YouthSpark เป็นโครงการขยายพื้นที่ให้ผู้พิการบนโลกดิจิทัล ซึ่งตามกฏหมายแรงงานนั้นได้กำหนดให้นายจ้างหรือเจ้าของสถานประกอบการทั่วไปที่มีลูกจ้างตั้งแต่ 100 คนขึ้นไปให้รับคนพิการที่สามารถทำงานได้ไม่ว่าจะอยู่ตำแหน่งใดในอัตราส่วนลูกจ้าง 100 คนต่อคนพิการ 1 คน เศษของลูกจ้าง 100 คน หากเกิน 50 คนจะต้องรับคนพิการเพิ่มอีก 1 คน
หากไม่รับคนพิการเข้าทำงาน จะต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมคนพิการและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปี แม้หลายองค์กรจะยอมรับด้วยใจเอื้ออาทร แต่อีกหลายหน่วยงานก็ตั้งคำถามว่าถ้ารับเข้ามาแล้วไม่มีทักษะทางด้านงานที่มีอยู่จะทำอย่างไร
คำถามเหล่านี้กลายเป็นแรงผลักดันที่ทำให้หน่วยงานผู้มีหน้าที่ดูแลผู้พิการ ต่างหาช่องทางที่จะเพิ่มทักษะของผู้พิการให้มีความสามารถเพียงพอ เช่นเดียวกับโครงการ #YouthSpark ของไมโครซอฟท์
ที่มีเป้าหมายหลักในการทำ CSR เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชน ผ่านการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลที่ช่วยขยายโอกาสและยกระดับการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ เพื่อสนับสนุนความคิดสร้างสรรค์สู่การเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
โครงการ #YouthSpark ครั้งล่าสุดนี้ไมโครซอฟท์ได้ร่วมมือกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการ ในการฝึกอบรบทักษะเชิงดิจิทัลให้กับคนพิการเป็นครั้งที่ 2 หลังจากในปีที่ผ่านมาได้ทำการอบรมไปแล้วกว่า 1,000 คน และยังทำให้มูลนิธิพระมหาไถ่
สามารถนำการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์มารวมอยู่ในหลักสูตรได้สำเร็จ ใน 8 โรงเรียนสาขา ครอบคลุม 6 จังหวัด ซึ่งจะช่วยขับเคลื่อนการเรียนการสอนด้านนี้ไปสู่ผู้พิการได้กว้างมากขึ้น
นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า #YouthSpark เป็นโครงการระดับโลกของไมโครซอฟท์ที่มีวัตถุประสงค์ในการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเยาวชนทุกคน ดำเนินการในประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 แล้ว
ส่วนความร่วมมือกับมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการในครั้งนี้ เป็นขยายความร่วมมือเป็นปีที่ 2 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างการเข้าถึงทักษะดิจิทัลแก่เยาวชนทั่วประเทศและเยาวชนผู้พิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลและขาดโอกาส
มุ่งการจัดอบรมทักษะด้านคอมพิวเตอร์และการโค้ดดิ้งเบื้องต้นผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชน ซึ่งการจัดอบรมดังกล่าวยังได้ร่วมมือกับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมและสถาบันเชนจ์ฟิวชั่น อีกด้วย
โครงการในปีนี้จะขยายโอกาสให้กับคนพิการชาวไทยด้วยการเพิ่มการเข้าถึงวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ผ่าน “การฝึกอบรม ทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับบุคคลากรทางการศึกษา” ในรูปแบบของ train-the-trainer เริ่มต้นด้วยการสร้างผู้ฝึกอบรมที่เป็นเยาวชนจำนวน 75 คนเพื่อไปขยายผล
โดยพนักงานและนักเรียนจากมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อการพัฒนาคนพิการนั้น จะไม่เพียงแค่พัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับเยาวชนเท่านั้น แต่รวมถึงสนับสนุนให้พวกเขาเกิดความภาคภูมิใจและมั่นใจในตนเองมากยิ่งขึ้น ภายในระยะเวลา 1 ปี
ผู้ฝึกอบรมซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 25 กลุ่มตามภูมิลำเนา จะได้จัดฝึกอบรมด้วย ไมโครซอฟท์ เซอร์เฟส (Microsoft Surface) จำนวน 250 เครื่อง ให้กับคนในท้องถิ่นจำนวน 750 คน และเยาวชนจากบ้านเด็กกำพร้าในพื้นที่ห่างไกลอีกจำนวน 75 คน
“เดิมเรามีการเชิญชวนให้พวกเขามาเรียนโปรแกรมเมอร์ แต่พวกเขาไม่ค่อยสนใจ พอพูดถึงการเขียนโปรแกรมด้านคอมพิวเตอร์ก็เป็นเรื่องยากที่จะทำให้คนสนใจ จึงต้องที่จะเริ่มต้นด้วยการใช้มายคราฟหรือเกมที่เปิดโอกาสให้ผู้เล่นทำอะไรก็ได้มาสร้างความเข้าใจการเขียน
หลังจากนั้นจึงจะมีโปรแกรมแอดวานซ์มากขึ้น เราได้นำคอร์ส นำเครื่องมือต่างๆ เข้ามาสนับสนุน แล้วทำให้ง่ายขึ้น ทำให้ปีนี้จึงมีคนสมัครเข้าร่วมโครงการมากขึ้น ด้วยเทคโนโลยีที่นำเข้ามาซัพพอร์ตและมีหลักสูตรที่พร้อมสนับสนุน เมื่อประกอบเข้ากับในส่วนของมูลนิธิพระมหาไถ่เองก็มีเครือข่ายที่ใหญ่มาก ก็จะช่วยทำให้สามารถขยายโครงการออกไปได้อย่างรวดเร็วและตรงจุดมากขึ้น”
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ไมโครซอฟท์เชื่อว่าเยาวชนไทยทุกคน รวมถึงเยาวชนพิการและเยาวชนด้อยโอกาส ควรได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างเท่าเทียมกัน จากการสำรวจบน LinkedIn พบว่าทักษะเพื่อการประกอบอาชีพที่บริษัทต่างๆ ต้องการมากที่สุดในปี 2561 จำนวน 24 จาก 25 ประเภท
เป็นทักษะด้านความรู้เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ เช่น คลาวด์และคอมพิวติ้ง ซึ่งการได้รับโอกาสในการเข้าถึงการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์อย่างเท่าเทียมเป็นเพียงหนทางเดียวที่เยาวชนไทยจะได้เรียนรู้ทักษะและความรู้เชิงดิจิทัลที่สำคัญเพื่อประสบความสำเร็จในโลกที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
ทั้งนี้การเพิ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ ถือเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญในตลาดงานในปัจจุบัน ซึ่งจะส่งเสริมให้พวกเขาสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ในการค้นหาโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดียิ่งขึ้น การปลูกฝังความสามารถในการพึ่งพาตนเอง โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มแก่ผู้พิการด้วย HourOfCode
ซึ่งเป็นการสร้างทักษะการโค้ดดิ้ง จะทำให้ผู้เรียนได้เรียนรู้การทำงานของคอมพิวเตอร์แอปพลิเคชัน ผ่านการเขียนโค้ดด้วยวิธีง่ายๆ โดยใช้เกมส์ ก่อให้เกิดความคิดเป็นเหตุเป็นผล สามารถแก้ปัญหาต่างๆ ให้กับตัวเองและชุมชนได้ดีขึ้น นับเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างแรงบันดาลใจในการเรียนวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชน เพื่อเตรียมพร้อมให้สามารถรับมือกับอนาคตที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี
“การมอบโอกาสการเรียนรู้อย่างหลากหลายให้กับเยาวชนด้อยโอกาสและเยาวชนพิการ เป็นเพียงหนึ่งในกิจกรรมที่ไมโครซอฟท์ #YouthSpark ได้วางแผนไว้ในปี 2561 เท่านั้น เพราะไมโครซอฟท์ยังมีเป้าหมายที่จะจัดอบรมครูผู้ฝึกจำนวน 1,200 คนภายในเดือนตุลาคม ปี 2561 ทั้งนี้ ทีมครูผู้ฝึก ซึ่งประกอบด้วยผู้คนที่มีภูมิหลังอย่างหลากหลาย
เช่น ผู้นำศูนย์ดิจิทัลชุมชน องค์กรไม่แสวงผลกำไรระดับท้องถิ่น และครูจากโรงเรียนต่างๆ จะสอนหลักสูตรเกี่ยวกับทักษะความเข้าใจและการใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์ให้กับเยาวชนผู้ด้อยโอกาสที่ว่างงานและอาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกล โดยปีนี้ตั้งเป้าที่จะสร้างความรู้ความเข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์ไซน์และดิจิทัลสกิลรวมทั้งสิ้น 20,000 คน”
นายธนวัฒน์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา #YouthSpark ได้ให้ความรู้ความเข้าใจเรื่องคอมพิวเตอร์ไซน์และดิจิทัลสกิลไปแล้วกว่า 56,000 คน และกว่า 90% เป็นเยาวชนที่เรียนอยู่พื้นที่ห่างไกล และเราเชื่อว่าสิ่งนี้จะช่วยผู้พิการได้เช่นกัน ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว Youth ไม่ได้หมายถึงแค่เด็กหรือวัยรุ่น แต่ยังรวมถึงคนตกงาน
ซึ่งสามารถนำโค้ดไปช่วยในเรื่องการรีสกิลเพื่อสร้างการต่อยอดใช้ในชีวิตประจำวันหรือสร้างอาชีพใหม่ๆ ได้ โดยในปีนี้ภาพรวมของโครงการ #YouthSpark จะใช้เงินทุนสนับสนุนทั้งสิ้นมูลค่ารวม 3 ล้านบาท
เสียงจากผู้รับ โครงการ #YouthSpark
“การพัฒนาคนพิการในประเทศไทยก้าวหน้าอย่างมากในปัจจุบัน สืบเนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายใหม่ต่างๆ ทั้งนี้ การสนับสนุนจากไมโครซอฟท์และรัฐบาล ทำให้ในปัจจุบันเราสามารถเข้าถึงผู้คนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ห่างไกลได้ และสามารถมอบโอกาสให้กับคนพิการจำนวนมหาศาลในการเพิ่มทักษะด้านวิทยาศาสตร์คอมพิวเตอร์
ซึ่งเป็นหนึ่งในทักษะที่สำคัญเป็นอันดับต้นในตลาดงานปัจจุบัน พวกเขาสามารถใช้ทักษะเหล่านี้ในการค้นหาโอกาสในการประกอบอาชีพที่ดียิ่งขึ้น ปลูกฝังความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และบรรลุเป้าหมายชีวิตในยุคแห่งสภาพแวดล้อมเชิงเศรษฐกิจและสังคมที่กำลังเปลี่ยนแปลงอย่างที่เป็นอยู่นี้” บาทหลวงภัทรพงศ์ ศรีวรกุล รองประธานมูลนิธิพระมหาไถ่เพื่อพัฒนาคนพิการ กล่าว
“ฉันเป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่เกิด ทำให้การเรียนร่วมกับเด็กคนอื่นๆ เป็นเรื่องยากมาก แต่การฝึกอบรมของโครงการนี้แตกต่างจากหลักสูตรอื่นๆ เพราะเริ่มต้นจากการสอนวิธีการคิดอย่างเป็นระบบ ซึ่งทำให้ฉันได้เรียนรู้ทักษะการแก้ไขปัญหาที่สามารถใช้ได้จริง ช่วยให้การเรียนโค้ดดิ้งเป็นเรื่องง่ายยิ่งขึ้น
การใช้เกม Minecraft เป็นเครื่องมือในการสอนยังช่วยให้การโค้ดดิ้งเป็นเรื่องสนุกมากยิ่งขึ้น ทำให้มีแรงจูงใจในการเรียน และไม่รู้สึกเบื่อหรือเครียดเลย วิธีนี้ช่วยให้ฉันเรียนรู้ทักษะเชิงดิจิทัลได้รวดเร็วขึ้นมาก” นางสาวภิญญาพัชญ์ จันทร์โสธร นักเรียนหลักสูตรการพัฒนาระบบสารสนเทศ โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา กล่าว
“ผมประสบภาวะขาดออกซิเจนระหว่างคลอดซึ่งส่งผลกระทบทำให้เกิดภาวะหดเกร็งของกล้ามเนื้อ ผมมีความใฝ่ฝันอยากเป็นโปรแกรมเมอร์มาตั้งแต่เด็ก แต่ไม่เคยเรียนรู้วิธีการโค้ดดิ้งมาก่อน เมื่อปีที่แล้ว ผมได้เข้าร่วมโครงการฝึกอบรมการโค้ดดิ้งของไมโครซอฟท์ ซึ่งทำให้ผมได้มีโอกาสทำตามความฝันของตัวเอง
ก่อนหน้านี้ ผมเคยเป็นแต่ผู้รับที่ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากผู้อื่น แต่ด้วยความสนับสนุนจากไมโครซอฟท์ จึงทำให้ผมมีทักษะและความมั่นใจในการเป็นผู้ให้ ด้วยการสอนการโค้ดดิ้งให้กับผู้อื่นบ้าง” นายชยณัฐ โภชนาทาน นักเรียนหลักสูตรการพัฒนาระบบสารสนเทศ โรงเรียนอาชีวพระมหาไถ่ พัทยา กล่าว