ไทยคม ให้บริการดาวเทียมมาแล้ว 26 ปี โคจรให้บริการคลอบคลุมแทบจะทุกภูมิภาคทั่วโลก แต่นับจากวันนี้เหลือระยะเวลาสัมปทานอีก 4 ปีเท่านั้น ที่เราจะได้เห็นดาวเทียมชื่อนี้ให้บริการจนถึงวันสิ้นสุด และเราอาจจะรู้จักไทยคมในฐานะผู้ให้บริการธุรกิจอื่นที่มีความเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เคยทำมา
การเตรียมปรับตัวเข้าสู่ธุรกิจใหม่ครั้งนี้เริ่มต้นตั้งแต่การรับรู้ว่าจะต้องหมดอายุสัมปทาน ประกอบกับที่ผ่านมาปัญหาและอุปสรรคที่ตัวเองไม่ได้ก่อก็ยิ่งทำให้การปรับตัวครั้งนี้เกิดเร็วขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานดาวเทียมไทยคม 9 ที่ยังไม่สามารถดำเนินการได้ ทั้งที่มีลูกค้าจองคาปาซิตี้การใช้งานไว้แล้วกว่า 30%
เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการให้สถานะดาวเทียมดวงใหม่ว่าจะเป็นสัมปทาน หรือ ใบอนุญาต เช่นเดียวกับดาวเทียมไทยคม 7 และ 8 ที่ยังติดอยู่ในขั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งกว่าจะสรุปผลออกมาก็อาจจะถึงเวลาหมดสัมปทาน
นายไพบูลย์ ภานุวัฒนวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การให้บริการดาวเทียมไทยคมของบริษัทกำลังจะหมดอายุสัญญาสัมปทานในปี 2564 ซึ่งเหลือเวลาอีกประมาณ 4 ปีต่อจากนี้ บริษัทจะต้องปรับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจใหม่เพื่อรองรับภาวะดังกล่าว
โดยต้องมองว่าในอนาคตจะทำอย่างไร เทคโนโลยีเปลี่ยนไปเร็ว ยุคนี้ไม่ใชเฉพาะการสื่อสาร การเข้ามาของเทคโนโลยีทำให้ทุกองค์กรต้องมีการปรับตัว ในตอนนี้สิ่งที่จะทำคือจะทำอย่างไรในการนำคาพาซิตี้ที่มีอยู่มาใช้ให้เกิดผลดีต่อธุรกิจมากที่สุด ต้องบริหารจัดการต้นทุนอย่างมีระบบ
“ปัจจุบันรายได้ส่วนใหญ่ 70-80% ของบริษัทมาจากการให้บริการดาวเทียมในวงโครจร และเมื่อปี 2560 ที่ผ่านมา ซอฟต์แบงก์ กรุ๊ป ซึ่งเป็นบริษัทเทเลคอมและอินเทอร์เน็ตขนาดใหญ่ในญี่ปุ่นได้ถอนตัวจากการเป็นลูกค้าของไทยคม 9 เนื่องจากรัฐบาลไม่มีความชัดเจนในการให้สถานะดาวเทียมดวงใหม่ว่าจะเป็นสัมปทานหรือใบอนุญาต
ซึ่งลูกค้ารายนี้เป็นผู้ใช้บริการดาวเทียมไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ที่บริษัทรับรู้รายได้ปีละประมาณ 300 ล้านบาท และเป็นลูกค้าที่ได้จองการใช้งานดาวเทียมดวงที่ 9 ไว้ถึง 30% ของบริการทั้งหมด ส่งผลกระทบต่อบริษัทเป็นอย่างมาก และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ต้องตัดสินใจปรับโครงสร้างสัดส่วนรายได้ครั้งนี้”
สำหรับกลยุทธ์ในปีนี้ไทยคมจะเปลี่ยนผ่านจากผู้ให้บริการดาวเทียมเป็นผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มดิจิทัลเพื่อสอดรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่เข้ามาและสนองตอบพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป โดยจะพัฒนาทีมงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นผู้นำด้านดาวเทียมและบริการแพลตฟอร์มของเอเชีย
ซึ่งบริการใหม่ๆ ที่วางไว้อย่างเช่น ธุรกิจการให้บริการโทรคมนาคมกับธุรกิจเรือเดินสมุทร เรือสำราญ ที่วิ่งตามชายฝั่งหรือข้ามมหาสมุทร ด้วยการสื่อสารความเร็วสูง การให้บริการดิจิทัลเทคโนโลยี
นอกจากนี้ยังมีหน่วยธุรกิจใหม่ที่เริ่มพัฒนา อาทิ บริการแพลตฟอร์มทีวีออนไลน์ LOOX ที่ตอนนี้มียอดดาวน์โหลดถึง 100,000 ครั้ง คาดว่าเมื่อเกิดการดาวน์โหลดถึง 300,000 ครั้ง จะเริ่มรับรู้รายได้และต่อยอดในการนำข้อมูลไปจัดเรตติ้งต่อยอดธุรกิจได้
ส่วนการเป็นผู้ให้บริการแพลตฟอร์มแบบใหม่กำลังหารือกับพาร์ทเนอร์ที่เป็นผู้ให้บริการคอนเทนต์ คาดว่าจะสรุปผลได้เร็วๆ นี้ และสามารถทดสอบให้บริการได้ช่วงกลางปีนี้ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญเข้ามาเติมเต็มรายได้ที่จะต้องสูญไป โดยตั้งเป้าหมายว่าภายใน 5 ปี สัดส่วนรายได้ที่มาจากธุรกิจใหม่จะเพิ่มขึ้นเป็น 50%
“การสร้างดาวเทียมดวงใหม่ต้องดูเทคโนโลยี เรื่องราคา และถ้าเป็นไปได้เราก็ไม่จำเป็นต้องสร้างดาวเทียมเอง แต่อาจจะไปซื้อคาปาซิตี้ที่อื่นมาให้บริการดีกว่า การทำธุรกิจดาวเทียมต้องสร้างฐานลูกค้าให้มากที่สุด แต่ขณะนี้สิ่งที่ทำได้คือความพยายามให้มีการใช้งานคาปาซิตี้ให้เพิ่มมากขึ้น และพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ตอบสนองกับยุคดิจิทัลได้มากที่สุด ซึ่งทั้งหมดเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวไทยคมและสามารถทำได้เลย แต่อาจจะต้องออกแรงมากหน่อย”