รมว.กระทรวงดิจิทัลฯ ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมโครงการ ‘Digital For all’ จ.เพชรบุรี สานต่อภารกิจยกระดับเศรษฐกิจและสังคมฐานราก พร้อมติดตามผลการติดตั้งระบบ POS ส่งเสริมร้านค้าดิจิทัลชุมชน e-Commerce ให้กับท้องถิ่นทั่วประเทศ ขยายตลาดสินค้าชุมชนสู่โลกออนไลน์
ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) เปิดเผยในการลงพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี เพื่อตรวจเยี่ยมการดำเนินงานต่างๆ ในโครงการ “Digital For all” ว่า โครงการดังกล่าวได้รวม 3 โครงการสำคัญของกระทรวงฯ ได้แก่ โครงการเน็ตประชารัฐ โครงการระบบงานร้านค้าดิจิทัลชุมชน (Point of Sale : PoS)
และโครงการศูนย์ดิจิทัลชุมชน ให้มีดำเนินงานเชื่อมโยงต่อยอดซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดประโยชน์ ต่อประชาชนในชุมชนทั่วประเทศอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
โครงการ Digital For all เกิดขึ้นจากความต้องการสร้างโอกาสแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างงานสร้างรายได้ให้คนในท้องถิ่น ส่งเสริมการสร้างความร่วมมือระหว่างชุมชน ผ่านระบบการค้าออนไลน์
เกิดตลาดการค้า ที่เปิดกว้าง มีสภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่เหมาะสม ลดค่าใช้จ่ายในการประกอบธุรกิจ สร้างสรรค์นวัตกรรมทางธุรกิจ ตลอดจนทำให้ธุรกิจในท้องถิ่นเติบโต เสริมกลไกรองรับที่เป็นมาตรฐาน เพื่อกำหนดรูปแบบการจำหน่ายสินค้าและบริการจากชุมชนให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน พร้อมสร้างกฎระเบียบที่เหมาะสมมารองรับในการส่งเสริมการเชื่อมโยงกัน สร้างความปลอดภัยในสังคมร่วมกัน และลดผลกระทบที่ไม่คาดคิด
สำหรับ “เน็ตประชารัฐ” ถือเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการเป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ ของประชาชนให้เข้าถึงเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงด้วยราคาที่เหมาะสมกับการใช้งาน ซึ่งด้วยรูปแบบที่หลากหลายของบริการออนไลน์จะทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างเท่าเทียมกัน นับเป็นการลดความ เหลื่อมล้ำด้านคุณภาพชีวิตครั้งสำคัญของประเทศ
โดยในเบื้องต้นกระทรวงฯ ได้จัดให้มีบริการอินเทอร์เน็ตสาธารณะ ไร้สายแบบไม่คิดค่าใช้จ่ายกับผู้ใช้บริการแล้วจำนวน 24,700 หมู่บ้านทั่วประเทศ และปัจจุบันอยู่ระหว่างการขยายโครงข่าย Fiber Optic ไปยังโรงเรียนต่างๆ จำนวนไม่น้อยกว่า 3,196 แห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) และสุขศาลาพระราชทาน จำนวนไม่น้อยกว่า 812 แห่ง
รวมทั้งขยายความจุอินเทอร์เน็ต (Bandwidth) ให้กับโรงพยาบาลเพื่อรองรับการตรวจรักษาทางไกล (Tele-medicine) จำนวน 20 แห่ง กำหนดแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายน 2561
นอกจากนี้ กระทรวงฯ ยังได้ดำเนินการเพื่อสนับสนุนการใช้ประโยชน์จากอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง โดยได้มีการกระตุ้นการใช้ประโยชน์ผ่านศูนย์ดิจิทัลชุมชนที่ได้จัดตั้งกว่า 2,280 แห่งทั่วประเทศ เพื่อเป็นฐานในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีดิจิทัลสู่ประชาชน และการจัดให้มีบริการร้านค้าดิจิทัลชุมชนด้วยระบบ POS เพื่อเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านการค้าขายออนไลน์
รวมทั้งการจัดการอบรมสร้างความรู้ความเข้าใจกับประชาชนในการใช้งานบริการออนไลน์ต่างๆ ผ่านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงอย่างต่อเนื่อง โดยจัดฝึกอบรมที่ศูนย์ดิจิทัลชุมชน และในการลงพื้นที่ ณ ศูนย์ดิจิทัลชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลบางครก ได้มีการแนะนำการใช้งาน M-powered Thailand ศูนย์พัฒนาอาชีพและแหล่งเรียนรู้ออนไลน์ ในยุค Thailand 4.0
และแนะนำการใช้งานแอปพลิเคชั่น Varee เพื่อตรวจสอบสถานการณ์น้ำท่วมก่อนการเดินทาง ซึ่งในส่วนของการติดตั้งระบบ POS ของ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หน่วยงานในสังกัดกระทรวงฯ ปัจจุบันติดตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศแล้ว จำนวน 71 จุดแบ่งเป็น ภาคเหนือ 68 จุด ภาคตะวันออก 3 จุด
และภายในปี 2561 จะมีการติดตั้งในจังหวัดอื่นๆ เพิ่มอีก 11 จุด ในพื้นที่จังหวัดราชบุรี ขอนแก่น บุรีรัมย์ พังงา และเพชรบุรี รวมทั้งหมดเป็น 82 จุดทั่วประเทศ และตั้งเป้าขยับศูนย์บริการอีคอมร์ชชุมชนให้ได้กว่า 1,000 แห่ง เพื่อรองรับการเปิดใช้บริการอย่างเป็นทางการในราวเดือนมีนาคมนี้
“การสร้างโอกาสแก่ประชาชนในการเข้าถึงบริการต่างๆ ของภาครัฐได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียมกัน ทั้งในด้านการศึกษา ด้านการสาธารณสุข ด้านการเกษตร ด้านการท่องเที่ยว และด้านอื่นๆ ที่รัฐจะจัดให้มีและให้บริการ ในรูปแบบ Digital For all ในอนาคต เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ตลอดจนการนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างรู้เท่าทัน
ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนในชุมชนด้าน e-Commerce ร้านค้าประชารัฐรักสามัคคี กลุ่มวิสาหกิจ ชุมชน ศูนย์ดิจิทัลชุมชน ใช้โครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคมเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ให้เกิดมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจแก่ชุมชนท้องถิ่นก่อให้เกิดความเจริญรุ่งเรืองและความสามารถในการแข่งขันที่สูงขึ้น การสั่งซื้อสินค้าจากผู้ขายมาจำหน่ายให้แก่สมาชิกในชุมชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ” ดร.พิเชฐฯ กล่าว