หัวเว่ย เปิดตัวอุปกรณ์บรอดแบนด์ไร้สายความเร็วสูงที่รองรับ 5G (Customer-Premises Equipment: CPE) ในงานเวิลด์ โมบาย คองเกรส 2018 ซึ่งถือว่าเป็นอุปกรณ์รับสัญญาณปลายทางเชิงพาณิชย์อุปกรณ์แรกของโลกที่รองรับมาตรฐานการสื่อสาร 3GPP และพร้อมจับมือกับพันธมิตรเพื่อเริ่มต้นเปิดการใช้งานเครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์แล้วในปีนี้
หัวเว่ยใช้ชิพเซ็ท Balong 5G01 ซึ่งหัวเว่ยพัฒนาขึ้นเอง เพื่อเป็นชิพเซ็ทเชิงพาณิชย์ตัวแรกของโลกที่รองรับมาตรฐาน 3GPP สำหรับเทคโนโลยี 5G โดยตามทฤษฎีสามารถทำความเร็วสูงสุดได้ถึง 2.3Gbps นอกจากนี้ยังสามารถรองรับ 5G ได้ในทุกย่านความถี่ทั้ง sub-6GHz และคลื่นมิลลิเมตร (mmWave) สำหรับการสร้างโซลูชัน 5G ที่สมบูรณ์แบบที่สุด
พร้อมรองรับการใช้งานที่หลากหลายได้อย่างเต็มที่ ชิพเซ็ท Balong 5G01 ยังทำให้หัวเว่ยเป็นบริษัทแรกที่สามารถนำเสนอโซลูชัน 5G ได้อย่างครอบคลุมทั้งเครือข่าย อุปกรณ์ และในระดับความสามารถของชิพเซ็ท
นายริชาร์ด หยู ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร หัวเว่ย คอมซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ป กล่าวว่า หัวเว่ยใช้เงินลงทุนรวมกว่า 600 ล้านดอลลาร์ในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี 5G ตั้งแต่ปี 2009 เป็นต้นมาเพื่อคิดค้นนวัตกรรมใหม่ๆ ทั้งในเรื่องการวางโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมของเครือข่าย การใช้งาน การตรวจสอบ และอีกมากมาย
เริ่มตั้งแต่อุปกรณ์ที่เชื่อมโยงถึงกันและสมาร์ทโฮม เรื่อยไปจนถึงเทคโนโลยี AR/VR และวิดีโอโฮโลแกรม ทั้งหมดนี้คือสิ่งที่สะท้อนความมุ่งมั่นของหัวเว่ยในการวางระบบรองรับเทคโนโลยี 5G เพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์สูงสุดจากโลกที่เชื่อมต่อถึงกันอย่างแท้จริง และเป็นโลกที่พลิกโฉมวิธีการสื่อสารและการแชร์ข้อมูลไปอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน
“หัวเว่ยยังร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทผู้ให้บริการโทรคมนาคมกว่า 30 รายทั่วโลก อาทิ โวดาโฟน ซอฟท์แบงค์ ที-โมบาย บีที เทโลโฟนิกา ไชน่าโมบาย และไชน่าเทเลคอม ในปี 2017 หัวเว่ยเริ่มต้นทดสอบการใช้เครือข่าย 5G เชิงพาณิชย์ร่วมกันกับพันธมิตรเหล่านี้จนแล้วเสร็จ และเริ่มต้นเปิดการใช้งานเครือข่าย 5G ในเชิงพาณิชย์แล้วในปี 2018”
เครือข่าย 5G สร้างมาตรฐานสำหรับการใช้งานอินเทอร์เน็ตไฮสปีด ด้วยแบนด์วิธที่กว้างขึ้น การเชื่อมต่อแบบไร้สายที่มีอัตราการบีบอัดสัญญาณต่ำ และความเร็วในการดาวน์โหลดสูงสุดที่ 20 Gbps รองรับอุปกรณ์ 1 ล้านอุปกรณ์ในพื้นที่ 1 ตารางกิโลเมตร และอัตราการบีบอัดสัญญาณต่ำเพียง 0.5ms
เทคโนโลยี 5G มาพร้อมการเชื่อมต่อที่ดียิ่งขึ้นระหว่างคนกับไอโอที (Internet of Things) เพิ่มศักยภาพในการเชื่อมต่อกับอุปกรณ์จำนวนมากขึ้นที่สามารถเข้ามาเชื่อมต่อ เข้าถึง และแชร์ข้อมูลระหว่างกันได้มากขึ้น
อุปกรณ์ 5G CPE จากหัวเว่ยมี 2 โมเดล ได้แก่ อุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่ต่ำ (sub6GHz) และอุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่สูง (mmWave) อุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่ต่ำจะมีขนาดเล็กและน้ำหนักเบา รองรับการใช้งานในเครือข่าย 4G และ 5G และรองรับการดาวน์โหลดด้วยความเร็วสูงสุด 2 Gbps
ซึ่งถือว่าเร็วกว่าไฟเบอร์ 100 Mbps ประมาณ 20 เท่า มอบประสบการณ์การใช้งานที่รวดเร็วขึ้นอีกมาก เปิดโอกาสให้ผู้ใช้สามารถดูวิดีโอ VR และเล่นเกม หรือดาวน์โหลดรายการทีวีได้ในเวลาเพียงวินาทีเดียว ส่วนอุปกรณ์ 5G CPE ชนิดความถี่สูงเป็นอุปกรณ์ประเภทที่มีทั้งแบบภายในอาคารและภายนอกอาคาร
นายริชาร์ด กล่าวว่า หัวเว่ย คอนซูมเมอร์ บิสสิเนส กรุ๊ปพัฒนากลยุทธ์การสร้างสรรค์อุปกรณ์ 5G เพื่อรองรับการใช้อินเทอร์เน็ตไฮสปีด มีอัตราการบีบอัดสัญญาณต่ำ และมีคุณภาพการเชื่อมต่อแบบ 5G ที่ดีเยี่ยม มอบประสบการณ์การใช้งานอุปกรณ์ไร้สายที่หลากหลายยิ่งขึ้น กลยุทธ์ดังกล่าวนี้หมายรวมถึงการพัฒนาสมาร์ทโฟน ระบบ Wi-Fi โมดุลในอุตสาหกรรม และอุปกรณ์อื่นๆ เพื่อเชื่อมโยงผู้คนและสรรพสิ่ง ทั้งบ้าน ยานพาหนะ และอื่นๆ เข้าด้วยกัน