อมช่วยลดต้นทุนการเป็นเจ้าของ (TCO) ได้ถึง 75% พร้อมประสิทธิภาพที่เพิ่มมากขึ้นกว่า 10เท่า บนต้นทุนการบำรุงรักษาที่ต่ำกว่า แต่สเถียรมากกว่า
มั่นใจตลาดประเทศไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง พร้อมเดินหน้าสร้างความเข้าใจให้ตลาดมีการเติบโตที่สูงขึ้น ตั้งเป้ากลุ่มองค์กร การเงินการธนาคาร ผู้ให้บริการโทรคมนาคม ภาครัฐ คมนาคม ไอเอสพี ตลอดจนกลุ่มโรงงานอุตสากรรม และองค์กรขนาดใหญ่ โดยเชื่อมั่นความคุ้มค่าจะส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตลาดเพิ่มมากขึ้น
นายโทนี่ พัลเมอร์ วิศวกรอาวุโส ESG Lab เปิดเผยว่า เทคโนโลยีออลแฟลช สตอเรจกำลังเป็นแนวโน้มของระบบการจัดเก็บข้อมูลขององค์กรแบบเบ็ดเสร็จ ซึ่งเป็นผลจากการขยายตัวของปริมาณข้อมูลที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และมีต้นทุนค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บที่สูงขึ้น เป็นตัวเร่งสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยี
ขณะที่ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการปกป้องข้อมูล ค่าใช้จ่ายของอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูล และอัตราการเติบโตของข้อมูล ทั้ง 3 ส่วนเป็นปัญหาสำคัญอันดับต้นๆขององค์กรส่วนใหญ่ และเทคโนโลยีสตอเรจแบบ Solid-State หรือ SSD ก็เริ่มถูกเลือกใช้งานในองค์กรมากขึ้นจาก 4 ปัจจัยสำคัญ 1.ด้านประสิทธิภาพ 2.ความเสถียรในการทำงาน 3.ค่าใช้จ่ายต่อการจัดเก็บ และ 4.ความคุ้มค่าในการลงทุน (TCO)
ซึ่งผลการทดสอบประสิทธิภาพการทำงานของเทคโนโลยีออลแฟลช สตอเรจของหัวเว่ย ใช้เวลาเก็บข้อมูลนาน 5ปี เพื่อวิเคราะห์ TCO ของ Huawei OceanStor Dorado V3 เปรียบเทียบกับสตอเรจแบบไฮบริด และออลแฟลชของผู้ให้บริการชั้นนำ

โดยพบว่าการติดตั้ง OceanStor Dorado5000 V3 ดีกว่าการติดตั้งระบบสตอเรจแบบไฮบริด ในด้านการลดต้นทุนการเป็นเจ้าของ (TCO) ได้ถึง 75% ในขณะที่ได้ความพร้อมในการใช้งานและลดการบริหารจัดการลง
ขณะที่ Huawei OceanStor Dorado V3 ให้ TCO ต่ำกว่าระบบสตอเรจแบบไฮบริดถึง 73% ทั้งยังมีต้นทุนในการบำรุงรักษาต่ำ และยังมีผลต่อค่าใช้จ่ายของแผนกไอทีที่จะลดลง จากความเสถียรของเทคโนโลยี SSD ที่ใช้งานได้ต่อเนื่องยาวนาน และประสิทธิภาพการทำงานที่เพิ่มกว่าระบบทั่วไปถึง 10 เท่า
นอกจากนี้ในรุ่น Huawei OceanStor Dorado V3 All Flash ยังถูกออกแบบมาเพื่อรองรับความพร้อมในการใช้งานระดับสูง โดยรองรับการถอดเปลี่ยน SSD ระหว่างการเปิดเครื่องได้สูงสุด 3 ลูกพร้อมกัน และคงประสิทธิภาพการทำงานแม้ในช่วงการปรับรุงระบบ หรือเกิดภาวะฉุกเฉินที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
อีกทั้งยังเพิ่มคอนโทรลเลอร์คู่ และการทำงานบนสถาปัตยกรรมแบบ Non-Volatile Memory Express (NVMe) เพื่อลดความหน่วงในการเชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกัน และพร้อมในการใช้งานตลอดเวลา โดยรองรับการขยายตัวด้วยการปรับเพิ่มการเชื่อมต่อได้มากถึง 16 คอนโทรลเลอร์
ด้านนายจุมพต ภูริทัตกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายเทคโนโลยี กลุ่มเอ็นเตอร์ไพรส์ บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาตลาดในกลุ่มสินค้าเอ็นเตอร์ไพรส์ โดยตั้งเป้าที่ การขยายฐานลูกค้าในกลุ่มสถาบันการเงิน สาธารณูปโภค ภาครัฐ คมนาคม ไอเอสพี และองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อช่วยยกระดับประสิทธิภาพ ผลลัพธ์ในการดำเนินงาน ตลอดจนช่วยกระตุ้นการปรับธุรกิจรองรับการเข้าสู่ยุคดิจิทัล ทรานสฟอร์เมชั่นได้อย่างสมบูรณ์
ซึ่งเราได้ลงทุนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสตอเรจอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2002 จนถึงปัจจุบันมีทีมวิศวกรที่เกี่ยวข้องกับการผลักดันเทคโนโลยีสตอเรจ มีมากกว่า 3,200 ราย และมีการจดสิทธิบัตรแล้วมากกว่า 800 รายการ
และเปิดกว้างในการทำงานร่วมกับพันธมิตรทั้งสถาบันการศึกษา บริษัทวิจัย ตลอดจนบริษัทไอทีรายใหญ่ๆของโลกรวมแล้วมากกว่า 500 ราย เพื่อนำเสนอและให้บริการโซลูชั่นระบบจัดเก็บข้อมูลครอบคลุมการใช้งานในทุกๆอุตสาหกรรม
ขณะที่หัวเว่ย ประเทศไทย ได้ร่วมมือกับพันธมิตรระดับโลกและในไทย เพื่อพัฒนาโซลูชั่นและบริการที่ดีกว่าให้กับลูกค้า และพร้อมให้ความร่วมมือกับหน่วยงานรัฐอย่างเต็มที่เพื่อสานต่อนโยบายไทยแลนด์ 4.0ในฐานะผู้ให้บริการระบบโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล และการทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตรผู้เชี่ยวชาญในประเทศเพื่อให้สามารถเดินหน้าสู่การยกระดับประเทศให้ได้ตามเป้าหมาย
ผลิตภัณฑ์และบริการในกลุ่มสตอเรจของหัวเว่ย ได้รับการยอมรับใช้งานจากลูกค้ากว่า 8,000 รายใน 150 ประเทศทั่วโลก และผลิตภัณฑ์สตอเรจของหัวเว่ยยังครองส่วนแบ่งตลาดอันดับหนึ่งในจีน และยังเติบโตสูงสุดในตลาดโลกในช่วงตั้งแต่ปี 2014-2017
จนได้รับการจัดอันดับจาก Gartner Magic Quadrant ในปี 2017 ให้อยู่ในตำแหน่ง “Leader” สำหรับตลาดอุปกรณ์จัดเก็บข้อมูลแบบ General Purpose Array ที่มีวางจำหน่ายทั่วโลก