คนไอทีส่อเค้าวุ่นวายแน่ หากต้องเดินทางโดยสารเครื่องบินทั้งภายในและนอกประเทศ หลัง ‘ศุลกากร’ ออกประกาศ ให้ต้องแจ้งสิ่งของมีค่าที่นำติดตัวออกราชอาณาจักร ซึ่งเป็นของเก่าที่ใช้แล้ว และมีจำนวนหรือปริมาณพอสมควร เช่นนาฬิกา กล้องถ่ายรูป กล้องถ่ายวิดีโอ คอมพิวเตอร์สำหรับพกพาเป็นต้น เพื่อเป็นหลักฐานในการขอรับการยกเว้นอากร ในฐานะของใช้ส่วนตัวกลับเข้ามาพร้อมกับตนตอนขาเข้าประเทศ
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยังมีเงื่อนไขที่คลุมเครือ โดยระบุว่า 1. เป็นของเก่าที่ใช้แล้วและมีจำนวนพอสมควรแก่การเดินทาง 2.มีเครื่องหมาย เลขหมาย หรือหลักฐานอื่นที่สามารถตรวจสอบได้ 3. มีภาพถ่ายของของที่นำมาแจ้งจำนวน 2 ชุด 4. พนักงานศุลกากรอาจทำเครื่องหมายไว้เป็นหลักฐาน ซึ่งในข้อ 1 นั้นคำว่า “เป็นของเก่าที่ใช้แล้วและมีจำนวนพอสมควรแก่การเดินทาง” ไม่ได้มีการระบุจำนวนที่ชัดเจนแต่อย่างใด
และยังมีห้อยท้ายว่า “ทั้งนี้ ของมีค่าหรือของใช้ส่วนตัวผู้โดยสารที่นำติดตัวไปขณะเดินทางออกนอกราชอาณาจักรและใช้เป็นปกติวิสัยในระหว่างการเดินทาง หรือเป็นเครื่องประดับการแต่งกายปกติ ไม่ต้องแจ้งต่อพนักงานศุลกากร
ขณะที่ในส่วนของขาเข้าประเทศนั้น มีการระบุชัดเจนว่า การนำของเก่าที่ใช้แล้ว สำหรับใช้เองหรือใช้ในวิชาชีพ และมีจำนวนพอสมควรแก่การเดินทาง ติดตัวเข้ามาด้วย จะต้องมีมูลไม่เกิน 2 หมื่นบาท จึงจะได้รับการยกเว้นอากร
งานนี้หากเจ้าหน้าที่ปฏิบัติมีการตีความแบบลวกๆ อาจจะต้องมีความวุ่นวายเกิดขึ้นระหว่างการเดินทางอย่างแน่นอน และหากมองราคาของสินค้าที่นักท่องเที่ยวมักนำติดตัวออกหรือนำเข้ามา ทั้งโทรศัพท์มือถือที่แน่นอนว่าบางคนถือ 2 เครื่องและบางคนถือมากถึง 3 เครื่องเพราะความเคยชิน
และหากมองเรื่องราคาเกิน 2 หมื่นบาทนั้น จะเห็นได้ว่ามือถือ ไอโฟน 8 มีราคาเริ่มต้น 29,000 บาท ถึงราคา 35,000 บาท ขณะที่ ไอโฟน X มีราคาเริ่มต้น 41,000 บาท ถึงราคา 47,000 บาท
ขณะที่หากมองที่คอมพิวเตอร์พกพาหรือโน้ตบุ๊ค หากเป็นเครื่องที่สามารถทำงานได้อย่างสะดวกจะมีราคาอยู่ที่ราว 25,000 บาทขึ้นไป ซึ่งยังไม่นับรวมกล้องถ่ายรูปที่ไม่ว่าจะเป็นแบบ DSLR หรือ Mirrorless ล้วนมีราคามากกว่า 2 หมื่นขึ้นไปทั้งสิ้น นับว่าเป็นเรื่องที่ล่อแหลมให้เกิดความวุ่นวายในการดำเนินการตรวจสอบเป็นอย่างมาก สำหรับประกาศใหม่ที่เริ่มบังคับใช้ทันทีเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งเป็นวันเดียวกับที่ประกาศออกมา
นอกจากนี้ประกาศใหม่ที่ออกภายในวันเดียวกัน เกี่ยวกับการตรวจค้นสัมภาระเที่ยวบินภายในประเทศ ซึ่งบางข้อมีการบังคับให้สายการบินต้องสำรองที่นั่งให้กับเจ้าหน้าไม่เกิน 2 ที่นั่ง หากพบความน่าสงสัยและต้องทำการติดตามผู้โดยสารไปสู่จุดหมายปลายทาง พร้อมที่นั่งเที่ยวกลับให้อีกด้วย ซึ่งหากฝ่าฝืนกรมศุลกากรอาจเพิกถอนคำอนุมัติได้ทันทีโดยไม่ต้องแจ้งให้ทราบล่วงหน้าเสียด้วย
งานนี้ Thereporter.asia แนะนำว่าผู้โดยสารที่มีการพกพาอุปกรณ์หลายๆชิ้นเพื่อการทดสอบ หรือเพราะความเคยชินในการทำงานก็ตามที อาจจะต้องเผื่อเวลาเดินทางไปสนามบิน เพื่อเข้าชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ศุลกากร ว่าสิ่งของที่จะนำออกไปนั้นต้องสำแดงก่อนออกหรือไม่อย่างไร เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว สิ่งของที่ท่านนำกลับเข้ามา อาจจะเข้าข่ายที่จะต้องเสียอากรขาเข้า สำหรับสินค้าที่นำเข้ามา มีราคาเกิน 2 หมื่นบาทอย่างแน่นอน